ไวรัสกับการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของชาวโลก

ไวรัสกับการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของชาวโลก

ณ วันนี้ คงเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าปัญหาสาหัสจากไวรัสโควิด-19 กำลังทำให้ชาวโลกงงเยี่ยงไก่ตาแตก ด้านการรักษาพยาบาลงุนงงกันมาก

เนื่องจากมันเป็นไวรัสใหม่ซึ่งทำให้ความเจ็บป่วยและล้มตายแพร่ขยายไปทั่วโลกแบบแทบฉับพลัน การค้นหายามาบำบัดและวัคซีนป้องกันอาจต้องใช้เวลาเป็นปี การระบาดจึงจะมีต่อไป ส่งผลให้เศรษฐกิจถอดถอยอย่างหนักและอาจยืดเยื้อมากด้วย การถดถอยจากเหตุแนวนี้เคยมีครั้งสุดท้ายเมื่อกว่าร้อยปีมาแล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจึงดูจะงวยงง แต่ยังคงเสนอให้ใช้มาตรการแก้ปัญหาตามแนวคิดเศรษฐกิจกระแสหลัก จากตำราของ “จอห์น เมนาร์ด เคนส์” ซึ่งเขียนขึ้นหลังจากการถดถอยเมื่อร้อยปีก่อน

ไวรัสตัวนี้อุบัติขึ้นมาอย่างไร ทำลายร่างกายของคนอย่างไร และจะกลายพันธุ์ไปอย่างไรหรือไม่ ยังอยู่ในระหว่างการวิจัยของผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาด ผลออกมาอย่างไรจะชี้ทางให้แก่การแก้ปัญหา สำหรับด้านเศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งคงเริ่มคิดแล้วว่า นอกจากการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในปัจจุบันจะทำกันอย่างไรในอนาคต ทั้งสองด้านน่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของชาวโลกอย่างจริงจังหากเราหวังจะอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน

ย้อนไปเมื่อต้นปี 2557 ชาวโลกเผชิญกับไวรัสอีโบลาซึ่งมองกันว่าจะสร้างปัญหาสาหัส ประธานาธิบดีบารัค โอบามาจึงเสนอให้รัฐสภาอเมริกันช่วยเตรียมประเทศเผชิญกับศัตรูใหม่ แต่ข้อเสนอนั้นมิได้นำไปสู่การเปลี่ยนนโยบายอย่างมีนัยสำคัญ ในปีต่อมา บิล เกตส์จึงเสนอว่าควรเปลี่ยนอย่างไร ซึ่งคอลัมน์นี้ประจำวันที่ 3 เม.ย. อ้างถึงแล้ว

ในปาฐกถาสั้น ๆ ต่อชาวโลกเมื่อกลางปี 2558 บิล เกตส์เสนอว่า สงครามใหญ่ครั้งต่อไปจะไม่เกิดระหว่างมนุษย์กับนมุษย์ หากจะเกิดระหว่างมนุษย์กับเชื้อโรคใหม่ซึ่งอีกไม่นานจะปรากฏตัว เชื้อโรคใหม่อาจทำให้คนตายนับล้านเพราะขาดการป้องกัน รวมทั้งการซ้อมรบแบบจริงจังดังเช่นกองทัพ เวลาผ่านไปไม่ถึง 5 ปี ไวรัสโควิด-19 ก็ปรากฏตัว

แม้จะยังคาดการณ์อย่างมั่นใจไม่ได้ว่าไวรัสตัวนี้จะก่อความเสียหายอีกเท่าไร แต่หากชาวโลกเห็นด้วยกับมุมมองของบิล เกตส์ การเตรียมตัวรับเชื้อโรคตัวใหม่จะเป็นงานใหญ่ที่เกิดจากการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ด้านการทหารของโลก นั่นคือ งดผลาญทรัพย์กรจำนวนมหาศาลกับการสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์และจ้างทหาร แต่ใช้ทรัพยากรนั้นช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกันและระบบการรักษาพยาบาลแบบบูรณาการที่มีประสิทธิภาพชั้นเยี่ยมทั่วโลก 

สำหรับด้านเศรษฐกิจ หลังโลกถูกครอบงำมานานโดยแนวคิดเศรษฐกิจกระแสหลัก ซึ่งใช้การเสพเพิ่มขึ้นแบบไม่มีที่สิ้นสุดเป็นตัวขับเคลื่อน ปราชญ์เริ่มพากันมองว่าชาวโลกจะต้องมองหาแนวคิดใหม่พร้อมกับพิจารณาปัจจัยที่ทำให้ทรัพยากรโลกหมดลงอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะจำนวนประชากร เมื่อตอนที่ประเด็นนี้ถูกนำขึ้นมาเสนอ โลกมีประชากรเพียง 3 พันล้านคน ตอนนี้โลกมีใกล้ 8 พันล้านคนแล้วและโดยทั่วไปแต่ละคนพยายามเสพเพิ่มขึ้นชนิดที่ไม่มีคำว่า “พอ”

การเสพที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งยังผลให้ระบบนิเวศถูกทำลายจนขาดสมดุลร้ายแรง จึงมีผู้มองว่าเชื้อโรคตัวใหม่เกิดจากการทำลายนี้และเป็นตัวบ่งชี้ว่า ถ้าชาวโลกไม่ลดจำนวนของตนเองลง เชื้อโรคจะบังคับให้ลด มุมมองทั้งสองนี้จะถูกหรือไม่คงไม่สำคัญ แต่ปราชญ์เริ่มมองกันมานานแล้วว่า ถ้ามนุษย์ชาติประสงค์จะอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน จะต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ด้านเศรษฐกิจไปสู่แนวคิดที่ไม่มีตัวเสพเพิ่มขึ้นแบบไม่มีที่สิ้นสุดเป็นตัวขับเคลื่อน หลายคนเสนอให้ใช้ “ทางสายกลาง” เป็นฐานของกระบวนทัศน์ใหม่รวมทั้ง “อี. เอฟ ชูมัคเกอร์” และ “เจฟฟรี แซคส์” นอกจากนั้น ชุมชนจำนวนมากได้นำทางสายกลางไปใช้จนได้ผลเป็นที่ประจักษ์ เช่น ชุมชนต้นโอ๊คคู่ ซึ่งคอลัมน์นี้อ้างถึงเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2562 เมื่อนำข้อเสนอและข้อมูลทั้งหลายมาพิจารณา ปราชญ์ได้สังเคราะห์ออกมาเป็นแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง

การเปลี่ยนกระบวนทัศน์อาจทำได้ทั้งในระดับบุคคล ชุมชนและประเทศ การเปลี่ยนจะมีผลดีแบบทวีคูณหากชาวโลกมองเห็นภัยทั้งจากไวรัสและจากการเสพเพิ่มขึ้นแบบไม่มีที่สิ้นสุดจึงพร้อมใจกันเปลี่ยน อย่างไรก็ดี ณ วันนี้ยังไม่มีตัวชี้บ่งว่าจะเกิดขึ้น