ขอให้เหมือนเดิม แต่เป็นไปไม่ได้

ขอให้เหมือนเดิม แต่เป็นไปไม่ได้

หลังปลดล็อค ใครๆก็อยากร้องเพลง “ขอให้เหมือนเดิม” แต่เราคงจะต้องร้องเพลง “เป็นไปไม่ได้” อีกระยะหนึ่งครับ

รัฐบาลผ่อนคลายการล็อคดาวน์ และแนวทางในการผ่อนคลาย ก็ชัดเจนขึ้นแล้ว ว่าชีวิตในอนาคตอันใกล้นี้ จะสะดวกมากขึ้น แต่ยังไม่กลับไปเหมือนเดิม 

ย้อนหลังไป เมื่อต้นเดือนเมษายน ช่วงที่ยังต้องต่อสู้กับ โควิด-19 ที่ระบาดรุนแรง ผมได้ให้ความเห็นไว้ล่วงหน้าว่าหมดโควิด ชีวิตจะเป็นเช่นใดในรายการ Podcast “วรภัทร คัดมาคุย” (4 เมษายน 2563,  https://anchor.fm/warapatr-todhanakasem/episodes/NO-21-ecc60p)

ผมพูดไว้ว่า สายการบินอาจจะต้องจัดให้ผู้โดยสารนั่ง แบบที่เว้นที่ และค่าโดยสารจะต้องแพงขึ้น ส่วนการจัดโต๊ะนั่งในภัตตาคาร ก็ต้องเว้นระยะ ซึ่งผมมองในเชิงเศรษฐศาสตร์ว่า ธุรกรรมที่รองรับลูกค้าได้น้อยลง และเปลืองพื้นที่ในลักษณะเช่นนี้ จะทำให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น และจะมีผลต่อการกำหนดราคาสินค้าและบริการ ที่สูงขึ้นในอนาคต ฯลฯ

สัปดาห์ที่แล้ว 23 เมษายน บิล เกตส์คนดังระดับโลก ได้เขียนใน Blog ของเขาว่า หลังจากการล็อคดาวน์ผ่านไป...

*   ผู้คนจะออกนอกบ้านมากขึ้น แต่ไม่บ่อยนัก และจะไม่ไปสถานที่พลุกพล่าน

  • ภัตตาคารจะจัดที่นั่งให้ลูกค้า แบบ โต๊ะเว้นโต๊ะ
  • เครื่องบินจะจัดเก้าอี้ให้ผู้โดยสารนั่ง แบบ ที่เว้นที่
  • สนามกีฬาขายตั๋วผู้ชม แต่ไม่เต็มที่นั่งทั้งหมด ฯลฯ ฯลฯ

 ซึ่งบางอย่างก็คล้ายๆกับที่ผมได้พูดไว้ และที่ไทยเราและอีกหลายๆประเทศ กำลังจะทำ หลังการคลายล็อคดาวน์

คำถามต่อไป ก็คือ แล้วเราจะต้องอยู่ห่างกันแบบนี้ อีกนานเพียงใด?" ประเด็นนี้ บิล เกตส์ ให้ความเห็นว่า ถึงแม้หนึ่งปีผ่านไป เราก็จะยังไปดูคอนเสิร์ต แบบเบียดกัน ไม่ได้ 

เพราะชีวิตที่ กึ่งปกติมันไม่ใช่ภาวะชั่วคราว แต่จะอยู่กับเราไปอีกนาน...

จนถึงเมื่อไรหรือครับ บิล เกตส์ มองว่า จนกว่าจะค้นพบ วัคซีน ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เข้าถึงประชาชนในวงกว้าง ซึ่งนั่นก็คงอีกหลายปี และตรงนี้ผมก็เห็นด้วย เพราะผมได้พูดไว้ใน Podcast ทำนองเดียวกัน

บิล เกตส์ เป็นผู้ที่รู้เรื่อง โควิด-19 ดีมากๆ ทุกวันนี้เขาใช้เวลาทุ่มเทกับเรื่องนี้ และ เป็นคนที่พยากรณ์อย่างแม่นยำ ตั้งแต่เมื่อ 5 ปี ที่แล้ว ว่าจะเกิดโรคระบาดนี้ 

ปี 2015 เขาพูดในรายการ TED Talk ว่า “โลกไม่มีความพร้อม ที่จะรับกับโรคระบาดครั้งต่อไปปี 2017 เขาเขียนบทความใน Business Insider ว่า “โรคระบาดครั้งต่อไป จะรุนแรง และอาจจะเป็น สายพันธ์เชื้อหวัด ที่เป็นอันตรายถึงชีวิต (A super contagious and deadly strain of the flu) ...แม่นยำมาก ใช่ไหมครับ

ปี 2018 เขาประกาศว่าโรคระบาด “กำลังจะเกิดขึ้น เร็วๆนี้”... ช่างเป็นอะไรที่ ชัดเจนและตรงเผง เสียเหลือเกิน

เอาเถอะครับ บัดนี้ ช่วงยากลำบากที่สุดของเรา ในการต่อสู้กับโควิด-19 ก็กำลังจะผ่านพ้นไปแล้ว คำถามอีกข้อที่ตามมา และสำคัญมาก ก็คือ ในช่วงฟื้นฟู เราควรจะมีกลยุทธเช่นใด?”

บิล เกตส์ ยกตัวอย่างว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำลายชีวิตไปเยอะ แต่ก็ทำให้เกิด นวัตกรรม บางอย่างเช่น เรด้าร์ และ ตอร์ปิโด เป็นต้น ดังนั้น หลังวิกฤติโควิด-19 เราก็คาดหวังว่า จะได้เห็นนวัตกรรมบางอย่าง เช่นกัน

เขาระบุชัดเจนว่า นวัตกรรมที่จะเกิดขึ้น จะเกี่ยวกับ การรักษาโรค วัคซีน การทดสอบโรค การติดตามโรค ตลอดจน นโยบายสาธารณะ ที่เหมาะสมกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมหลังวิกฤติ 

ผมคิดว่านวัตกรรมที่ว่านั้น ก็คือผลพลอยได้จากการที่ประเทศต่างๆ ได้ทุ่มเททรัพยากรจำนวนมหาศาล เข้าต่อสู้กับโควิด-19 นั่นแหละครับ

ดังนั้น เราควรใช้ช่วงจังหวะนี้ ซึ่งทั่วโลกยอมรับฝีมือของไทย ในการควบคุมและรักษาโควิด-19 เร่งส่งเสริมให้ทีมนักวิจัยทางการแพทย์ของไทย ค้นคว้า วิจัย และเผยแพร่ ผลงานด้านการบริหารจัดการโรคระบาด อย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพื่อให้เกิดนวัตกรรม ที่ีมีความโดดเด่นระดับนานาชาติ

 และเราต้องไม่ลืมด้วยว่า ความเจ็บปวดอีกอย่างหนึ่ง ที่เราได้เห็นในเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมา ก็คือความยากลำบากของ คนยากจน และ คนตกงาน ฯลฯ ถึงขนาดที่บางคนต้องใช้สวนสาธารณะเป็นที่นอนค้างคืน และมีการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นอีกด้วย

ผมเชื่อว่า ผู้อ่านคอลัมน์ของผมหลายท่าน คงได้ใช้โอกาสในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ช่วยเหลือผู้ยากลำบาก เท่าที่อยู่ในวิสัยจะช่วยได้ เพราะคนไทยมีน้ำใจในเช่นนี้เสมอมา 

ครั้งที่เกิด วิกฤติต้มยำกุ้ง นักธุรกิจและพนักงานบริษัท ต่างก็เดือดร้อน หลายคนต้องกลับไปพึ่งพิงครอบครัวในต่างจังหวัด แต่วิกฤติครั้งนี้ เดือดร้อนกันไปทั่ว ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ พนักงาน ผู้ประกอบการรายย่อย และทุกคนทุกอาชีพ แต่ที่แน่ๆก็คือ คนยากจน เดือดร้อนอย่างหนัก

ขอบคุณรัฐบาลที่พยายามดูแลอย่างเต็มที่ แต่ขอฝากไว้ด้วยว่า เราจะต้องประคับประคองการฟื้นฟู ทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม ให้ก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้อง และ คำนึงถึงคนยากจนเป็นหลักด้วย

ที่ผ่านมา รัฐใช้เงินจำนวนมหาศาล (ซึ่งจะรั่วไหลไปแค่ไหน ก็ยังไม่มีใครรู้) และรัฐคงจะต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นอีกมาก ก็ขอให้ดูแล อย่าให้ใครเข้ามาเบียดบังประโยชน์ของประชาชนก็แล้วกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประโยชน์ของคนยากจน

เมื่อขับไล่ โคโรน่าไวรัสออกไปได้แล้ว ก็อย่าเปิดโอกาสให้คอรัปติก้าไวรัส เข้ามาแทนที่ได้...เป็นอันขาด! เพราะไวรัสตัวหลังนี้ มันต่อสู้ได้ยากมาก และมีโอกาสน้อยที่จะต่อสู้กับ คอรัปติก้าไวรัส ได้สำเร็จ 

ศึกใหม่ของเรา กับไวรัสเก่าตัวนี้ ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง ดังนั้นผมขอให้ทำใจ เพราะการสู้กับ คอรัปติก้าไว้รัสนั้น เรามีแนวโน้มสูง ว่าจะต้องร้องเพลงเดิมอีกน่ะแหละ

เพลง เป็นไปไม่ได้ไงครับ