ข้อคิดจากวิกฤติโควิด-19

ข้อคิดจากวิกฤติโควิด-19

คงทราบกันอย่างกว้างขวางแล้วว่า ไวรัสโควิด-19 ทำให้ชาวอเมริกันป่วยและเสียชีวิตมากกว่าประชาชนในประเทศอื่น

ทั้งที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจสูง ยังคาดไม่ได้ว่าการระบาดของไวรัสนี้จะยุติเมื่อไร และแต่ละประเทศจะเสียหายเท่าไร หลังจากการระบาดยุติ คงวิเคราะห์กันอย่างกว้างขวางเพื่อค้นหาปัจจัยที่ทำให้ชาวอเมริกันป่วยและเสียชีวิตมาก ข้อมูลและผลกระทบทางเศรษฐกิจเริ่มทำให้เกิดข้อคิดเบื้องต้นบ้างแล้ว

ในเบื้องแรก มหานครนิวยอร์ก นำโด่งทั้งในด้านการเจ็บป่วยและการเสียชีวิต จริงอยู่มีผู้มองว่าแต่ละวันมีผู้โดยสารเครื่องบินจากต่างประเทศจำนวนมากเข้านิวยอร์กและในจำนวนนี้มีผู้แพร่เชื้อโรคปะปนอยู่ด้วย แต่นั่นไม่น่าจะเป็นคำอธิบายหลักเนื่องจากหลายเมืองก็รับผู้เดินทางจากต่างประเทศจำนวนมากเช่นกัน ปัจจัยสำคัญกว่าน่าจะเป็นนิวยอร์กมีความแออัดสูงกว่าและมีคนจนมากกว่า 2 ปัจจัยนี้หากมองต่อไปอาจเห็นประเด็นอีกมาก ขอยกตัวอย่าง

นิวยอร์กเป็นเมืองท่าและศูนย์กลางของการพัฒนาเศรษฐกิจและวัฒนธรรมมาตลอดประวัติศาสตร์ของสหรัฐ ในกระบวนการพัฒนานี้มีทั้งเศรษฐีและคนจนเกิดขึ้น เศรษฐีมีโอกาสเลือกอาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีความแออัดต่ำ ทั้งในใจกลางเมืองและตามชานเมือง กลุ่มนี้ไม่ค่อยเจ็บป่วยด้วยโควิด-19 ด้านคนจนซึ่งมีจำนวนมากไม่มีโอกาสเช่นนั้น จึงต้องอยู่กันอย่างแออัดในเมือง ในกลุ่มนี้มีทั้งชาวอเมริกันผิวสีและผู้อพยพรุ่นใหม่ที่ยังไม่สามารถยกสถานะของตนเองได้ พวกเขาจึงป่วยและเสียชีวิตในอัตราสูงมาก เนื่องจากการอยู่กันอย่างแออัดนั้นและการมีสุขภาพที่ไม่ค่อยดีเป็นฐานอยู่แล้ว

ความยากจนไปตกอยู่ในหมู่คนสีผิวในอัตราสูงมากสืบเนื่องมาจากปัจจัยทางประวัติศาสตร์ การเริ่มต้นจากการเป็นทาสและต่อมารุ่นลูกหลานถูกกีดกันหลังเลิกทาสแล้วมีผลร้ายในแนววงจรอุบาทว์มาถึงปัจจุบัน ยิ่งกว่านั้น การพัฒนาของสหรัฐตามแนวคิดเศรษฐกิจกระแสหลักที่ควบคุมโดยกลุ่มคนรวยเห็นแก่ได้ส่งผลให้เกิดคนจนตลอดเวลา ข้อมูลบ่งว่าความเหลื่อมล้ำร้ายแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพราะผลของการพัฒนาส่วนใหญ่ไปตกอยู่ในมือคนรวย ประเด็นนี้เป็นปัญหาพื้นฐานที่ยังไม่มีการแก้ไขและต่อไปนับวันจะยิ่งร้ายแรงจนทำให้สังคมไร้ความสงบ

เรื่องการพัฒนาตามแนวคิดเศรษฐกิจกระแสหลักควบคุมโดยคนรวย เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ต่อไปทำให้เกิดปัญหาสาหัสอีกมาก เช่น การผลิตอาหารส่วนใหญ่ไปตกอยู่ในการควบคุมของบริษัทขนาดยักษ์ ด้วยเหตุนี้เมื่อมีโรคร้ายระบาด การผลิตไก่ หมู ถูกกระทบอย่างหนักเมื่อคนงานไปทำงานไม่ได้ โรงเลี้ยงไก่บางแห่งเพิ่งฆ่าไก่ทิ้งไป 2 ล้านตัว คาดว่าถ้าโควิค-19 ยังระบาดต่อไป อีกไม่นานชาวอเมริกันจำนวนมากจะขาดแคลนอาหารแสนสาหัส เพราะผลิตอาหารเองไม่ได้และไม่มีญาติมิตรที่ผลิตอาหารได้อยู่ในชนบทแล้ว

โดยทั่วไปเรามองเมืองไทยว่าพัฒนาไม่ก้าวหน้าเท่าสหรัฐและพยายามจะทำตามเขาแต่เรายังทำไม่ได้ อย่างไรก็ดี ภาวะนี้มีมุมกลับซึ่งมองได้ว่าน่าจะเป็นข้อดีที่มีตัวอย่างให้เห็นอย่างเด่นชัดแล้ว กล่าวคือเมื่อเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งเริ่มเมื่อปี 2450 ผู้ทำมาหากินอยู่ในเมืองยังมีญาติอันเป็นเครือข่ายอยู่ในชนบทซึ่งผลิตอาหาร ฉะนั้น พวกเขาจึงไม่ถึงกับอดอยากเมื่อเทียบกับชาวอเมริกันยากจนในนิวยอร์ก ปรากฏการณ์แนวเดียวกันยังมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบันเมื่อโควิด-19 ทำให้กิจการจำนวนมากถูกปิด

สถานการณ์ปัจจุบันในเมืองไทยและในสหรัฐ น่าจะบ่งชี้ไปยังเรื่องที่คอลัมน์นี้อ้างถึงบ่อยจนเป็นเสมือนแผ่นเสียงตกร่อง นั่นคือเรื่องแรก การลดความแออัดในกรุงเทพฯ โดยการย้ายหน่วยราชการส่วนกลางไปยังเมืองสร้างใหม่ ซึ่งผมมีส่วนเสนอให้ทำมากว่า 50 ปีแล้ว อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตรและนายกฯ คนปัจจุบันเคยอ้างว่าจะทำ เรื่องที่สอง การให้ความใส่ใจอย่างจริงจังต่อการพัฒนาชนบท อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง แนวคิดนี้ยังไม่มีการนำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง ทั้งที่ทุกรัฐบาลหลังปี 2540 อ้างว่ากำลังทำ