เศรษฐสารชี้เป้าจังหวัดนำร่องเอ็กซ์ซิท(Exit)

เศรษฐสารชี้เป้าจังหวัดนำร่องเอ็กซ์ซิท(Exit)

วันนี้จะขอชวนคุยกันต่อในเรื่องวิธีการออกจากล็อคดาวน์(lockdown exit strategy)

ตามที่ได้เกริ่นไปบ้างแล้วในคอลัมน์ ‘เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ’ ในกรุงเทพธุรกิจ เมื่อช่วงต้นเดือน เพราะเห็นว่าเริ่มมีการนำเสนอวิธีออกกันในหลายประเทศแล้ว เช่น จีน เยอรมนี สหรัฐ และเกาหลีใต้ เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยนั้น ล่าสุดได้มีข้อเสนอใหม่มาจากทางกลุ่มแพทย์ผู้ใหญ่ (นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ และคณะ) เรื่อง“การเปลี่ยนผ่านจากมาตรการ กึ่งล็อคดาวน์ เข้าสู่มาตรการ สร้างเสถียรภาพ” ที่นำเสนอต่อศบค.เพื่อพิจารณา โดยมีสาระหลักสำคัญสรุปได้ดังนี้

“การเปลี่ยนผ่านจากมาตรการกึ่งล๊อคดาวน์ไปสู่มาตรการสร้างเสถียรภาพควรต้องเตรียมตัวและให้มั่นใจว่ามาตรการที่สำคัญยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนผ่านแบบรวดเร็ว และควรดำเนินการโดยเริ่มจากจังหวัดกลุ่มแรกที่ไม่พบผู้ป่วยใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา(ประมาณ 32 จังหวัด) สามารถเริ่มได้ในต้นเดือน พ.ค.หลังจากนั้นจึงเริ่มในกลุ่มที่ 2 คือ จังหวัดที่พบผู้ป่วยติดเชื้อในพื้นที่แบบประปราย(ประมาณ 38 จังหวัด) ช่วงกลางเดือนพ.ค. สำหรับกลุ่มที่ 3 คือจังหวัดที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่องเป็นกลุ่มก้อน(ประมาณ 7 จังหวัด)

หากจังหวัดเหล่านี้สามารถลดการระบาดลงมาได้ในระดับต่ำตามเกณฑ์และไม่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ ก็ควรให้เริ่มเปลี่ยนผ่านได้ในต้นเดือน มิ.ย. ซึ่งทั้งหมดจะเป็นจริงได้ ต้องอาศัยองค์ประกอบที่สำคัญ 5 ประการคือ (1) เพิ่มความเข้มข้นในมาตรการทางสาธารณสุขและการแพทย์ (2) ทำให้ทุกคนเข้าใจและปฏิบัติตามมาตรการสุขลักษณะ (3) เปิดให้ธุรกิจเริ่มเดินหน้า (4) การปิดแหล่งแพร่โรคสำคัญ และ (5) มีระบบเฝ้าระวังตรวจจับและคาดการณ์ความรวดเร็วของการแพร่ระบาดในระดับพื้นที่และระดับประเทศ”

ข้อเสนอดังกล่าวนี้น่าสนใจยิ่ง เพราะมีการพิจารณาปัญหาที่อิงกับข้อมูลทางด้านสาธารณสุขและผลการควบคุมการแพร่ระบาดที่รอบด้าน จนนำไปสู่ข้อเสนอทางออกที่เป็นรูปธรรมชัดเจนเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ผู้เขียนขออนุญาตนำเสนอข้อสังเกตุและความเห็นเพื่อแลกเปลี่ยนเรื่อง “ล็อคดาวน์ เอ็กซ์ซิท” ดังนี้

ประการแรก ในเรื่องที่ว่า “ควรดำเนินการ(ออกจากมาตรการกึ่งล็อคดาวน์) โดยเริ่มจากจังหวัดกลุ่มแรกที่ไม่พบผู้ป่วยใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น เราขอตั้งข้อสังเกตุว่า จังหวัดเหล่านี้ส่วนหนึ่งไม่น้อยต่างก็ตั้งอยู่กระจัดการจายในเชิงพื้นที่ คือไม่ใช่กลุ่มจังหวัดที่มีรอยต่อติดกันทั้งหมด ดังนั้น หากจังหวัดเหล่านี้ได้รับอนุญาตให้ออกจากมาตรการล็อคดาวน์ได้ก่อนแล้ว เชื่อว่าน่าจะมีประชาชนในจังหวัดอื่นที่เป็นผู้ตกงานหรือแรงงานนอกระบบที่ต้องหาเช้ากินค่ำจำนวนมาก อาจจำเป็นต้องพากันเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อไปหางานทำชั่วคราวในจังหวัดที่มีการคลายล็อคดาวน์ก่อน เพราะมีต้นทุนในการเดินทางที่ต่ำเนื่องจากอยู่ใกล้(ต้นทุนส่วนตัวหรือ private cost ที่ต่ำ) จึงอาจเป็นสาเหตุทำให้มีการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสที่มาจากจังหวัดอื่นกันได้มากขึ้นภายหลังจากการปลดล็อคในกลุ่มแรกหรือไม่(เพราะมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ และต้นทุนทางสังคมหรือ social cost ที่สูงจากผลของแรงงานข้ามจังหวัด) นอกจากนี้แล้วความพยายามของรัฐในการจะสกัดกั้นไม่ให้มีแรงงานอพยพข้ามจังหวัดก็ทำได้ยาก เพราะมีต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ที่สูงเนื่องจากจังหวัดที่ได้รับการคลายล็อคดาวน์ก่อนนั้นตั้งอยู่กระจัดกระจายพอสมควร

ประการที่ 2 รัฐบาลจำเป็นต้องออกแบบ “ระบบแรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์” ที่ช่วยชดเชยให้กับประชาชนในจังหวัดอื่นโดยรอบอย่างเหมาะสมด้วย ซึ่งหลายคนเป็นทั้งผู้ตกงานและผู้ตกหล่นที่ไม่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทต่อเดือน ดังนั้น จึงต้องจูงใจให้คนเหล่านี้ปฏิบัติตามมาตรการของรัฐโดยสมัครใจด้วยการเยียวยาเพิ่ม เพื่อทำให้รัฐมีต้นทุนที่น้อยลงในการตรวจสอบผู้ละเมิดมาตรการคลายล็อคดาวน์นี้

วิธีการทดลองนำร่องในชั้นแรกนั้น รัฐบาลควรเริ่มจากการเลือกกลุ่มจังหวัดมาราว 5 จังหวัดที่มีพื้นที่ติดกันและมาจากจังหวัดในกลุ่ม 32 จังหวัดแรก และบางจังหวัดจากกลุ่ม 38 จังหวัดหลังมารวมกัน เพื่อทดลองนำร่องใช้ก่อนในช่วงต้นพ.ค.นี้ เช่น จังหวัดปทุมธานี อยุธยา สระบุรี ลพบุรี และนครนายกเป็นต้น เพื่อใช้เป็นกลุ่มจังหวัดแรกที่จะมีการคลายมาตรการล็อคดาวน์เพราะเป็นกลุ่มจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกันและสามารถควบคุมผู้ป่วยได้ผลดีตามเกณฑ์ ศบค. ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องชดเชยเยียวยาให้กับประชาชนที่อยู่ในจังหวัดรอบๆ ที่มีฐานะยากจนหรือเป็นแรงงานนอกระบบที่ประกอบอาชีพรับจ้างอิสระในกรุงเทพฯ นนทบุรี และนครราชสีมา เป็นต้น 

ทั้งนี้ก็เพื่อสกัดกั้นไม่ให้แรงงานเหล่านี้เคลื่อนย้ายเข้าไปหางานทำในพื้นที่กลุ่มจังหวัดที่ได้รับการคลายล็อคดาวน์ก่อน ซึ่งมาตรการชดเชยเพิ่มเติมนี้ก็ควรจะเป็นการชดเชยเพิ่มจากเงิน 5,000 บาทต่อเดือนของรัฐก่อนหน้านี้ด้วย เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ยังมีผู้ตกงานจำนวนไม่น้อยที่ยังตกหล่นขาดสิทธิ์รับเงิน 5,000 บาทต่อเดือนนี้อยู่ ข้อดีของการทดลองนำร่องนี้ก็คือ จะช่วยให้ทางกลุ่มแพทย์ได้ทราบถึงปัญหาในการดำเนินตามองค์ประกอบ 5 ประการที่ได้นำเสนอไว้ข้างต้น ในขณะที่ภาครัฐเองก็จะได้ข้อมูลการพึ่งพาเชื่อมโยงกันเองทางเศรษฐกิจในกลุ่มจังหวัดทั้ง 5 และกับจังหวัดอื่นที่อยู่รอบนอกด้วย ซึ่งก็จะช่วยให้เห็นถึงปัญหาความยากง่ายในคลายมาตรการล็อคดาวน์ในระดับพื้นที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ดังนั้น เราจึงต้องมีทั้งระบบแรงจูงใจที่เป็นธรรมและระบบการติดตามตรวจวัดเชื้อโดยแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขที่ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ควบคู่กันไป เพราะทั้ง 2 ระบบนี้จะช่วยสร้างความสำเร็จให้กับมาตรการคลายล็อคดาวน์เพื่อยืดเวลารอให้ยาวออกไปจนกว่าจะมีการค้นพบวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสนี้ในที่สุด