เรียนรู้แนวทางการดูแลคนในยุคโควิด

เรียนรู้แนวทางการดูแลคนในยุคโควิด

ความท้าทายประการหนึ่งของผู้นำองค์กรในยุคโควิด-19นี้ หนีไม่พ้นเรื่องการบริหารคนภายในองค์กรของตนเอง

ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่ทำให้ได้เห็นแนวคิดเกี่ยวกับการดูแลและบริหารทรัพยากรบุคคลที่แตกต่างกันไปในแต่ละองค์กร ผู้นำส่วนมากมีความเชื่อว่าในสถานการณ์วิกฤติเช่นปัจจุบัน ยิ่งดูแลบุคลากรดีเท่าใด เมื่อสถานการณ์พลิกฟื้นกลับมาแล้วก็จะยิ่งทำให้บุคลากรเหล่านั้นทุ่มเทให้กับองค์กรมากขึ้น แต่ในอีกมุมมองหนึ่งก็มีบางองค์กรที่ ถึงแม้ผู้นำอยากจะดูแลบุคลากรเพียงใด แต่ถ้าสถานการณ์ทางการเงินขององค์กรกำลังย่ำแย่ ต้นทุนทางด้านบุคคลก็เป็นต้นทุนที่ลดได้อย่างรวดเร็วสุดเช่นเดียวกัน

เนื่องจากลักษณะขององค์กร อุตสาหกรรม และสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ทำให้ไม่มีแนวคิดหรือวิธีการที่ถูกต้องที่สุดในการดูแลและบริหารทรัพยากรบุคคลในยุคโควิด แต่เรื่องของคนในองค์กรในยุคโควิดนี้เป็นเรื่องที่อ่อนไหวและต้องบริหารจัดการให้ดี

บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำอย่าง Gallup ได้รวบรวมความเห็นจากผู้บริหารสูงสุดด้านทรัพยากรบุคคลจากองค์กรชั้นนำระดับโลกจำนวน 100 แห่ง มาสรุปเป็นประเด็นการดูแลและบริหารบุคลากรที่น่าจะเรียนรู้ร่วมกัน

เรื่องแรกเลยคือองค์กรต่างๆ ได้หาช่องทางและงบประมาณเพื่อดูแลสุขภาพของบุคลกรกันมากขึ้น ทั้งค่าใช้จ่ายสำหรับพนักงานและครอบครัวที่ติดเชื้อโควิด การเพิ่มประกันสุขภาพที่ทั้งเกี่ยวเนื่องจากโควิดและการเจ็บป่วยทั่วไป โดยในบางแห่งนั้นมีการจ่ายค่าใช้จ่ายในการทดสอบโควิดให้กับพนักงานกลุ่มที่มีความเสี่ยง ในบางองค์กรผู้ที่ไม่ใช่พนักงานประจำก็ได้รับสวัสดิการเพิ่มขึ้น (ปกติคนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่มักจะถูกลดต้นทุนก่อนเมื่อมีวิกฤติเกิดขึ้น) ทั้งเรื่องของ paid time off (คือ วันหยุดต่างๆ ตามสิทธิ์ และยังได้รับเงินเดือนอยู่ ซึ่งรวมทั้งวันลาป่วย ลากิจ ลาพักร้อน ฯลฯ) หรือ ประกันสุขภาพ ส่วนพนักงานประจำนั้น paid time off ก็ได้รับการขยายออกไปจากปกติ (นั้นคือสามารถลาหยุดได้มากขึ้น) หรือ บางแห่งก็ยอมให้ลาได้เกิน (ติดลบ) ได้

ขณะเดียวกันพบว่ากลุ่มพนักงานที่ต้องทำงานในแนวหน้าหรือกลุ่มที่ยังต้องติดต่อปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ตลอดเวลา และเป็นกลุ่มที่มีทั้งความเสี่ยงจากการติดเชื้อสูง และมีความเสี่ยงในด้านสภาพจิตใจจากการที่ต้องระมัดระวังตนเองตลอดเวลา ก็จะได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดจากผู้นำ ในบางองค์กรผู้นำจะมีการพูดคุยผ่านช่องทางออนไลน์กับกลุ่มพนักงานเหล่านี้เป็นประจำ เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ ขณะที่บางแห่งก็จะจัดให้มี ‘hero pay’ เป็นสิ่งตอบแทนพิเศษให้กับพนักงานเหล่านี้ เช่น บัตรกำนัล หรือ การขึ้นเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษ หรือ การจ่ายโบนัสเป็นกรณีพิเศษ เป็นต้น ซึ่งการกระทำต่างๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่สามารถเพิ่มความผูกพัน (Engagement) ให้กับพนักงานได้ทั้งสิ้น

อีกแนวคิดหนึ่งที่พบ คือการเสียสละของผู้บริหารระดับสูงในด้านต่างๆ ต่อพนักงานระดับล่าง (โดยเฉพาะพนักงานที่อยู่แนวหน้าและต้องทำงานตลอดเวลา) ในบางตัวอย่างจะพบว่าผู้บริหารระดับสูงจะมีการแบ่งปันโบนัสที่ตนเองได้ไปให้กับพนักงานระดับล่าง หรือ มีบางกรณีที่ผู้บริหารระดับสูงบริจาควันหยุดของตนเองให้กับพนักงานระดับปฏิบัติการ

สิ่งหนึ่งที่องค์กรต่างๆ ยังทำอย่างต่อเนื่อง คือเรื่องของการพัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะการเรียนในหลักสูตรต่างๆ ผ่านทางช่องทางออนไลน์กลายเป็นเครื่องมือในการพัฒนาบุคลากรขององค์กรต่างๆ ในยุคโควิด

นอกจากนี้ เนื่องจากสถานการณ์ที่ผิดปกติไปในปีนี้ ทำให้องค์กรจำนวนมาก ปรับเป้าหมายผลการดำเนินงาน ปรับ KPI ปรับงบประมาณ รวมทั้งปรับระบบและโครงสร้างการประเมินผล ซึ่งการปรับและให้พนักงานรับทราบในปัจจุบันจะส่งผลต่อขวัญและกำลังใจ ดีกว่าแค่การแจ้งว่าจะปรับให้ แต่ให้รอปรับทีเดียวตอนปลายปี (พนักงานจะไม่มั่นใจว่าจะปรับให้จริงหรือไม่)

ข้างต้นเป็นเพียงแค่ตัวอย่างเท่านั้น และถึงแม้สถานการณ์ของแต่ละองค์กรไม่เหมือนกัน แต่ก็เชื่อว่าทุกแห่งจะพยายามดูแลบุคลากรของตนเองอย่างดีที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบัน