ฉากทัศน์การท่องเที่ยวไทยหลัง COVID-19

ฉากทัศน์การท่องเที่ยวไทยหลัง COVID-19

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การท่องเที่ยวไทยประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในด้านจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ หรือคิดเป็น 22% ของ GDP ประเทศ

ความท้าทายที่เผชิญคือปัญหา Over-tourism หรือการมีจำนวนนักท่องเที่ยวมากเกินขีดความสามารถในการรองรับของพื้นที่ แต่ปัจจุบัน วิกฤตการณ์โควิดส่งผลให้ทางตรงกันข้ามจนอาจเรียกว่าปัญหา Under-tourism แทน

ในภาพรวม ประเทศไทยถือว่ามีขีดความสามารถในการแข่งขันของการท่องเที่ยวอยู่ในระดับปานกลางและมี 2 ด้านที่เป็นจุดอ่อนเป็นอย่างมาก โดยตามการจัดอันดับของ World Economic Forum ในปี 2019 ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันของการท่องเที่ยวอยู่ที่อันดับ 31 (จาก 140 ประเทศ) เป็นอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยมี 2 มิติย่อยที่ไทยอยู่ในอันดับที่ต่ำมาก คือ ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) อันดับที่ 130 และความปลอดภัยและความมั่นคง (Safety and security) อันดับที่ 111

ประเทศไทยพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก โดยเฉพาะจากจีน อาเซียน อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รัสเซีย ยุโรปและสหรัฐฯ มีเพียง 10.8% ที่เป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวภายในประเทศ ดังนั้น วิกฤติโควิดจึงส่งผลรุนแรงต่อการท่องเที่ยวไทยและบริการต่อเนื่อง นอกจากนี้ การท่องเที่ยวยังเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญที่สุดแหล่งหนึ่ง โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยแสดงให้เห็นว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา 1 ใน 5 ของการจ้างงานใหม่อยู่ในภาคการท่องเที่ยว และในปี 2561 เกิดการจ้างงานสูงถึง 4.4 ล้านคน โดยรองรับแรงงานที่ไหลออกจากภาคการผลิตและการก่อสร้างที่เติบโตลดลง วิกฤติโควิดจึงกระทบกับพนักงานและแรงงานในภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจต่างๆ ในห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง

องค์การท่องเที่ยวโลก (UNWTO) ประเมินผลกระทบเมื่อวันที่ 27 มี.ค.2563 ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกในปีนี้คาดว่าจะลดลงประมาณ 20-30% และสูญเสียรายได้ประมาณ 300-450 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั่วโลก

กรณีประเทศไทย สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้เปิดสถิติผู้โดยสารประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ว่ามีจำนวน 15.7 ล้านคน ลดลงไปจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนถึง 8.54 ล้านคน หรือลดลง 35.3% เช่น ผู้โดยสารจากจีนลดลง 59.4% ญี่ปุ่นลดลง 28% เป็นต้น และเมื่อประกาศห้ามอากาศยานขนส่งคนโดยสารทำการบินเข้ามายังท่าอากาศยานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวเมื่อต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้โดยสารระหว่างประเทศลดลงไปอย่างมหาศาลจนกว่าจะมีการเปิดให้มีการเดินทางระหว่างประเทศทางการขนส่งอากาศอีกครั้ง

ทั้งนี้ ผลกระทบที่เห็นได้ชัดในช่วงไตรมาสแรกนี้ คือการยกเลิกเที่ยวบินสู่ไทยมากกว่า 100 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ การยกเลิกห้องพักในพื้นที่ท่องเที่ยวหลัก ทั้งกรุงเทพ ภูเก็ต พัทยา และสมุยกว่า 5 หมื่นห้อง การยกเลิกการจองบัตรโดยสารเครื่องบินที่มายังประเทศไทยประมาณ 60% ในช่วงเดือน ก.พ. - เม.ย. 2563 และการยกเลิกการจัดกิจกรรมนานาชาติ เช่น Honda LPGA Thailand 2020 คอนเสิร์ต Legend Festival เป็นต้น ซึ่งทางสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประเมินผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 6 เดือน และสูญเสียรายได้มากกว่า 2.5 แสนล้านบาท

ฉากทัศน์อนาคตของการท่องเที่ยวไทยนั้นยังมีปัจจัยไม่แน่นอน ปัจจัยหลักคือ ความสามารถในการควบคุมเชื้อไวรัสของประเทศต่างๆ ทั่วโลก การทยอยเปิดเมืองและการขนส่งระหว่างประเทศอีกครั้ง และภาวะเศรษฐกิจของนักท่องเที่ยวชาติต่างๆ หากปัจจัยต่างๆ เป็นไปในทางบวก สถานการณ์จะสามารถกลับสู่ปกติหรือเกือบปกติได้ในระดับหนึ่ง โดยสิ่งที่เปลี่ยนไปคือนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการจะมีความระมัดระวังด้านสุขอนามัยสูงขึ้น

ส่วนฉากทัศน์กรณีที่เลวร้ายคือ การท่องเที่ยวไทยจะซบเซาอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยจะมีเพียงการท่องเที่ยวหรือการท่องเที่ยวระหว่างประเทศบางอย่างที่จำเป็นเท่านั้นที่ยังเกิดขึ้น เช่น การท่องเที่ยวเชิงธุรกิจและเชิงสุขภาพโดยในอนาคต นักท่องเที่ยวคาดว่าจะมีความต้องการด้านความปลอดภัย ด้านความสะอาด และการจัดการด้าน Social distancing ที่ดีมีมาตรฐานมากขึ้น สำหรับธุรกิจ Homestay และ sharing economy เช่น Airbnb จะได้รับความนิยมน้อยลง จนกว่าจะปรับตัวให้เกิดความมั่นใจในมาตรฐานความสะอาดและปลอดภัยได้

ดังนั้น ในระยะสั้น ประเทศไทยควรเน้นให้น้ำหนักกับการจัดการกับวิกฤตการณ์และการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น ตลอดจนการฟื้นฟูการท่องเที่ยวเพื่อให้เป็นแหล่งสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประเทศกลับมาอีกครั้ง เช่น การจ้างงานแบบไม่เต็มเวลา การ Reskill/Upskill พนักงานในสาขาท่องเที่ยว การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยและความสะอาดที่ถูกสุขอนามัยตลอด ห่วงโซ่อุปทานของการท่องเที่ยวไทย และการปรับโมเดลทางธุรกิจ

ส่วนในระยะกลางและระยะยาว ประเทศไทยควรใช้โอกาสจากวิกฤติครั้งนี้คิดทบทวนและจัดวางยุทธศาสตร์เพื่อปรับตัวสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและการท่องเที่ยวมูลค่าสูง โดยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการการท่องเที่ยว สนับสนุนให้เกิดประเภทการท่องเที่ยวมูลค่าสูงและนวัตกรรมเพื่อการท่องเที่ยว เช่น การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ การท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุ การท่องเที่ยวทางกีฬา การท่องเที่ยวเพื่อสังคม การท่องเที่ยวสีเขียว การใช้เทคโนโลยี VR และ AR สร้างนวัตกรรมท่องเที่ยว การใช้ Blockchain เพื่อรับรองความเชื่อถือตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงบริหารจัดการเพื่อมุ่งสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ทั้งในด้านความปลอดภัย ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การกระจายแหล่งที่มาและที่ท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว พร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมและสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับอย่างเพียงพอ

โดย...

ประกาย ธีระวัฒนากุล

ธราธร รัตนนฤมิตศร

สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)

https://www.facebook.com/thailandfuturefoundation/