มุมมองด้านเศรษฐศาสตร์ต่อมาตรการล็อคดาวน์

มุมมองด้านเศรษฐศาสตร์ต่อมาตรการล็อคดาวน์

ความคาดหวังเรื่องการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์

ความคาดหวังเรื่องการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดูเหมือนว่าจะสามารถควบคุมได้ในระดับหนึ่ง เป็นประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการวิเคราะห์ต่อยอดว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะเป็นไปในทิศทางใดหลังการผ่อนคลายมาตรการฯ ซึ่งในบทความฉบับนี้ผมจะขอหยิบยก งานวิจัยทางวิชาการของ Correia S., Luck S., Verner E., 2020, Pandemics depress the economy, public health interventions do not: evidence from the 1918 flu ที่เพิ่งเผยแพร่ทางเว็บไซต์ www.ssrn.com และมียอดดาวน์โหลดสูงหลายสัปดาห์ต่อเนื่อง ซึ่งในงานวิจัยดังกล่าว มีการศึกษาผลกระทบของการใช้มาตรการ Non-Pharmaceutical Intervention (NPI) หรือ หากแปลตรงตัวก็คือ "มาตรการที่ไม่ใช้ยา" ซึ่งก็คือ มาตรการที่ภาครัฐฯใช้อยู่ในปัจจุบัน อาทิ มาตรการ Social distancing นั่นเอง ต่อภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯในแต่ละรัฐ ภายหลังการเกิดการระบาดใหญ่ของ ไข้หวัดใหญ่สเปนปี 1918 

งานวิจัยดังกล่าวใช้ฐานข้อมูลในสหรัฐฯ แบ่งเป็นแต่ละเมือง (มลรัฐ) โดยเป็นการเก็บข้อมูลในช่วงการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สเปนปี 1918 ผลการศึกษาพบว่า i) เศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรงในช่วงการแพร่ระบาดของโรค และผลการศึกษาที่น่าสนใจคือ ii) เมื่อมีการศึกษาเปรียบเทียบลงในรายละเอียด ว่าเมือง (มลรัฐ) ใดในสหรัฐฯ ตัดสินใจทำการใช้มาตรการ NPI (สำหรับในประเทศไทย ปัจจุบันก็คือมาตรการล็อคดาวน์) ยิ่งตัดสินใจเร็วเมื่อพบการแพร่ระบาดของโรค และยิ่งใช้มาตรการที่เข้มข้น เศรษฐกิจของเมือง (มลรัฐ) นั้นจะฟื้นตัวได้แข็งแกร่งภายหลังที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ ดีกว่าเมือง (มลรัฐ) ที่ตัดสินใจใช้มาตรการ NPI ช้ากว่า ... อย่างไรก็ดี ผลการศึกษานี้ในส่วนของการชะลอตัวและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นั้นอาจมีผลของสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วย ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัด ที่อาจทำให้ผลลัพธ์แตกต่างจากสถานการณ์ในปัจจุบัน ... อย่างไรก็ดีเรามีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในสถานการณ์ที่ประเทศจีน ที่มีการตัดสินใจบังคับใช้มาตรการล็อคดาวน์ที่ค่อนข้างเร็วและเข้มข้นมาก ภายหลังการผ่อนคลายมาตรการตัวเลขเศรษฐกิจของจีนเองก็ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เช่นกัน 

กลับมาที่สถานการณ์ในประเทศไทย หากอ้างอิงจากผลการศึกษาวิจัยข้างต้น การใช้มาตรการล็อคดาวน์ของไทย ถือว่าเข้มข้นในระดับที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ดี เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่ประสบปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสฯเช่นกัน ดังนั้น ผมเชื่อว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในขณะนี้นั้น น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น และคาดหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ภายหลังที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้และเริ่มทำการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ โดยคาดว่า ภาคธุรกิจที่จะเริ่มฟื้นตัวได้ก่อน จะเป็น การบริโภคในประเทศ หลังจากที่เริ่มผ่อนคลายการเปิดร้านค้าบางประเภท และคาดหวังว่าหากสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีต่อเนื่องจะเริ่มทยอยผ่อนปรนกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆเป็นขั้นตอนต่อไป 

สำหรับภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นไทย เมื่อพิจารณาจากการวิเคราะห์ข้างต้นจะเห็นได้ว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยน่าจะเกิดขึ้นระยะสั้น (กรณีที่ไม่เกิดการแพร่ระบาดซ้ำอีกครั้ง หลังผ่อนคลายมาตรการฯ) ทำให้นักลงทุนมองไปถึง Valuation บนฐานกำไรปี 2564 ที่คาดหวังว่าภาวะเศรษฐกิจจะกลับสู่ระดับปกติได้ โดย Bloomberg consensus คาดกำไรของบริษัทจดทะเบียนหรือ EPS ของดัชนี SET index ปี 2563 และ ปี 2564 ล่าสุดเท่ากับ 74.2 บาท และ 89.2 บาท ตามลำดับ หากคิดเป็น PE ratio จะได้เท่ากับ 17.2 เท่า และ 14.2 เท่า ตามลำดับ (ขณะเขียนบทความ SET index ปิดที่ 1,275 จุด) ซึ่งคำถามที่สำคัญคือ การมองไปยัง Valuation ปี 2564 ณ ตอนนี้ เป็นการเปลี่ยนไปใช้ Valuation ปีหน้าเร็วไปหรือไม่ เพราะหากเป็นสถานการณ์ปกตินักวิเคราะห์มักที่จะทำการปรับไปใช้ Valuation ปีถัดไปเมื่อเข้าสู่ช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี

อย่างไรก็ดีผมเชื่อว่า หากสมมติฐานต่างๆเป็นตามที่ประเมินข้างต้น แม้ Valuation ปีนี้จะ 'ไม่ถูก' แล้วก็ตาม แต่ตลาดหุ้นไทยน่าจะไม่มีการทำจุดต่ำใหม่อีก แม้ตลาดฯจะมีการพักฐานอีกครั้งก็ตาม ดังนั้นสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นไทย การพักฐานภายหลังการรายงานผลการดำเนินงาน 1Q63 ที่อ่อนแอ (รายงานสุดท้ายไม่เกินกลางเดือน พ.ค.นี้) หรือตัวเลข GDP 1Q63 ที่อ่อนแอ (จะรายงานในช่วงกลางเดือน พ.ค.) จะเป็นโอกาสในการเข้าช้อนซื้อหุ้นที่มีพื้นฐานดี และ Valuation ยังไม่แพงเกินไปนักอีกครั้ง หรือสำหรับการเก็งกำไรสั้น อาจพิจารณาไปที่หุ้นกลุ่มที่จะได้รับ Sentiment บวกจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการ อาทิ หุ้นกลุ่มขนส่ง หุ้นกลุ่มค้าปลีก หุ้นกลุ่มอาหาร เป็นต้น