มากกว่าคะแนนสอบ PISA คือเรื่องของทุนมนุษย์ (Human capital)

มากกว่าคะแนนสอบ PISA คือเรื่องของทุนมนุษย์ (Human capital)

แต่ละปีจะมีช่วงหนึ่งที่มีข่าวเด็กไทยแข่งขันโอลิมปิกวิชาการประสบความสำเร็จได้รางวัลชนะเลิศ ได้รับเหรียญรางวัลเกือบทุกสาขา

ตั้งแต่เหรียญทอง เงิน บรอนซ์ และประกาศนียบัตรแสดงว่าเด็กไทยไม่ได้น้อยหน้าเด็กชาติอื่น

เด็กเหล่านี้กว่าจะถึงขั้นเข้าแข่งขันโอลิมปิกวิชาการได้ ผ่านการคัดเลือกและเคี่ยวกรำจากคณาจารย์ระดับสุดยอดของประเทศและคณะจัดการเป็นการเฉพาะ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะประสบความสำเร็จไม่น้อยหน้าประเทศอื่น

แต่นอกเหนือจากเด็กมีความสามารถพิเศษเหล่านี้แล้ว ก็มีคำถามว่า แล้วที่เหลือเป็นอย่างไร มีรายงานที่แสดงให้เห็นว่าเรามีโครงการโรงเรียนขยายโอกาสที่นำร่องในการจัดการเรียนการสอนที่โดดเด่นกว่า 200 โรงเรียนทั่วประเทศ โรงเรียนเหล่านี้เป็นแหล่งผลิตช้างเผือก นำเด็กธรรมดามาเจียระไนเป็นเพชรเม็ดงามได้จำนวนมาก และเด็กเหล่านี้มีคะแนนการสอบ PISA ที่สูงมาก และอาจพูดได้ว่าไม่น้อยหน้าประเทศอื่นที่หลายคนชื่นชม ไม่ว่าสิงคโปร์ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ ฟินแลนด์ ที่เป็นแถวหน้าของโลก

ความต่างอยู่ที่ว่าเรายังมีโรงเรียนอีกกว่า หมื่นโรงเรียนที่ยังไม่ได้เข้าข่ายโรงเรียนขยายโอกาส และเด็กๆ จากโรงเรียนเหล่านี้ยังไม่สามารถทำคะแนนสอบ PISA ได้ดีพอ ทำให้ค่าเฉลี่ยของเราต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ข้างต้น แต่ถึงขนาดนั้น เรายังมีเด็กประมาณ 3% ของโรงเรียนกว่า 2 หมื่นโรงเรียนนี้ ที่สามารถทำคะแนนสอบ PISA ได้สูงเป็นที่น่าพอใจ แสดงว่าถ้าเราสามารถเพิ่มจำนวนโรงเรียนขยายโอกาสได้มากขึ้น เด็กธรรมดาก็จะกลายเป็นเด็กเก่งมากขึ้น จำนวนเปอร์เซ็นต์และค่าเฉลี่ยความสำเร็จในการทดสอบก็จะเพิ่มมากขึ้น

แต่เรื่องการสร้างเด็กเก่งนั้นมีอีกหลายปัจจัยที่นอกเหนือจากตัวเด็ก เรายังขาดครูที่มีความรู้ความชำนาญในการเรียนการสอนแนวทางใหม่ เรายังขาดเครื่องมือและอุปกรณ์ให้เด็กของเราฝึกทดลอง เรายังขาดสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมสร้างสรรค์ให้เด็กของเรากล้าทำในสิ่งที่ท้าทาย สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถสร้างได้ในชั่วระยะเวลาสั้นๆ แต่เป็นการลงทุนระยะยาว

ในรายงานของธนาคารโลกปีก่อนหน้านี้ รายงานว่าจากตัวชี้วัดเกี่ยวกับทุนมนุษย์ หรือ Human Capital ในอีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีศักยภาพเพียง 60% เมื่อเปรียบเทียบกับทั่วโลก นั่นหมายความว่าคนไทยในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีความสามารถในการแข่งขันกับคนในประเทศอื่นแค่ 60% ถ้าไม่รีบจัดการสร้างเสริมทุนมนุษย์ของประเทศไทยเร็วกว่าปัจจุบัน

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน (ASEAN) เมื่อไม่นานมานี้ ก็ประกาศให้เรื่องทุนมนุษย์เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องช่วยกันผลักดันให้ภูมิภาคของเราพัฒนาให้ทันกับประเทศพัฒนาแล้ว ไม่เช่นนั้นจะยิ่งถูกทิ้งห่าง ฉะนั้น จริงๆ แล้ว ตัวชี้วัดเรื่องของทุนมนุษย์คงไม่ได้ดูจากคะแนนสอบ PISA ที่ใครๆ พูดถึงอย่างเดียว เพราะคะแนน PISA เป็นเรื่องของปัจจุบัน แต่เรื่องของทุนมนุษย์เป็นเรื่องของทั้งปัจจุบันและอนาคตอนาคตที่จะทำให้ประเทศมีทุนมนุษย์สูงพอที่จะแข่งขันกับประเทศอื่นได้

เรื่องของทุนมนุษย์ในประเทศไทยจึงเกี่ยวข้องกับเรื่องความสามารถในการแข่งขันในอนาคตที่เป็นอะไรมากกว่าคะแนนสอบ PISA ในปัจจุบัน