ดาลิโอ - บัฟเฟตต์ 'คู่คนละขั้ว'

ดาลิโอ - บัฟเฟตต์ 'คู่คนละขั้ว'

ถนนสู่ความสำเร็จไม่ได้มีสายเดียว ขอให้เลือกทางเดินที่ถนัด

หนึ่งในนักลงทุนชื่อกระฉ่อนโลกที่ถูกถามถึงอย่างมากท่ามกลางวิกฤติโคโรนาไวรัส คือ เรย์ ดาลิโอ มหาเศรษฐี ผู้จัดการกองทุน Bridgewater เฮดจ์ฟันด์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นผู้เขียน PRINCIPLES หนังสือเบสต์เซลเลอร์อันดับหนึ่งระดับนานาชาติเมื่อไม่นานมานี้

วันนี้จะชวนทุกท่านมาศึกษาการลงทุนของดาลิโอแบบย่นย่อ เพื่อให้เห็นถึงแนวคิดของเขาและปรับเอาไปใช้กับการลงทุนของตัวเอง โดยขอแบ่งออกเป็นข้อๆ เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ ดังนี้ครับ

หนึ่ง) ดาลิโอลงทุนใน ETF หรือหน่วยลงทุนที่ซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์เสมือนหุ้นเป็นหลัก โดยเขามี ETF อยู่หลายจำพวก ไม่ว่าจะเป็น ETF ที่ลงทุนใน emerging markets หรือตลาดเกิดใหม่ ซึ่งประกอบไปด้วยหุ้นของหลายประเทศ เช่น จีน บราซิล ไต้หวัน อินเดีย เกาหลีใต้ ไม่เว้นแม้แต่หุ้นไทย

ETF อีกหนึ่งจำพวกที่ดาลิโอลงทุนไว้เยอะพอสมควร คือ ETF ที่อิงกับ S&P 500 ซึ่งแม้จะลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ประเทศเดียว แต่แบ่งเงินไปไว้ในหุ้นจำนวนถึง 500 ตัว

จะเห็นได้ว่า ดาลิโอเป็นนักลงทุนที่เน้น diversify คือ 'กระจายการลงทุน' ไปในสินทรัพย์ 'หลายประเภท' และ 'หลายประเทศ' เรียกได้ว่าเป็นการ diversify ซ้อนกันหลายเลเวล รับประกันความสะเทิ้นน้ำ-สะเทิ้นบก

สอง) ดาลิโอแนะนำให้กันเงินส่วนหนึ่งไว้ลงทุนใน 'ทองคำ' เขามองว่าเราควรมีทองคำเพื่อ 'รักษามูลค่า' เนื่องจากในช่วงเวลาแห่งความผันผวนที่มีหนี้ล้นตลาดและมีการพิมพ์เงินเข้ามาเรื่อยๆ อย่างตอนนี้ ทองคำจะช่วยให้นักลงทุนคงความมั่งคั่งเอาไว้ได้

สาม) ดาลิโอไม่ชอบเงินสด เขาบอกว่า 'เงินสดคือการลงทุนที่แย่ที่สุดเสมอ' และถึงขั้นใช้คำว่า 'อันตราย' เพราะแม้ตัวของมันเองจะเป็นสภาพคล่อง แต่มันจะถูกทำลายมูลค่าอย่างรุนแรงจากเงินเฟ้อและภาษี ซึ่งมากัดเซาะอำนาจซื้อให้ลดลง

จะเห็นได้ว่า สไตล์การลงทุนของดาลิโอแตกต่างอย่างมากจาก วอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่นิยม 'มุ่งเน้น' โดยซื้อหุ้นของทั้งบริษัท หรือซื้อหุ้นของแต่ละบริษัทในจำนวนมากๆ เพื่อให้ได้อำนาจควบคุม และแทบไม่เคยซื้อกองทุนที่บริหารจัดการโดยคนอื่น นอกจากนี้ 'ปู่' ยังไม่สนใจสินทรัพย์อย่างทองคำเลยแม้แต่น้อย เพราะมองว่าเป็นการลงทุนที่ไม่ก่อให้เกิดผลตอบแทนใดๆ แม้เขาจะมีมุมมองต่อเงินสดที่คล้ายคลึงกับดาลิโอก็ตาม

แต่ไม่ว่าจะเป็น 'คู่คนละขั้ว' กันอย่างไร ทั้งสองต่างก็ประสบความสำเร็จสูงมากในระดับต้นๆ ของโลก นี่จึงเป็นบทเรียนแก่เราว่า ถนนสู่ความสำเร็จไม่ได้มีสายเดียว ขอให้เลือกทางเดินที่ถนัด แล้วทำตัวเองให้เชี่ยวชาญในเส้นทางที่เลือกเดิน ก็ล้วนมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ไม่มากไม่น้อยไปกว่ากัน

ขอเพียงอย่าสับสน ลังเล ไปทางโน้นทีทางนี้ที เอาโน่นนี่มาปะปนกันมั่วไปหมด ใครบอกอะไรก็เชื่อเขา อย่างนั้นคงไปได้ไม่ถึงไหน ยิ่งเจอวิกฤติ มีหวังตายสนิทแน่นอน!