การได้มาซึ่ง“บรรทัดฐานใหม่”ของสังคม (New Normal)

การได้มาซึ่ง“บรรทัดฐานใหม่”ของสังคม (New Normal)

ช่วงเดือที่ผ่านมา แวดวงสนทนา ตามช่องทางต่างๆ มีข้อเสนอเกี่ยวกับการใช้ชีวิตหลังการผ่อนผันมาตรการเฝ้าระวังโควิด-19

ซึ่งต้องเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติ เพราะต้องปรับวิถีการใช้ชีวิตทั้งที่เป็นส่วนตัวและที่เป็นกติการ่วมของสังคมที่ต้องช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดซ้ำของโรคอย่างต่อเนื่องไปอีกกว่า 1 ปี

นักวิชาการ ผู้รู้หลายท่าน ทำนายการปรับพฤติกรรมในมิติต่างๆ ที่ต้องเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขของการระวังป้องกันโรค และการเว้นระยะห่างทางสังคมนี้ว่า new normal (บรรทัดฐานใหม่ของสังคม) ซึ่งวันนี้ผมคงไม่นำเสนออะไรเพิ่มเติม แต่อยากชวนให้ลองคิดถึงที่มา ที่ไป ของคำว่า new normal กันดูเล่นๆ ระหว่างที่เราพยายามรักษาระยะห่างกันให้พอเหมาะพอสมกับสถานะการณ์

Normal หรือ norm ที่ผมขอใช้คำไทยว่า “บรรทัดฐาน” ก็คือแนวทางปฏิบัติอันเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในสังคมหนึ่งๆ โดยทั่วไปจะมี 3 กรณี กรณีแรก คือวิถีประชาหรือวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่คนในสังคมปฏิบัติต่อกันมาด้วยความเคยชิน ไม่มีการบังคับโดยสังคมหรือกฎหมาย เป็นความหลากหลายของสังคมที่อาจปฏิบัติเหมือนกันหรือต่างกันก็ได้ ลำดับต่อมา คือ จารีต ซึ่งฝังรากในสังคมลึกกว่าวิถีประชา จารีตมักมีความผูกโยงโดยตรงกับศีลธรรม ความเชื่อหรือศาสนาที่คนในสังคมนั้นๆ ยึดถือปฏิบัติ หากไม่ทำตามแม้จะผิดกฎหมายก็จะถูกสังคมคนรอบข้างตำหนิหรือลงโทษ(ทางสังคม)  ท้ายที่สุดก็คือ กฎหมาย เป็นกฏกติกาของสังคมที่บัญญัติโดยรัฐ(ภายใต้กลไกที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ) สมาชิกในสังคมนั้นต้องปฏิบัติตาม มิเช่นนั้นจะถูกลงโทษ ในหลายประเทศบทบัญญัติที่ระบุไว้ในกฎหมายก็มีรากฐานมาจากวิถีการใช้ชีวิต (วิถีประชา) และจารีต ประเพณี ของสังคมนั้น

การสร้างบรรทัดฐานใหม่ ไม่ง่าย “วิถี” บางวิถีเป็นเพียงค่านิยมของคนกลุ่มหนึ่งมีช่วงชีวิตสั้น เกิดขึ้นมาแล้วก็หายไป เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นเข้ามาแทน ผมอยากเรียก “วิถี” ประเภทนี้ว่าสัญญาณ (signal) ทุกสังคมทุกประเทศมีสัญญาณแบบนี้เกิดขึ้นมากมายตามบริบท ตามแฟชั่น ซึ่งส่วนใหญ่จะจางหายไปเอง ไม่สามารถยกระดับสร้างแรงขับเคลื่อนในระยะยาวได้ สำหรับสัญญาณที่มีความแรงในตัวเองจะเกิดการรวมตัวขยายผล ยกระดับกลายเป็นแนวโน้ม (trend) ที่มีคนสนใจทำตามเป็นวงกว้างและเมื่อเป็นที่ยอมรับปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่องก็จะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ (new norm) ของสังคมนั้นๆ ไปในที่สุด

การใส่หน้ากากอนามัยเป็นตัวอย่างที่ดีของการยกระดับจากสัญญาณสู่แนวโน้ม และ (หวังว่า) ในอนาคตจะเป็นบรรทัดฐานใหม่ของการดูแลสุขภาพของคนในระยะยาว เราจะเห็นได้ว่าก่อนเกิดโควิด-19 คนเป็นหวัดไม่สบายสวมใส่หน้ากากอนามัยกันน้อยมาก จัดว่ายังไม่ใช่แนวโน้มหรือบรรทัดฐานในประเทศไทย แต่ก็มีบางกลุ่มที่ใช้กันอยู่เป็นประจำ(มีสัญญาณของการดูแลตนเอง) ต่อมาเมื่อการระบาดของโรคสูงขึ้น แนวโน้มของคนที่ใส่หน้ากากอนามัยก็สูงขึ้นตาม เรียกได้ว่ามีการระบาดเป็นตัวเร่งปฏิกริยาจากระดับสัญญาณให้กลายเป็นแนวโน้มอย่างรวดเร็ว และหากเราทำกันต่อไปเรื่อยๆ จนเป็นปกติ “วิถี” ข้อนี้ก็จะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่แม้การระบาดของโควิด-19 จะหยุดแล้ว คนที่เป็นหวัดเป็นไข้ก็จะใส่หน้ากากป้องกันการแพร่เชื้อกันอย่างต่อเนื่อง ไม่มีเขินอายกัน

เทคโนโลยีก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่มีอิทธิพลกับการเปลี่ยนบรรทัดฐานในมิติของวิถีประชาค่อนข้างมากและส่งผลเร็ว เมื่อเทียบกับด้านอื่นๆ บางครั้งการเปลี่ยนถ่ายสู่บรรทัดฐานใหม่ของสังคมเกิดขึ้นเร็วจนบางภาคส่วนปรับตัวไม่ทันก็จะเกิดการหยุดชะงัก (disruption) ของกลไกที่ทำงานภายใต้บริบทของบรรทัดฐานเดิม เช่น ความง่ายและรวดเร็วของกล้องดิจิทัลเปลี่ยนบรรทัดฐานของการถ่ายภาพ ทำให้กล้องอนาล็อก ระบบภาพถ่ายบนฟิล์มหายไป (พร้อมๆ กับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกันอีกมากมาย) หรือการเสพข่าวสารผ่านสื่อดิจิทัลมากขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกิดการปฏิวัติใหญ่ในวงการสื่อ

ตัวอย่างข้างต้น คือการเปลี่ยนถ่ายสู่บรรทัดฐานใหม่ผ่านกลไกทางสังคมหรือวิถีประชา แต่เมื่อมีความจำเป็นต้องเร่งให้เกิดบรรทัดฐานใหม่เพื่อตอบโจทย์เฉพาะบางอย่าง เราก็ใช้มิติกฎหมายมาประกบเพิ่มให้เกิดการปฏิบัติตามกันได้อย่างต่อเนื่องไม่ติดขัด เช่น การประชุมที่เคยต้องมาประชุม ณ ที่จัดประชุม จึงจะถูกต้องตามระเบียบ แต่ด้วยข้อจำกัดในสถานะการณ์ปัจจุบันทำให้ต้องใช้การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น รัฐบาลก็ใช้การออก พ.ร.ก.การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออกมา ทำให้หน่วยงานราชการและหน่วยงานของรัฐทำงานกันได้ง่ายขึ้น นี่ยังไม่รวมถึงการประหยัดงบประมาณจากการเลี้ยงอาหารว่าง อาหารหลัก ค่าเอกสาร ค่าเดินทาง และที่สำคัญที่สุดคือประหยัดเวลาจากการเดินทางเข้ามาร่วมประชุม น่าคิดนะครับ ถ้าจะช่วยกันผลักดันให้การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นบรรทัดฐานใหม่อย่างเป็นทางการ แม้สถานะการณ์การระบาดจะดีขึ้นก็ตาม

New normal ่ที่เราพูดถึงกันในช่วงนี้จึงน่าเกิดจากกรณีของวิถีประชาประกอบกับมาตรการทางกฎหมายบางส่วนผสมผสานกันไป และจะสำเร็จได้ต้องพึ่งพาความร่วมมือจากทุกคนในสังคมช่วยกันยกระดับ “สัญญาณ” หรือ “แนวโน้มที่เป็นประโยชน์ ที่ทำกันอยู่ในตอนนี้ (และที่ผู้รู้หลายๆท่านกำลังจะเสนอให้ปฏิบัติกันต่อไป) ให้ได้บรรทัดฐานใหม่ที่มาจากมุมของวิถีประชา แต่หากเราไม่ร่วมมือกันเพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ที่ดี ก็อาจจะต้องพึ่งพากลไกการออกกฏหมายเพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่เป็นลำดับต่อไป

รอดูกันไปครับ หากการ “เปลี่ยนวิถี” ได้รับการยอมรับจากสังคม คือทำได้จริงและเกิดประโยชน์ สามารถทำต่อไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นปกติ ไม่ได้ทำเพราะถูกบังคับให้ทำ วิถีการใช้ชีวิตนั้นๆ ก็จะกลายป็นบรรทัดฐานใหม่ของสังคมต่อไป

โดย...

ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์

รองผู้จัดการกองทุน สสส.