แปลภาษาอังกฤษ

แปลภาษาอังกฤษ

การใช้ชีวิตอย่างลุ่มๆ ดอนๆ ระเหเร่ร่อนในต่างประเทศยาวนานนับสิบปีนั้น

ทำให้ผมได้อะไรหลายอย่างที่เชื่อว่า เหล่านักเรียนทุนหรือนักเรียนไทยที่มีฐานะดีไม่มีโอกาสได้รับเหมือนผม การมีชีวิตตีนถีบปากกัด ทำให้บางช่วงบางตอนของการใช้ชีวิตค่อนข้างหมิ่นเหม่กับการเป็นคนจรจัด แม้จะดำรงความเป็นนักเรียนต่างชาติที่ถูกกฎหมายมาโดยตลอด ด้วยเหตุนี้ ผมจึงคุ้นเคยกับการใช้ภาษาอังกฤษที่คนเรียนหนังสือไม่รู้ เพราะเป็นภาษาที่พูดกันในหมู่คนข้างถนน (street language) ที่บ้านเราเรียกว่า ภาษาตลาด ความที่คลุกคลีกับคนระดับล่างของสังคมที่โน่น โดยเฉพาะคนที่หนีเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย ทำให้ได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษแปลกๆ ที่ผสมกันจนไม่รู้ว่าเป็นภาษาของใครกันแน่

เมื่อผมทำงานกับพวกที่หนีเข้าเมือง ว่ายน้ำข้ามแม่น้ำริโอกราง ที่เป็นพรมแดนระหว่างเม็กซิโกกับสหรัฐ ก็มีเพื่อนมากมายจากอเมริกาใต้ที่ไม่เฉพาะเม็กซิกัน เพราะมีตั้งแต่เอลซัลวาดอร์ ปานามา กัวเตมาลา แม้กระทั่งเปรู พวกเราเป็นอมิโก (Amigo) คือเป็นเพื่อนกัน หรือถ้าภาษาอีสานบ้านเฮา ก็เป็น เสี่ยว กัน เมื่อผมไปอยู่รัฐทางใต้ เช่น มิสซิสซิปปี้ ที่สำเนียงพูดแบบใต้จ๋า ก็พูดสำเนียงใต้กับเขา ใครอยากรู้ว่าสำเนียงคนใต้ที่สหรัฐเป็นแบบไหน ลองไปดูหนัง Gone with the wind

ผมมีความสามารถในการเห่า (bark) ได้ไม่แพ้มะกัน การเห่า หรือ barking คือการโฆษณาให้ลูกค้ามาซื้อหาหรือใช้บริการที่บริษัทเสนอขาย ผมเคยเป็นแคชเชียร์ของคาสิโน ที่เมืองรีโน่ รัฐเนวาด้าหลายภาคฤดูร้อนตอนปิดเทอม การเป็นแคชเชียร์ไม่ใช่แค่เก็บเงินคิดเงินแต่ต้องเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวมาใช้บริการที่เราดูแล เขาเรียกว่า barker คือคนเห่า เมื่อมีเพื่อนแบบนี้มากๆ เข้า ผมก็กลายเป็นคนหยาบๆ กระด้างๆ คล้ายพวกเขามากขึ้นทุกที ใครที่คิดว่าจะด่าผมหยาบๆ โดยคิดว่าไม่รู้อาจจะคิดผิด เพราะนอกจากรู้แล้ว ยังด่ากลับได้อย่างหยาบๆ ไม่แพ้กัน

เมื่อผมกลับมาเมืองไทย นอกเหนือจากการทำงานในฐานะนักกฎหมายแล้ว ผมก็เป็นนักแปลด้วย โดยขึ้นทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแปลและการล่ามของสำนักงานศาลยุติธรรมนาน 2 สมัย รวม 6 ปี การเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านแปลและล่ามของศาลยุติธรรมนั้นไม่ใช่ง่ายๆ ที่ใครยื่นเรื่องก็ได้ แต่ต้องมีการสอบทั้งข้อเขียนและปากเปล่าจากผู้ทรงคุณวุฒิระดับศาสตราจารย์ด้านภาษาอังกฤษ

มีเรื่องขำๆ ตอนสอบเป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรมด้านแปลและล่ามภาษาอังกฤษ เรื่องมีอยู่ว่า ในการสอบบ่ายวันนั้นมีผู้เข้าสอบ 2 คน คณะกรรมการสอบประกอบด้วยเลขาธิการศาลยุติธรรม กับอีก 2 ศาสตราจารย์ด้านภาษาอังกฤษจากคณะอักษรศาสตร์จุฬา รวมเป็น 3 คน การสอบมีทั้งข้อเขียนแปลไทยเป็นอังกฤษ กับอังกฤษเป็นไทยอย่างละ 2 หน้ากระดาษ จากนั้นถึงจะสอบปากเปล่ากับคณะกรรมการ สอบแปลนั้นให้เวลาไม่มากนัก จึงต้องบริหารเวลาให้ดีๆ

ผมเลือกแปลภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษก่อน แน่นอนว่าเป็นทั้งภาษากฎหมายและสังคมเศรษฐกิจการเมือง ใช้เวลาไม่มาก แต่เพลินไปหน่อย ก่อนกลับมาดูที่ให้แปลเป็นภาษาไทย ผลก็คือ แปลเป็นไทยได้แค่ย่อหน้าเดียว จาก 2 หน้ากระดาษ เจ้าหน้าที่มาบอกว่าหมดเวลาแล้ว อย่างนี้ก็ต้องสอบตก เพราะไม่ได้ทำข้อสอบครบ ทำใจว่าคงไม่ผ่าน แต่เจ้าหน้าที่ก็บอกให้รอคณะกรรมการสอบจะว่าอย่างไร อย่าเพิ่งกลับ คณะกรรมการสอบให้ผมเข้าห้อง และตั้งคำถามว่าทำไมแปลแต่ไทยเป็นอังกฤษ ไม่แปลอังกฤษเป็นไทย ผมก็ตอบตามจริงว่า เพลินไปหน่อย แปลเป็นอังกฤษนั้นสนุกดี เลยไม่ดูเวลา ยอมรับ ถ้าไม่ผ่านก็ไม่เป็นไร คณะกรรมการบอกว่า ปกติแปลไทยเป็นอังกฤษนั้นยากกว่าอังกฤษเป็นไทย แต่ผมแปลเป็นอังกฤษดีมาก แต่กลับไม่แปลเป็นไทย ที่ง่ายมาก คณะกรรมการบอกว่า ถ้างั้นคุณแปลที่เหลือด้วยคำพูดตอนนี้เลย ไม่ต้องเขียนให้เราอ่าน ผมอ่านกระดาษภาษาอังกฤษและพูดเป็นภาษาไทย เหมือนกับการทำหน้าที่ล่ามจนคณะกรรมการบอกว่าพอแล้ว ไม่ต้องเยอะ แล้วก็บอกว่าผ่านได้ ก็แปลกดี ควรจะสอบตก กลายเป็นสอบได้

ผมทำหน้าที่แปลและล่ามให้กับหลายองค์กรในคดีใหญ่ๆ ไม่ว่าเรื่องคดีอนุญาโตตุลาการโฮปเวลล์ คดีคุณทักษิณหลายคดี ทั้งแพ่งทั้งอาญาที่คู่ความเป็นบริษัทต่างประเทศ คดีรถดับเพลิงของ กทม. คดีแต่ละคดีมูลค่าหลายพันล้านบาท จนถึงหมื่นล้านบาท เป็นอีกด้านหนึ่งของคนที่ผ่านชีวิตแบบลุ่มๆดอนๆ กว่าจะมาถึงวันนี้