โควิด-19กับ “นิติบุคคลอาคารชุด”

โควิด-19กับ “นิติบุคคลอาคารชุด”

ผลพวงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกขณะนี้

กลายเป็นผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ การทำงาน การอยู่อาศัยร่วมกันที่จำเป็นต้องระมัดระวังตัวระหว่างกันมากขึ้น

สำหรับประเทศไทย ณ วันที่ผู้เขียน เขียน ต้นฉบับ บทความ มีรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19  นับยอดรวมสะสม 2 พันคนเศษ มีผู้ป่วยจำนวนเกือบพันคน มีผู้หายป่วยแล้ว เกือบ 7-8 ร้อยคน และมีอัตราการติดเชื้อจำนวนน้อยลง ลดลงจากเดิม ซึ่งอาจลดแรงกดดันต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต่อการประกาศใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้น  อย่างไรก็ตาม มาตรการป้องกันย่อมเป็นเรื่องที่ดีมากกว่าการรักษาเยียวยา

นับแต่มี.ค.2563 ผลของการแพร่ระบาดของโรค ล้วนกระทบต่อผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดในอาคารชุด คอนโดมิเนียม ทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้อาศัย และนิติบุคคลอาคารชุด ฝ่ายจัดการอาคาร หรือฝ่ายบริหารอาคาร เกิดความกังวลตระหนกต่อโอกาสการรับ หรือติดเชื้อไวรัสดังกล่าวภายในอาคารชุด คอนโดมิเนียมที่ตนซื้อกรรมสิทธิ์ขายกรรมสิทธิ์หรืออยู่อาศัย เพราะระบบอาคารชุดมีจำนวนห้องชุดจำนวนหลายห้อง อาจมากกว่าร้อย หรือพันห้อง เป็นห้องชุดที่ติดต่อกัน 

อีกทั้งยังมีทรัพย์ส่วนกลางจำนวนหลายรายการที่เจ้าของร่วม ผู้พักอาศัย จำเป็นต้องใช้ร่วมกัน จะสะอาด หรือติดเชื้อไวรัสหรือไม่หรือเจ้าของร่วม บางราย ละเลยมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสมากน้อยหรือไม่ เพียงใด 

อย่างไรก็ตาม จากการสังเกตุ อาคารชุด คอนโดมิเนียม จำนวนหลายแห่ง ได้พบเห็นตลอดจนการวางมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ มี.ค.2563 จากนิติบุคคลอาคารชุด โดยฝ่ายจัดการอาคาร คณะกรรมการ และผู้จัดการ ดังต่อไปนี้

1.การตรวจคัดกรองเจ้าของร่วมผู้พักอาศัย วัดอุณหภูมิ ด้วยเทอร์โมสแกนก่อนเข้าลิฟท์ และห้องชุด

กรณีพบเจ้าของร่วม ผู้พักอาศัยที่มีอุณหภูมิสูงเกินกว่า 37 ํc  ก็ควรขอให้ลงทะเบียน ชี้แจง บอกกล่าว เพื่อการเข้าตรวจรักษาผู้ป่วยได้แต่เนิ่นๆ

2.การชี้แจง ให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องของเชื้อโควิด และแนวทางการป้องกันการติดเชื้อไวรัสดังกล่าว

3.การขอความร่วมมือเจ้าของร่วมผู้พักอาศัย ทุกคน สวมหน้ากากอนามัย หรือผ้าทุกครั้ง เมื่อออกจากห้องชุดของตน และอยู่ในบริเวณพื้นที่ส่วนกลาง

ทั้งนี้ เพื่อป้องกัน ลด หรือไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ หรือแพร่เชื้อไวรัสดังกล่าว

4.วางเจล หรือแอลกอฮอลล์ชะล้างมือทุกครั้งก่อนสัมผัสอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ทรัพย์ส่วนกลาง

ก่อนใช้อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ดังกล่าว

ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัย ลด หรือแพร่การกระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 (ถ้ามี) กับบริเวณหรือทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด

5.ฉีด พ่นแอลกอฮอลล์ ทำความสะอาดเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสในบริเวณทรัพย์ส่วนกลางภายในอาคารชุดทุกแห่ง อาจสัปดาห์ละครั้ง หรือตามความเหมาะสม เพื่อลด ป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสในพื้นที่ส่วนกลางดังกล่าว

6.ปิดสระว่ายน้ำ ห้องออกกำลังกาย ห้องสมุด ห้องเอนกประสงค์ฯลฯ เป็นการชั่วคราว นอกจากเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสได้ระดับหนึ่งแล้ว ยังเป็นการให้ความร่วมมือกับส่วนราชการ

7.หมั่นทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องใช้ทรัพย์ส่วนกลางที่ใช้เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกัน และลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว

8.การจัดประชุมคณะกรรมการ เมื่อมีความจำเป็น ต้องใช้ระยะห่างอย่างน้อย ๑.๕ ถึง ๒ เมตรหรือ

Sociai distancing และสวมหน้ากากอนามัย เป็นต้น

9.การจัดประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วมประจำปี หรือ AGM เพื่อรายงานผลการดำเนินงานและขออนุมัติงบดุลประจำปีต่อที่ประชุมเจ้าของร่วม

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2563 กรมที่ดิน ได้ประกาศ แนวทางการจัดประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วมของนิติบุคคลอาคารชุดที่มีรอบระยะเวลาสิ้นสุด ธ.ค.ของทุกปี สามารถดำเนินการได้สองแนวทาง ซึ่งนิติบุคคลอาคารชุดสามารถเลือกแนวปฏิบัติเพื่อการดังกล่าวได้ และ

10.การชำระค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลและส่วนกลาง อาจล่าช้ากว่ากำหนด ซึ่งการแพร่ระบาดอย่างแพร่หลายในทุกภาคส่วน อาจส่งผลให้เจ้าของร่วมบางราย ถูกเลิกจ้างจากองค์กร หน่วยงาน ดังนั้น การชำระค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล และค่าส่วนกลาง ซึ่งนิติบุคคลอาคารชุดมีหน้าที่เรียกเก็บ และเจ้าของร่วม ผู้พักอาศัย มีหน้าที่จ่าย หรือชำระภายในกำหนดเวลาตามที่แจ้งให้ทราบ อาจจำเป็นต้องช่วยเหลือแก่เจ้าของร่วม และผู้พักอาศัยจำนวนดังกล่าว ด้วยมาตรการผ่อนผัน ผ่อนปรนการชำระค่าใช้จ่ายในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อมิให้เกิดภาวะความตึงเครียดแก่เจ้าของร่วม และผู้พักอาศัย เมื่อสถานการณ์ทุกอย่างคลี่คลาย นิติบุคคลอาคารชุดอาจกลับเข้าสู่ตามระบบ และแผนงานตามที่กำหนดไว้

ร่วมกัน อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ครับ

โดย... พิสิฐ ชูประสิทธิ์