ตลาดหุ้นน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว

ตลาดหุ้นน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว

ตลาดหุ้นไทยในช่วงเดือนที่ผ่านมามีความผันผวนเป็นอย่างมาก ดัชนีเคลื่อนไหวรุนแรงทั้งขาขึ้นและขาลง

SET index ได้ผ่านการหยุดการซื้อขาย (Circuit Breaker) ถึง 3 ครั้ง และลงไปทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 969 จุด ในวันที่ 13 มีนาคม 2020  หลังจากนั้น ตลาดหุ้นฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจนมาอยู่ในระดับ 1,266 จุดในปัจจุบัน เป็นการฟื้นตัวกว่า 31% ในเวลาเพียงเดือนเดียว สวนทางกับภาวะเศรษฐกิจที่เพิ่งเริ่มหยุดชะงักจากการปิดเมืองและการเคอร์ฟิว แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของ GDP ของไทยในปีนี้ลงเหลือ -5.3%

สาเหตุแรกที่ทำให้ตลาดหุ้นหยุดการปรับลดลงอย่างรุนแรงอย่างในช่วงต้นเดือนมีนาคมมาจากการที่ตลาดหลักทรัพย์ได้ปรับเกณฑ์การขายชอร์ต (Short Sell) สำหรับใช้เป็นการชั่วคราว มีผลบังคับตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 13 มีนาคม 2020 โดยอนุญาตให้ขายชอร์ตได้เฉพาะในราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Last Trading Price) เพื่อเป็นการลดความผันผวนของตลาดหุ้น แรงขายที่เกิดจากการเก็งกำไรในฝั่งขาลงจึงลดน้อยลงไป

ต่อมา เนื่องจากไวรัสโควิด-19 ได้แพร่ระบาดไปในหลายประเทศทั่วโลก เหตุการณ์นี้จึงมีความยิ่งใหญ่และสำคัญที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องร่วมมือกันในการสกัดการแพร่ระบาด รวมถึงในการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาทุกข์ของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองปิดประเทศ ยกตัวอย่างเช่น เฟด มีการปรับดอกเบี้ยฉุกเฉิน ครั้งแรก 50 bps ครั้งที่สอง 100 bps ทำให้อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ 0.25% และมีการประกาศอัดฉีด QE เข้าซื้อตราสารหนี้แบบไม่จำกัดวงเงินและไม่จำกัดเรตติ้ง เมื่อรวมกับมาตรการการคลังที่แจกเงินเข้าสู่มือประชาชนที่ตกงานและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกว่าอีก 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ การอัดฉีดชุดนี้ถือว่าออกมาได้รวดเร็วและเป็นการปล่อยกระสุนลูกใหญ่มากของสหรัฐอเมริกา ทางฝั่งเอเชียก็ไม่ได้ด้อยไปกว่ากัน สิงคโปร์อัดฉีดเงิน 3.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 11% ของจีดีพี ญี่ปุ่นวางแผนกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 9.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเกือบ 20% ของจีดีพี เป็นต้น

ประเทศไทยเองก็มีการเตรียมรับมือค่อนข้างดี ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินเช่นกัน โดยลดลง 25 bps ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ 0.75% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในประวัติการณ์ และประกาศให้ความช่วยเหลือด้านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) แก่ผู้ประกอบการธุรกิจวงเงิน 5 แสนล้านบาท อีกทั้งยังประกาศเข้าซื้อตราสารทางการเงินของบริษัทเอกชนโดยตรง ที่ครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2020 และ 2021 ที่ไม่มีวงเงินจากสถาบันการเงินหรือไม่สามารถออกตราสารหนี้ใหม่เพื่อไถ่ถอนตราสารหนี้เดิมที่จะครบกำหนดได้ เป็นวงเงินกว่า 4 แสนล้านบาท เพื่อเป็นการป้องกันบริษัทล้มละลายจากการขาดสภาพคล่องในภาวะวิกฤตินี้ ส่วนในฝั่งนโยบายการคลัง รัฐบาลได้มีการแจกเงินเยียวยารายละ 5,000 บาทเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือนให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปิดกิจการบางประเภท และเริ่มทยอยออกมาตรการเยียวยาลูกจ้างประเภทอื่น ๆ รวมถึงภาคเกษตร ในวงเงินกว่า 1 ล้านล้านบาท

มาตรการทางการเงินและการคลังของแต่ละประเทศที่ออกมา เป็นการปิดความเสี่ยงในด้านขาลงของตลาดหุ้น เนื่องจากยังมีสภาพคล่องมากมายที่มารองรับ แต่การที่ตลาดหุ้นจะกลับเป็นขาขึ้นได้นั้น ต้องมาจากการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส หรือการพบวัคซีนป้องกัน หากมาดูตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวันของประเทศไทย จะเห็นได้ค่อนข้างชัดเจนว่าได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว โดยในปัจจุบัน จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ที่ระดับประมาณ 30 คนต่อวันเป็นเวลากว่าสัปดาห์แล้ว ลดลงจากช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ระดับ 100 คนต่อวันอย่างมีนัยสำคัญ แสดงให้เห็นว่ามาตรการควบคุมโรคของประเทศไทยค่อนข้างมีประสิทธิภาพ และหากตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลน่าจะประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ในบางพื้นที่และบางกิจการในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม และเศรษฐกิจน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัว

การที่ตลาดหุ้นขึ้นมาอย่างรวดเร็วในรอบนี้ จึงเป็นการตอบสนองล่วงหน้าต่อการเปิดเมืองไประดับหนึ่งแล้ว แต่วิกฤติในรอบนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และกำไรต่อหุ้นของตลาดจะยังคงถูกปรับลดลงต่อเนื่อง ดังนั้น สำหรับนักลงทุนระยะยาว การเข้าซื้อหุ้นเพื่อลงทุนในช่วงนี้จึงควรเลือกลงทุนให้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบน้อย หรือได้รับผลกระทบบ้างแต่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว และหลีกเลี่ยงหุ้นที่ได้รับผลกระทบมากเกินไป และมีหนี้สินที่มีดอกเบี้ยในระดับสูง เพราะบริษัทเหล่านี้อาจไม่สามารถอยู่รอดไปจนถึงช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ครับ