กฎหมายควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางกีฬา

กฎหมายควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางกีฬา

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19(COVID-19) ที่ขยายเป็นวงกว้างไปทั่วโลก

ส่งผลให้คณะกรรมการโอลิมปิกสากล ประกาศเลื่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 ที่จะจัดขึ้นที่กรุงโตเกียวไปจัดในปี 2021 โดยจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ค. - 8 ส.ค. และจัดกีฬาพาราลิมปิก ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. - 5 ก.ย. ด้วยเหตุผลสำคัญ 3 ประการ 1.เพื่อปกป้องสุขภาพและผลประโยชน์ของนักกีฬาและผู้ที่เกี่ยวข้อง 2.เพื่อช่วยหยุดการแพร่ระบาดของ COVID-19 3.เพื่อยังคงไว้ซึ่งปฏิทินการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศไม่ให้กระทบต่อตัวนักกีฬาและสหพันธ์กีฬานานาชาติ

ทั้งนี้ ก่อนที่มหกรรมการแข่งขันกีฬาจะถูกจัดขึ้นนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าจะต้องมีกระบวนการหนึ่งที่สำคัญ นั่นคือ การตรวจสารต้องห้ามทางกีฬาหรือการใช้สารกระตุ้น โดยมีองค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก(World Anti-Doping Agency: WADA) ทำหน้าที่ออกนโยบาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับ ที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามในการแข่งขันกีฬาเพื่อให้สหพันธ์กีฬานานาชาติและประเทศสมาชิกนำไปปฏิบัติตาม

WADA ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 พ.ย.1999 ณ เมืองโลซาน ตามกฎหมายเอกชนของสวิตเซอร์แลนด์ โดยได้รับเงินสนับสนุนจากองค์กรกีฬาและประเทศที่เข้าเป็นสมาชิก และในปี 2003 ได้มีการจัดทำประมวลกฎหมายการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก(World Anti-Doping Code) ปัจจุบันสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองมอนทรีออล รัฐควิเบก ประเทศแคนาดา

ประมวลกฎหมายดังกล่าวเป็นเอกสารหลักที่สำคัญในการกำหนดนโยบาย กฎ และข้อบังคับที่เกี่ยวกับการต่อต้านการใช้สารกระตุ้นภายในองค์กรและหน่วยงานสาธารณะด้านกีฬาทั่วโลก ซึ่งได้กำหนดไว้ 6 งานที่สำคัญ ดังนี้ 1.งานการทดสอบ 2.งานห้องปฏิบัติการ 3.งานกำหนดข้อยกเว้นการใช้เพื่อการรักษา 4.งานกำหนดรายการของสารต้องห้ามและวิธีการใช้ 5.งานปกป้องความเป็นส่วนตัวและข้อมูลส่วนบุคคลของนักกีฬา และ 6.งานติดตามการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายฯ

ปัจจุบันองค์กรกีฬามากกว่า 660 แห่งได้รับการยอมรับในการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามทางกีฬา เริ่มตั้งแต่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล(IOC), คณะกรรมการพาราลิมปิกสากล(IPC), สหพันธ์กีฬานานาชาติ(IFs) และ IFs ที่ได้รับการยอมรับจาก IOC ทั้งหมด, คณะกรรมการโอลิมปิกและพาราลิมปิกแห่งชาติ, องค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามทางกีฬาแห่งชาติ

โดยผู้ที่จะเข้าเป็นสมาชิกจะต้องดำเนินการ 3 ขั้นตอน 1.การยอมรับ 2.การปฏิบัติตาม และ 3.การบังคับใช้ โดยการยอมรับหมายความว่าผู้ลงนามเข้าเป็นสมาชิกยอมรับหลักการของหลักจรรยาบรรณตามที่กำหนดไว้ และจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

เหตุผลพื้นฐานสำหรับการจัดทำประมวลกฎหมายดังกล่าว ก็เพื่อพยายามรักษาคุณค่าที่แท้จริงของการกีฬาไว้ ซึ่งเรียกกันว่า จิตวิญญาณแห่งการเล่นกีฬา ซึ่งเป็นสาระสำคัญของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่แสดงให้เห็นว่า การแข่งขันกีฬาที่แท้จริงคืออะไร

จิตวิญญาณของการเล่นกีฬา คือ การเฉลิมฉลองจิตวิญญาณของมนุษย์ทั้งทางร่างกายและจิตใจโดยเอกลักษณ์เฉพาะ ดังนี้ จริยธรรมการเล่นที่ยุติธรรมและความซื่อสัตย์ สุขภาพ ความเป็นเลิศด้านประสิทธิภาพ การเรียนรู้ ความสนุกและความสุข การทำงานเป็นทีม การอุทิศตนและความมุ่งมั่น เคารพกฎกติกา เคารพตนเองและผู้เข้าร่วมอื่น ๆ ความกล้าหาญ ซึ่งจะเห็นได้ว่าการใช้สารต้องห้ามหรือสารกระตุ้นนั้น เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับจิตวิญญาณของการเล่นกีฬาโดยสิ้นเชิง

ตั้งแต่ปี 1948 ประเทศไทยได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย และได้เข้าเป็นสมาชิกในคณะกรรมการโอลิมปิกสากลอย่างเป็นทางการในปี 1950 ส่งผลให้ไทยมีข้อผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับต่างๆ ของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ดังนั้น ไทยจึงตราพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ.2555(ค.ศ.2012) ขึ้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค.2556 เป็นต้นมา

พ.ร.บ.นี้กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมการใช้สารต้องห้ามฯ โดยให้มีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ เช่น กำหนดนโยบายและควบคุมดูแลโดยทั่วไปในการดำเนินการของสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามฯ เสนอแนะรัฐมนตรีในการกำหนดรายชื่อของสารต้องห้ามฯ ออกระเบียบหรือประกาศเกี่ยวกับการพิจารณาโทษ มาตรฐาน และมาตรการลงโทษ ส่งเสริมการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับสารต้องห้ามฯแก่นักกีฬา เป็นต้น

การควบคุมการใช้สารต้องห้ามฯจึงมีความสำคัญยิ่งในการแข่งขันกีฬาเพื่อให้เกิดความยุติธรรม ซึ่งเป็นไปตามคำ 3 คำที่เกิดมาพร้อมกับกีฬาโอลิมปิก Citius (swifter) : ความเร็ว ผู้เข้าร่วมการแข่งขันต้องวิ่งให้เร็วที่สุด Altius (higher) : ความสูง ผู้เข้าร่วมการแข่งขันต้องทำให้สูงที่สุด และ Fortius (stronger) : ความแข็งแรง ผู้เข้าร่วมการแข่งขันต้องมีความแข็งแกร่งที่สุด โดยทั้ง 3 อย่างนี้ต้องเกิดจากการพัฒนาศักยภาพทางด้านกีฬาโดยการฝึกฝนที่แท้จริงปราศจากสิ่งกระตุ้นที่ปรุงแต่งเข้าไปในร่างกาย.

โดย...

พรพล เทศทอง 

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์