กลยุทธ์เพื่อรองรับ "Disruption + Recession"

กลยุทธ์เพื่อรองรับ "Disruption + Recession"

ภายใต้สถานการณ์โควิดที่ดูเหมือนว่าจะดีขึ้น เชื่อว่าผู้นำองค์กรหลายๆ ท่านจะเริ่มคิดถึงกลยุทธ์ที่เหมาะสมสำหรับองค์กรภายหลังสถานการณ์ผ่านพ้นไป

อย่างไรก็ดีความท้าทายที่สำคัญคือ โควิดนั้นนำไปสู่ทั้ง Disruption และ Recession พร้อมๆ กัน (น่าจะรวมสองคำนี้แล้วเรียกว่า Discession ไปเลย) โควิดนำไปสู่ Disruption เนื่องจากทำให้วิธีการทำธุรกิจและการทำงานแบบเดิมๆ ต้องเปลี่ยนแปลงไปในหลายอุตสาหกรรม ทำให้เกิด New Normal ขึ้นในหลายๆ ด้าน ขณะเดียวกัน Recession หรือภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจก็จะเป็นสิ่งที่จะต้องเผชิญแน่ๆ เพียงแต่ว่าจะรุนแรงหรือยาวนานเพียงใด

ในอดีตองค์กรธุรกิจเจอเพียงแค่ Disruption หรือ Recession เพียงแค่อย่างใดอย่างหนึ่งก็ทำให้ผู้บริหารต่างๆ ต้องพลิกตำราเพื่อแก้ไขสถานการณ์กันไม่ทันแล้ว แต่คราวนี้เมื่อเหตุการณ์ทั้งสองอย่างเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ก็คงต้องเอาตำรากลยุทธ์ของแต่ละสถานการณ์มาหล่อหลอมรวมกันแล้ว

เริ่มจาก Disruption ก่อน องค์กรที่ล้มเหลวจำนวนมากเมื่อถูก Disrupt นั้นสาเหตุไม่เกิดจากกลยุทธ์หรือการทำในสิ่งที่ผิดพลาด แต่เกิดจากการยังคงทำในสิ่งที่ถูกต้องในอดีตต่อไปเรื่อยๆ หลายองค์กรล้มเหลวไม่ใช่เพราะทำในสิ่งที่ผิดพลาด แต่เนื่องจากยังคงยึดติดและทำตามในสิ่งที่เคยทำให้ตนเองประสบความสำเร็จในอดีต ซึ่งเมื่อเผชิญกับสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่ถูก Disrupt สิ่งที่เคยทำถูกมาแต่ในอดีต อาจจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องในปัจจุบันและอนาคตได้

ดังนั้น ถ้าผู้บริหารคิดว่าอุตสาหกรรมหรือธุรกิจของท่านกำลังถูก Disrupt จากสถานการณ์โควิดในครั้งนี้ และอยากจะเห็นองค์กรประสบความสำเร็จต่อไป ก็จะต้องคิดไว้ก่อนเลยว่าจะไม่สามารถทำแบบเดิมๆ ที่เคยทำมาจนประสบความสำเร็จในอดีตได้อีกต่อไป

ขณะเดียวกันเมื่อเผชิญกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ก็ใช่ว่าจะทำให้ยอดขายและกำไรขององค์ต้องถดถอยตามไปด้วย มีงานศึกษาวิจัยภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอดีต ทั้งที่ตีพิมพ์ลง HBR ทั้งของ Bain และ ของ McKinsey ที่พบว่าจะมีบริษัทอยู่ประมาณ 10% ที่กลับมีผลประกอบการที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยและบริษัทอื่นๆ ประสบปัญหากัน

สาเหตุที่ทำให้บริษัทจำนวนหนึ่งสามารถก้าวข้ามภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้อย่างสง่างามนั้น เริ่มจากการเตรียมตัวและวางแผนที่ดี โดยเริ่มจากการวางแผนทางการเงินก่อน นั้นคือ ทั้งพยายามที่จะไม่ก่อหนี้เพิ่ม พยายามลดหนี้ที่มีอยู่ และพบอีกว่าการเตรียมพร้อมเรื่องลดหนี้นั้น ถ้ายิ่งเตรียมตัวก่อนเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเท่าไร จะยิ่งดีขึ้นเท่านั้น (หวังว่าตอนนี้ยังพอทันอยู่นะครับ) นอกจากเรื่องเงินแล้ว สิ่งที่เตรียมพร้อมอีกประการคือเรื่องคน นั้นคือบริษัทที่ประสบความสำเร็จในช่วงนี้นั้น แทนที่จะพยายามหาทางลดต้นทุนด้วยการปลดพนักงาน แต่จะหาทางลดต้นทุนผ่านทางการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานแทน

การปลดพนักงานนั้นนอกเหนือจากจะส่งผลกระทบต่อขวัญ กำลังใจ รวมทั้งชื่อเสียงขององค์กรแล้ว ต้นทุนการว่าจ้างและฝึกอบรมพนักงานใหม่ยังเป็นต้นทุนที่สูงที่บริษัทจะต้องคำนึงถึงเมื่อต้องการจ้างพนักงานกลับเข้ามาใหม่ด้วย ปัจจุบันเราก็เห็นหลายๆ องค์กรพยายามที่จะหาทางลดต้นทุนด้านพนักงานด้วยวิธีการอื่นที่ไม่ใช่การปลด

สุดท้ายคือบริษัทที่ประสบความสำเร็จ จะกระจายอำนาจการตัดสินใจลงไปสู่พนักงานทุกระดับมากขึ้น เนื่องจากความไม่แน่นอนของภาวะถดถอย (รวมทั้งจาก Disruption ด้วย) ต้องการการตัดสินใจที่รวดเร็ว ทันต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทำให้เมื่อการตัดสินใจกระจายไปสู่พนักงานทุกระดับแล้ว พนักงานที่อยู่หน้างานหรือรู้ถึงปัญหาจริงๆ จะสามารถช่วยกันคิดกลยุทธ์ใหม่ๆ ออกแบบผลิตภัณฑ์ กระบวนการ หรือ การให้บริการ ที่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงและความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วขึ้น ดังนั้นข้อแนะนำหนึ่งสำหรับรับมือต่อทั้ง Disruption + Recession นี้คือการปรับโครงสร้างองค์กร ให้กระจายอำนาจการตัดสินใจไปสู่บุคลากรทุกระดับได้มากขึ้น

ก็หวังว่าธุรกิจไทยจะอยู่ใน 10% ของธุรกิจทั้งโลกที่สามารถเติบโตได้อย่างสวยงามภายหลังเหตุการณ์ Disruption + Recession ในครั้งนี้นะครับ