วิกฤติและธรรมาภิบาลภาคธุรกิจ

วิกฤติและธรรมาภิบาลภาคธุรกิจ

วิกฤติโควิด-19 รุนแรงจริงๆ ส่งผลกระทบทั่วโลก ล่าสุดมีกว่า 180 ประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ

ทั้งด้านสาธารณสุขคือการระบาดของไวรัสโควิด-19 และด้านเศรษฐกิจจากผลของมาตรการหยุดการระบาดที่กระทบเศรษฐกิจ ทำให้ทุกประเทศต้องปรับตัวมาก

แต่ประเทศหนึ่งที่ดูจะตั้งรับวิกฤติโควิด-19 ได้ดี ทั้งในแง่การระบาดและผลต่อเศรษฐกิจ เรียกได้ว่าเป็นม้ามืด คือ เวียดนาม ที่ไม่มีการระบาดหรือผู้ติดเชื้อรายใหม่ติดต่อกันมาระยะหนึ่งแล้ว และอาทิตย์ที่แล้ว ทางการเวียดนามได้ประกาศยกเลิกมาตรการรักษาระยะห่างเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถกลับมาเป็นปกติได้มากขึ้น ถือเป็นความสำเร็จที่น่ายินดี เพราะประชากรเวียดนามมีมากกว่า 90 ล้านคน และระบบสาธารณะสุขของเวียดนาม แม้จะดูไม่ทันสมัยเทียบกับหลายประเทศในอาเซียน แต่ก็มีประสิทธิภาพและสามารถลดและควบคุมการระบาดได้

ในแง่เศรษฐกิจก่อนวิกฤติโควิด-19 เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวได้ดีมาตลอดเฉลี่ย 6.5% ต่อปีช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ปีนี้ แม้ประเทศและเศรษฐกิจโลกจะถูกกระทบมากจากวิกฤติโควิด-19 แต่การประเมินทั้งโดยธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย และสำนักงานเศรษฐกิจมหภาคอาเซียนบวกสาม ชี้ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัวในอัตรา 4.5 - 4.8% ซึ่งถือว่าดีมากๆ ความสำเร็จของเวียดนามทางเศรษฐกิจส่วนหนึ่งมาจากภาคธุรกิจที่เข้มแข็ง เอาจริงเอาจัง มีกำลังแรงงานคนรุ่นหนุ่มสาวที่ขยัน ตั้งใจ ไม่เลือกงาน นักธุรกิจพร้อมลงทุนในเครื่องจักรและวิธีการผลิตที่ทันสมัย เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน ขณะที่ภาครัฐสนับสนุนทั้งในแง่การสร้างเครือข่าย หรือห่วงโซ่การผลิตในประเทศ เพื่อให้เกิดการจ้างงานและลดการพึ่งพาต่างประเทศ รวมถึงลดภาษีนำเข้าต่างๆ เพื่อให้ต้นทุนการผลิตของประเทศแข่งขันได้ นี่คือสูตรที่ทำให้ภาคเอกชนของเวียดนามประสบความสำเร็จ

อาทิตย์ที่แล้ว สถาบันกรรมการบริษัทเวียดนาม หรือ VIOD ได้เชิญผมเป็นองค์ปาฐกในการสัมมนาออนไลน์ หรือ Webinar เรื่อง ธรรมาภิบาลจะช่วยบริษัทให้ก้าวข้ามวิกฤติได้อย่างไร สถาบัน VIOD ตั้งขึ้นมาแล้วประมาณ 2 ปีด้วยการสนับสนุนของธนาคารโลก คือ IFC ซึ่งสมัยผมบริหารสถาบัน IOD ไทยอยู่ ก็ได้ช่วยเหลือเรื่องการจัดตั้งมาตลอด ในการสัมมนาผู้จัดขอให้ผมให้ความเห็นเกี่ยวกับประสบการณ์ไทย ในแง่ธรรมาภิบาลกับวิกฤติเพราะมองว่าธรรมาภิบาลในภาคเอกชนไทยปรับตัวดีขึ้นมากหลังวิกฤติ ปี 40 จนเป็นระดับผู้นำในอาเซียน

ผมให้ความเห็นว่า วิกฤติคราวนี้ต่างกับวิกฤติปี 40 และวิกฤติเศรษฐกิจโลก ปี 2008/ 2009 เพราะเป็น 2 วิกฤติที่เกิดขึ้นพร้อมกัน คือวิกฤติสาธารณสุขและวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลต่อภาคธุรกิจมากและการแก้ไขจำเป็นต้องทำทั้ง 2 ด้าน ทำให้ต้องใช้ทรัพยากรมาก สำหรับภาคธุรกิจวิกฤติคราวนี้เป็นวิกฤติทั้งด้านอุปทานและอุปสงค์ คือ บริษัทไม่สามารถผลิตสินค้าได้จากการขาดคนงาน บริษัทในห่วงโซ่การผลิตไม่ส่งวัตถุดิบและชิ้นส่วนต่างๆ มีข้อจำกัดเรื่องการขนส่งจากการปิดเมือง ราคาวัตถุดิบผันผวน ขณะที่ด้านอุปสงค์คือไม่มีกำลังซื้อทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกและท่องเที่ยว ที่สำคัญ มาตรการของทางการที่ให้อยู่บ้าน ล็อคดาวน์ธุรกิจก็กระทบบริษัททั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ผลคือ บริษัทไม่มีรายได้ มีปัญหาสภาพคล่อง เพราะมีรายจ่าย มีหนี้ มีข้อผูกพันต่างๆ ตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติ

วิกฤติคราวนี้ จึงทำให้บริษัทส่วนใหญ่ต้องปรับตัวมาก ทั้งในระยะสั้น คือ การบริหารวิกฤติเพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินต่อไปได้ และระยะยาวที่ต้องคิดใหม่ วางแผนใหม่ ปรับธุรกิจใหม่ เพื่อให้ธุรกิจสามารถกลับมาและยืนระยะได้ในโลกธุรกิจใหม่หลังวิกฤติโควิด-19

ในแง่ธรรมาภิบาล วิกฤติคราวนี้ก็ต่างจากในอดีต เพราะผลกระทบของวิกฤติคราวนี้มีมาก ทุกคนในประเทศถูกกระทบและความเดือดร้อนเกิดขึ้นทั่วหน้า ขณะเดียวกันการคาดหวังของสังคมเกี่ยวกับบทบาทของภาคธุรกิจก็เปลี่ยนไปจาก 20 ปีก่อน คือ ต้องการเห็นธุรกิจเป็นประชาชนที่ดีคนหนึ่งในสังคม ปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างมีเหตุมีผล ระมัดระวังและเป็นธรรม การคาดหวังเหล่านี้ทำให้การปรับตัวของบริษัทในวิกฤติคราวนี้ จำเป็นต้องมองเลยตัวเองออกไป ให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียและบทบาททางสังคมที่บริษัทควรมี ในภาวะที่สังคมและประเทศเดือดร้อน 

ในเรื่องนี้ เราเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีหลายอย่างในสังคมธุรกิจบ้านเราในวิกฤติคราวนี้ สะท้อนจากการปรับตัวของบริษัทธุรกิจในประเทศต่อวิกฤติที่เกิดขึ้น คือ บริษัทปรับตัวให้ธุรกิจอยู่รอดด้วยการตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น แต่พยายามรักษาพนักงานให้มีงานทำ หยุดการลงทุนใหม่ๆ เพื่อรักษาฐานะเงินสด ให้ความสำคัญกับการติดตามสถานการณ์และปฏิบัติตามมาตรการแก้ปัญหาของรัฐบาล ให้ความสำคัญเรื่องกระแสเงินสด สื่อสารตลอดเวลากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะพนักงาน ลูกค้า ซัพพลายเออร์ และเจ้าหนี้ เพื่อลดความไม่แน่นอนต่างๆ รวมถึงตระหนึกถึงการทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรม ไม่เอาเปรียบในภาวะที่ทุกคนเดือดร้อน 

ที่สำคัญ มีบริษัทจำนวนมากที่ยื่นมือใช้กำลังการผลิต แรงงาน และความรู้ที่มีช่วงปลอดคำสั่งซื้อ หรือผลิตไม่ได้ ปรับไลน์การผลิตมาช่วยประเทศแก้ไขปัญหา โดยหันมาผลิตสินค้าที่ขาดแคลน เช่น เวชภัณฑ์ หน้ากาก เจลล้างมือ เครื่องมือแพทย์ เราเห็นโรงแรมเปลี่ยนสถานที่เป็นที่พักฟื้นผู้ป่วย ที่กักตัวผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ เพื่อช่วยภาครัฐในการแก้ปัญหาและมีบริษัทจํานวนมากที่บริจาคเงินและสี่งของช่วยเหลือสังคม

สิ่งเหล่านี้คงสรุปไม่ได้ว่าสะท้อนภาคธุรกิจของประเทศทั้งหมด แต่ก็ชี้ให้เห็นถึงการปรับตัวของภาคธุรกิจที่มีคุณภาพ รวมถึงศักยภาพของธุรกิจบ้านเราที่จะนำไปสู่ระดับธรรมาภิบาลที่สูงขึ้นในการทำธุรกิจ ให้ความสำคัญกับ “หน้าที่” ต่างๆ ที่บริษัทเอกชนควรมี ไม่ว่าจะเป็น การตัดสินใจอย่างระมัดระวัง การปฏิบัติตามกฎระเบียบของทางการ และการให้ความสำคัญกับผลที่จะมีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สิ่งเหล่านี้ทำให้ประชาชนสบายใจและภูมิใจกับภาคธุรกิจของประเทศ

สำหรับระยะยาว ผมให้ความเห็นว่าบริษัทที่จะยืนอยู่ได้ในโลกธุรกิจหลังโควิด-19 จะต้องมี 3 สิ่งที่เป็นความเข้มแข็งที่ต้องมี 1.เป็นธุรกิจที่ resilient คือ ปรับตัวกับเหตุการณ์ภายนอก(shock) ที่เข้ามากระทบได้ดี ยืดหยุ่น(agile) และมีโมเดลธุรกิจที่สอดรับกับโลกธุรกิจหลังโควิด-19 ที่จะเปลี่ยนแปลงไปมาก  2.เป็นธุรกิจที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและสังคม และ  3.มีผู้นำที่ให้ความสำคัญเรื่องการเปลี่ยนแปลง นวัตกรรม และธรรมาภิบาล

3 สิ่งนี้จะทำให้ธุรกิจยืนอยู่ได้ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่จะมีมากขึ้นจากนี้ไปและธรรมาภิบาลจะสำคัญมากขึ้น เพราะธรรมาภิบาลที่ดีจะนำไปสู่การบริหารความเสี่ยงและการตัดสินใจที่ดี