พร้อมเปิดทำการ?

พร้อมเปิดทำการ?

เป็นเวลาเกินกว่า 1 เดือนแล้ว ที่โลกปิดทำการ เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสร้ายที่ทำร้ายมนุษยชาติ

 กว่า 2 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลกชะงักงัน อันเป็นผลจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ธุรกิจห้างร้านทั้งในยุโรป อเมริกา และเอเชีย ต่างปิดกิจการ คนงานจำนวนมากถูกพักงาน อัตราว่างงานพุ่งขึ้นสูงดั่งจรวด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจก็ดำดิ่ง จน IMF ประมาณการว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้กำลังเข้าสู่วิกฤตที่หนักหนาที่สุดในรอบกว่าศตวรรษ

 แต่ตลาดการเงินกลับเป็นคนละภาพ หลังจากตกต่ำอย่างรุนแรงในเดือน มี.ค. สถานการณ์การลงทุนเริ่มกลับมาดีขึ้นในเดือน เม.ย. ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1-8% ผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลกปรับตัวลดลงโดยเฉพาะระยะยาว หลังจากธนาคารกลางทั่วโลกอัดฉีดสภาพคล่องเพื่อลดความตึงตัวในตลาดการเงิน

จะมีเพียงแต่ตลาดโภคภัณฑ์ที่ยังผันผวน โดยราคาน้ำมันดิบลดลงกว่า 50% จากความต้องการซื้อที่ลดลงตามทิศทางเศรษฐกิจ แม้ว่าผู้ผลิตหลักอย่าง OPEC+ จะประกาศลดกำลังการผลิตถึงเกือบ 10 ล้านบาร์เรลต่อวันแล้วก็ตาม

SCBS มองว่า สาเหตุหลักที่ราคาสินทรัพย์เสี่ยงฟื้นตัวขึ้นในเดือน เม.ย. เนื่องจากสาเหตุสำคัญ 3 ประการ คือ

(1) สถานการณ์ COVID-19 ดูดีขึ้น โดยจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ต่อวันที่ลดลงอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ผลจากมาตรการ “ปิดเมือง” ช่วงก่อนหน้า แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ในบางประเทศ เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ จะยังอยู่ในระดับสูงก็ตาม    

(2) มาตรการเยียวยาของภาครัฐทั่วโลก โดยเฉพาะมาตรการ QE ที่เป็นบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยง โดยหลังจากเกิดวิกฤตการเงินทั่วโลกในเดือน มี.ค. จากการตึงตัวของตลาดเงินระยะสั้น (Money market) และลามเข้าสู่ทุกตลาดจนทำให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นมาก ธนาคารกลางทั่วโลกได้อัดฉีดสภาพคล่องมหาศาล ทำให้งบดุลของ 4 ธนาคารกลางหลักของโลก (สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น และอังกฤษ) เพิ่มขึ้นถึง 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนเดียว สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งสภาพคล่องมหาศาลเช่นนี้มีส่วนสำคัญทำให้สินทรัพย์เสี่ยงไปต่อได้ทั้ง ๆ ที่แนวโน้มเศรษฐกิจและธุรกิจในอนาคตไม่สดใส   

(3) ตลาดรับรู้ความเลวร้ายของเศรษฐกิจในระดับหนึ่งแล้ว โดยแม้ว่า IMF จะคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะหดตัวถึง -3% ต่ำที่สุดในรอบ 90 ปี ผลจากมาตรการ Social distancing ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจจีนไตรมาส 1 ที่เป็นสัญญาณเตือนของเศรษฐกิจโลก (เนื่องจากจีนเผชิญกับโรคและทำการ "ปิดเมือง" ก่อนประเทศอื่น) แต่ราคาสินทรัพย์เสี่ยงก็ไม่ได้ลดลงรุนแรง เนื่องจากนักลงทุนเชื่อว่าไตรมาส 2 จะเป็น "ก้นเหว" ก่อนที่จะฟื้นตัวเมื่อประเทศต่าง ๆ เริ่มทำการเปิดเมือง

 เรามองว่า ปัจจัยการ "เปิดเมือง" จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในช่วงถัดไป โดยในปัจจุบัน หลายประเทศเริ่มพิจารณาเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสเปนที่อนุญาตให้คนงานก่อสร้างกลับมาทำงาน อิตาลีที่เริ่มเปิดร้านหนังสือและเครื่องเขียน และเดนมาร์คที่อนุญาตให้เด็กกลับไปเรียนหนังสือได้ ส่วนประธานาธิบดีทรัมพ์ก็ได้ออกแนวทางในการเปิดเมืองต่าง ๆ หลังจากผู้ว่าการรัฐต่าง ๆ เริ่มประกาศแผนที่จะเปิดเมืองอีกครั้ง ขณะที่ในไทยเอง ทางรัฐบาลและภาคเอกชนก็ได้ออกแนวทางในการเปิดกิจกรรมเศรษฐกิจเช่นกัน

 เรามองว่า การที่ประเทศใด ๆ จะเปิดเมืองได้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจาก 3 แนวทาง คือ

(1) จำนวนผู้ป่วยใหม่ต้องผ่านจุดสูงสุดแล้วและเริ่มลดลง ขณะที่ผู้หายป่วยต้องมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับผู้ป่วยทั้งหมด ซึ่งประเทศที่เข้าเกณฑ์เหล่านี้ได้แก่ ไทย ฝรั่งเศส เยอรมนี และอิหร่าน

(2) ภาระด้านการแพทย์เริ่มลดลงหลังจากผู้ป่วยใหม่น้อยกว่าผู้หายป่วยต่อวัน เช่น ในเยอรมนี อิหร่าน และไทย

(3) ทรัพยากรด้านการแพทย์เพียงพอต่อการระบาดครั้งใหม่ โดยเฉพาะในยุโรปและญี่ปุ่น และจากเกณฑ์ทั้งสาม เราเชื่อว่า ประเทศที่พร้อมเปิดอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้แก่ จีน ไทย ฝรั่งเศส เยอรมนี และอิหร่าน ขณะที่ประเทศที่ยังไม่ควรผ่อนคลายมาตรการ Social distancing ในปัจจุบัน ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ประเทศต้องเปิดอย่างค่อยเป็นค่อยไปและควรเข้มงวดผู้เดินทางเข้าออกระหว่างประเทศเพื่อจำกัดการนำเข้าผู้ป่วย (Imported case)

 แม้ปัจจัยบวกด้านการลงทุนจะดูดีขึ้น แต่เรายังคงแนะนำให้รอจังหวะเข้าลงทุนอย่างระมัดระวัง เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงต่อการลงทุนยังคงอยู่ อันได้แก่

(1) เศรษฐกิจในอนาคตจะตกต่ำกว่าปัจจุบัน ซึ่งจะกระทบต่อผลประกอบการและความสามารถในการดำรงธุรกิจในระยะต่อไป

(2) ราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงจากความต้องการที่ลดลง (กว่า 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน) มากกว่ากำลังการผลิต (ที่หายไปประมาณ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ทำให้เป็นผลลบต่อธุรกิจพลังงานและทำให้ความเสี่ยงเงินฝืดมากขึ้น

(3) การ "เปิดเมือง" หากรวดเร็วเกินไปและไม่รัดกุมอาจนำมาสู่การติดเชื้อรอบสองได้ (ดังเช่นกรณีสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และจีนในช่วงที่ผ่านมา)

ดังนั้น เราจึงแนะนำให้เพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน โดยควรเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดีเป็นหลัก และได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดจำกัด เช่น หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี และเฮลท์แคร์ของสหรัฐฯ เป็นต้น นอกจากนั้น เรายังคงคำแนะนำรวมถึงหุ้นกู้เอกชนคุณภาพดี รวมถึง REITs/IFF และทองคำ

แม้ตลาดจะดูดีขึ้น แต่ความเสี่ยงยังคงสูง นักลงทุน โปรดดำเนินการอย่างระมัดระวัง