'โควิด-19' ผลกระทบที่มีต่อแรงงานกลุ่มเปราะบาง

'โควิด-19' ผลกระทบที่มีต่อแรงงานกลุ่มเปราะบาง

แรงงานกลุ่มเปราะบางเป็นแรงงานกลุ่มที่จะเจ็บตัวมากที่สุดจากโควิด-19 และก็เป็นแรงงานกลุ่มที่จะเจ็บตัวมากที่สุดจากดิสรัปชั่น

เพราะเป็นกลุ่มที่มีการศึกษาไม่สูง และมีลักษณะอื่นที่ทำให้เสี่ยงต่อถูกเลิกจ้างสูงกว่าแรงงานปกติ เช่น ทำงานในเศรษฐกิจนอกระบบ รับค่าแรงรายวัน มีความพิการ หรือเป็นชนกลุ่มน้อย เป็นต้น

สำหรับคนกลุ่มนี้ การตกงานชั่วคราวคือก้าวแรกของการตกงานอย่างถาวร และนี่คือโจทย์ใหญ่ที่ต้องคิดไปพร้อมกับการรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดรายวัน

การเลิกจ้างเพราะโควิด-19 ที่มาพร้อมกับการปรับรูปแบบการทำธุรกิจเพื่อการอยู่รอดในระยะยาว หมายความว่า แม้การระบาดจะสิ้นสุดลง เศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นมาได้ การจ้างงานของแรงงานในกลุ่มนี้ก็จะไม่ได้กลับมาเพิ่มขึ้นมาก เพราะหากดูผลการวิเคราะห์ข้อมูลภาวะการทำงานของประชากรที่จัดเก็บโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ จะพบว่าอาชีพที่ 20 อันดับแรกที่แรงงานเหล่านี้ทำอยู่ ล้วนแต่เป็นงานที่ใช้ทักษะไม่ซับซ้อน จึงสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้แทนได้ หรือสามารถใช้แรงงานข้ามชาติมาแทนได้เช่นกัน โอกาสจะได้กลับมาทำงานในตำแหน่งเดิมจึงมีน้อยลง

นอกจากนี้แล้ว หากเป็นแรงงานจากต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในเมืองแล้วต้องเดินทางกลับบ้านหลังถูกเลิกจ้าง ก็มีแนวโน้มจะไปช่วยงานของครัวเรือน ทำให้คาดได้ว่าแรงงานส่วนใหญ่จะกลับไปสู่ภาคเกษตร ส่วนแรงงานที่ยังอยู่ในเมืองและต้องหางานทำ จะมีอำนาจต่อรองกับนายจ้างน้อยลง อาจต้องทำงานที่หนักขึ้น ได้รับค่าตอบแทนต่ำกว่าเดิม และเป็นการจ้างงานชั่วคราวหรือการจ้างงานนอกระบบ ทำให้ไม่ได้รับการคุ้มครองจากระบบประกันสังคม ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาวของตนเองและครอบครัว

เนื่องจากการศึกษาไม่สูงและงานที่ทำส่วนใหญ่เป็นงานที่ไม่ซับซ้อน แรงงานจึงไม่ได้มีโอกาสพัฒนาทักษะของตัวให้มีมากขึ้นตามระยะเวลาการทำงาน การจะพัฒนาทักษะให้สูงขึ้นหรือสร้างทักษะใหม่เพื่อเปลี่ยนสายงานจึงไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย และก็เป็นการยากที่จะส่งเสริมให้แรงงานเหล่านี้สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองเพื่อเสริมทุนมนุษย์ให้มีมากพอจะสร้างโอกาสในการทำงาน เพราะพื้นฐานความรู้เดิมมีไม่สูงนัก

เมื่อถูกเลิกจ้างนานไป ไม่สามารถหางานที่เหมาะสมทำได้ ทำให้ถูกตัดขาดจากตลาดแรงงาน ยิ่งว่างงานนานเท่าใด โอกาสกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานยิ่งน้อยลงเท่านั้น

แรงงานที่ยังไม่ถูกเลิกจ้าง อาจได้รับเงินเดือนเท่าเดิมแต่ภาระงานเพิ่มขึ้น หรือได้รับเงินเดือนน้อยลง ลดชั่วโมงการทำงาน หรือมีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพและรายได้ลดลงกว่าเดิม ส่วนแรงงานที่ตกงานหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง อาจเลือกทำงานในธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากการระบาดของโควิด-19 เช่น การรับจ้างขับรถส่งอาหาร การขายของออนไลน์ เป็นต้น

ซึ่งงานเหล่านี้เป็นงานที่เกิดขึ้นในระยะเปลี่ยนผ่านและจะหายไปในอนาคต เช่น เมื่อมีรถยนต์หรือโดรนส่งอาหาร เมื่อมีปัญญาประดิษฐ์มาช่วยในการขายสินค้าให้กับลูกค้า เป็นต้น การมีงานทำในปัจจุบันจึงไม่ได้เป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิต

เพื่อรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับแรงงานกลุ่มเสี่ยง จึงต้องมีการประเมินชุดทักษะปัจจุบันที่แรงงานแต่ละคนมี โดยดูจากการศึกษา ประสบการณ์ทำงาน ลักษณะงานที่ทำ ความถนัด และประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดกลุ่มแรงงานตามลักษณะเหล่านี้ นำมาออกแบบระบบการยกระดับทักษะให้สูงขึ้น หรือสร้างทักษะใหม่ที่สอดคล้องกับโอกาสของงานในอนาคต แล้วนำข้อมูลจากการวิเคราะห์ชุดทักษะปัจจุบันเพื่อมาออกแบบหลักสูตรให้เหมาะสมกับแรงงาน โดยพิจารณาจากอุตสาหกรรมที่แรงงานนั้นมีความสามารถจะหางานได้ในอนาคตอันใกล้ (6 เดือน-1 ปี)

ควรจัดเงินอุดหนุนค่าครองชีพให้กับแรงงานที่อยู่ระหว่างการพัฒนาทักษะ โดยพิจารณาจากเศรษฐานะและปัจจัยแวดล้อมอื่นเพื่อเป็นแรงจูงใจให้แรงงานที่ตกงานเข้ามาพัฒนาทักษะ ซึ่งอาจมีการจ่ายคืนในอนาคตเมื่อได้มีรายได้สูงขึ้นถึงระดับหนึ่งแล้ว โดยแรงงานจ่ายเองทั้งหมด หรือให้นายจ้างที่รับแรงงานเข้าไปทำงานร่วมจ่ายด้วยก็ได้

ในโลกของงานที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ควรมีการจัดทำธนาคารหน่วยกิตเพื่อให้แรงงานมีบันทึกการสะสมทักษะ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการติดตาม ให้คำแนะนำและจัดทำหลักสูตรที่เหมาะสมให้ทันท่วงที ตรงกับความถนัดของแรงงานแต่ละคน ช่วยให้แรงงานมีทักษะเพียงพอกับการหางานหรือสร้างอาชีพที่สอดคล้องกับบริบทในโลกของงานที่เปลี่ยนไปได้

แม้ว่าการเตรียมบาซูก้าทางการคลังจะเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชน แต่รัฐบาลจะมาแก้แต่ปัญหาเฉพาะหน้าไม่ได้ หน้าที่ของรัฐบาลคือการสร้างความผาสุกและมั่นคงให้กับชีวิตประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน จึงต้องทำงานแก้ปัญหาระยะสั้นไปคู่กับการเตรียมตัวรับมือผลกระทบในระยะยาว