“ชุมชนท้องถิ่น”พิชิตโควิด-19

“ชุมชนท้องถิ่น”พิชิตโควิด-19

13 จังหวัดสามารถดูแลบริหารจัดการพื้นที่ให้ ปลอดโรคระบาดโควิด-19 ไม่มีผู้ติดเชื้อมาได้ถึงวันนี้(3 เม.ย.)เป็นกรณีน่าสนใจ โดยเฉพาะจ.บึงกาฬ

ที่จ.บึงกาฬ จังหวัดน้องใหม่สุด ลำดับที่ 77 ที่แยกออกจากจ.หนองคาย เมื่อปี 2544

สายสัมพันธ์ชุมชนที่ยังเหนียวแน่น เมื่อผนวกเข้ากับการกระจายอำนาจการปกครองการบริหารสู่ท้องถิ่น ก็ได้มาซึ่งปัจจัยสำคัญในการควบคุมโรคระบาดในระดับประเทศได้ผลดีเป็นที่ประจักษ์และยอมรับในระดับโลกครั้งนี้

หาใช่เพียงแต่ผู้นำรัฐบาล

หาใช่เพียงแต่เพราะคุณภาพคับแก้วของสาธารณสุขไทย

แต่เป็นพลัง ชุมชนท้องถิ่นซึ่ง ชุมชนท้องถิ่น ไม่ใช่ ต่างจังหวัดที่เป็นอำเภอเป็นตำบลต่างๆ แต่หมายถึง ทุกหน่วยพื้นที่ตามภูมิศาสตร์การเมืองการปกครองตั้งแต่ระดับชาติ ระดับมหานคร เช่น กรุงเทพมหานคร(กทม.) ระดับภูมิภาค ระดับท้องถิ่น จังหวัด อำเภอ ตำบล โดย มหานครแบบ กทม. ก็เป็นหน่วยพื้นที่ซึ่งเป็น ชุมชนท้องถิ่นหนึ่งด้วยเช่นกัน ที่ร่วมมือร่วมใจ เข้มแข็ง รักและผูกพันต่อชุมชนตนเองเป็นพื้นฐาน เห็นตนเองเป็นส่วนหนึ่งของส่วนรวม ปฏิบัติตามคำแนะนำของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19(ศคบ.)อย่างพร้อมเพรียงกัน

บึงกาฬ มีพื้นที่ลำดับที่ 52 การเป็นพื้นที่ไม่มากนักมีผู้ว่าฯ ของตนเอง รับงบระดับจังหวัด บริหารจัดการคล่องตัวกว่าเดิม กระชับดูแลพื้นที่รวดเร็วขึ้น ประกอบกับผู้ว่าฯ คุมเข้มเอาจริงเอาจังมาก มอบหมายเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องตั้งด่านคัดสกัดกรองถึง 5 จุดตั้งแต่ต้น จุดเด่นอีกอย่างคือระบบทะเบียนราษฎร์ที่สามารถตรวจสอบคนเดินทางเข้าออกว่า เป็นคนในพื้นที่หรือไม่ รวดเร็วว่องไว โดยหากพบว่ามาจากพื้นที่มีความเสี่ยง จะดำเนินมาตรการป้องกันทันที

จ.ลำปางก็เป็น 1 ใน13 จังหวัดพื้นที่สีขาว มี “ผู้ว่าฯหมูป่า” คุมเข้มเอาจริงสกัดคัดกรองแต่ต้นมือ มีการติดตาม สอบสวนตรวจสอบ กักตัวอย่างเข้มงวดและรักษา

คงยังจำกันได้ แม้คำสั่ง “ปิดประเทศ-ปิดเมือง” ยังไม่ปรากฏตาม “ข้อกำหนด” ชุดแรกของรัฐบาล มีผู้ว่าฯ อย่างน้อย 4 จังหวัด ใช้อำนาจตามมาตรา 22 และมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)โรคติดต่อ ปี 2558 ประกอบข้อกำหนดซึ่งออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออก “คำสั่งจังหวัด” ให้ “ปิดเมือง” ให้ประชาชนเดินทางเข้า-ออกข้ามเขตพื้นที่จังหวัดตามความจำเป็น ได้แก่ ปัตตานี (ปิดเมืองตั้งแต่ 28 มี.ค) นราธิวาส ยะลา (ตั้งแต่ 29 มี.ค) ภูเก็ต (ปิดเกาะหยุดสัญจรทั้งทางบกทางน้ำ ตั้งแต่ 30 มี.ค. ปิดสนามบินตั้งแต่ 10 เม.ย.)

ประชากรแออัดมากขึ้นเท่าไร ยิ่งยากที่จะควบคุมคนในพื้นที่ให้รักษาระยะห่างทางสังคมและการสัญจรไปมาที่จะแพร่โรคระบาด

ไม่น่าแปลกใจที่กทม. จังหวัดมีอัตราการติดเชื้อและมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาสูงสุดในประเทศมีพื้นที่ลำดับ 69 แต่ประชากรมากที่สุดอีกทั้งเป็นพื้นที่เปิดมีการสัญจรเข้าออก ทั้งทางน้ำทางบกทางอากาศ ไม่ง่ายเลยที่จะควบคุม

เช่นเดียวกับภูเก็ตเป็นพื้นที่เปิดมีการสัญจรเข้าออกหลายทาง และมีอัตราความหนาแน่นของประชากรต่อตารางกิโลเมตรสูงมาก พื้นที่เพียง 12 ตร.กม เขตปกครอง 2 ตำบล อัตราประชากรต่อ 1 ตร.กม คือ6,609 คน (กทม.3,611คน) สูงกว่าเกือบเท่าตัว อัตราการติดเชื้อในภูเก็ตช่วงกลางๆ เม.ย.สูงกว่าของกทม.ในอัตราต่อประชากรทั้งเมือง

จึงเข้าใจได้ว่าทำไมภูเก็ตจึงต้องฉับไว “ปิดเมือง” (ที่ประชากร 75% ถือศาสนาพุทธ) พร้อมกับอีก 3 จังหวัดที่ยอดผู้ป่วยโควิดก้าวกระโดดเพิ่มขึ้นจากการแพร่กระจายของคนไทยกลับจากประกอบพิธีศาสนาและสถานทำงานที่เป็นภัตตาคารและโรงงานในมาเลเซีย

ที่ภูเก็ตนี้เองแสดงถึงสติปัญญานักวางแผนของฝ่ายนักวิชาชีพวิทยาศาสตร์การแพทย์ไทยคุณภาพคับแก้ว ได้เริ่มมาตรการเชิงรุกตรวจหาผู้ติดเชื้อ(people under investigation)ที่เป็นกลุ่ม(clusters) ตามพื้นที่การติดเชื้อสูง ซึ่งก็น่าประทับใจในพื้นที่ 12 ตร.กมของภูเก็ตที่มีการสาธารณสุขระดับเทศบาลนคร มีงบและการบริหารสูงกว่าระดับเทศบาลเมือง มีศูนย์บริการสาธารณสุขถึง 3 แห่ง โรงพยาบาลของรัฐ 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต และโรงพยาบาลองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต อีกแห่งเป็นโรงพยาบาลเอกชน

นับจากนั้น ก็เริ่มลดและควบคุมการติดเชื้อในภูเก็ตได้อย่างที่เราได้ฟังจากโฆษก ศคบ. ซึ่งเป็นแพทย์นักวิชาชีพ เสนอข่าวสารอย่างมุ่งในสาระที่หมายถึงความเป็นความตายความอยู่รอดของผู้คน มีความรู้ความเข้าใจ ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายที่จะฟัง เป็นอีกปัจจัยหนึ่งสร้างเสริมความมั่นใจร่วมมือในทิศทางเดียวกัน

ที่เราเคยวิจัยสัมมนาไม่รู้กี่ร้อยครั้งเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เรื่องจังหวัดปกครองตนเองนั้น การรับมือภัยพิบัติโรคระบาดครั้งนี้เป็นประจักษ์พยานถึงประสิทธิภาพของชุมชนท้องถิ่น  มีการบริหารสาธารณสุขที่ดีด้วยการผนึกกำลังร่วมมือกันของสาธารณสุขและเทศบาล ตลอดจนองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยเฉพาะผลงานอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) 1.34 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง(ก่อนเกิดการระบาดหลายคน ไม่รู้จักว่า “อสม.” คือใคร แต่ก็ได้รู้เมื่อการระบาดเริ่มอยู่ในจุดที่จำนวนผู้ติดเชื้่อชะลอตัวลงทุกพื้นที่ ตลอดจนข่าวสารที่เผยแพร่ อสม.ในพื้นที่ต่างๆ ว่าเป็น“ด่านหน้า” เสี่ยงติดเชื้อเพราะต้องเดินเคาะประตูบ้านทุกหลังคาเรือน ซึ่งเมื่อ 28 เม.ษา. ทำไปแล้วประมาณ 12 ล้านหลังคาเรือน สอดส่องมีใครเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง หรือไม่ปฏิบัติตัวตามประกาศของศคบ.)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งปรากฏการณ์ที่ผู้ว่าฯมีและใช้อำนาจตัดสินใจฉับไว ไม่มัวแต่ก้มประนมกรรอส่วนกลาง เราจึงมีพื้นที่สีขาวถึง 17 และลดลงมา 13 จังหวัด ผู้ว่าฯบางท่านมีนวัตกรรมทางการปกครองการเศรษฐกิจ เช่น ผู้ว่าฯ จ.เลย ได้ไถ่ถอนเครื่องมือประกอบอาชีพจากสถานธนานุบาลเพื่อนำไปคืนเจ้าของโดยไม่ระบุผู้ไถ่ถอน

ชุมชนท้องถิ่นมีฐานแข็งแรงรับมือสู้ภัยพิบัติได้เมื่อมีปัจจัยอำนวย แทบทุกพื้นที่ไทยเป็นกึ่งเมืองหรือเมืองไปหมดแล้ว ควรส่งเสริมให้มีอำนาจการบริหารการปกครองมากขึ้น เช่นยกระดับเทศบาลเพื่อแก้ปัญหาเรื้อรัง ขยะ ขนส่งมวลชน สันทนาการ อาชีพ การท่องเที่ยวฯ ดังที่หลายจังหวัดได้ลงมือทำไปแล้ว แสดงถึงศักยภาพสูงในเศรษฐกิจของท้องถิ่นและประเทศที่จะเชื่อมโยงถึงเศรษฐกิจโลกยุคสังคมข่าวสารและการประกอบการ(informational and entrepreneurial)