สงคราม (COVID 19) ยังไม่สงบ ขอเป็นกำลังใจให้นักรบ SMEs

สงคราม (COVID 19) ยังไม่สงบ ขอเป็นกำลังใจให้นักรบ SMEs

เมื่อเดือนกันยายน 2562 ผมได้นำเสนอบทความ “สงคราม(การค้า)ยัง ไม่สงบอย่าพึ่งนับศพ SMEs” ผ่านคอลัมน์นี้ไปแล้ว

โดยได้แสดงความเป็นห่วงผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกากับประเทศจีนทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมากเลิกกิจการ เนื่องจากไม่สามารถเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ปัญหาหนี้สินนอกระบบที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข รัฐบาลได้ให้การช่วยเหลือโดยทุ่มเม็ดเงินเป็นจำนวนมาก แต่การ Implement กลับไม่ได้ผล

ผ่านมาไม่กี่เดือนผู้ประกอบการ SMEs ต้องเผชิญกับสงครามที่รุนแรงกว่า เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉียบพลัน จุดเริ่มต้นของสงครามเกิดจากโรคระบาดที่เราไม่รู้จักมาก่อน

ผลกระทบทางเศรษฐกิจรุนแรงกว่าสงครามการค้าหลายเท่า กิจกรรมทางธุรกิจหยุดชะงัก ไม่มีรายได้ ขาดความสามารถในการชำระหนี้ (Solvency) เลิกจ้างแรงงานทำให้คนว่างงานจำนวนมาก ลำพังการดูแลรักษาให้ชีวิตอยู่รอดจากการคุกคามของไวรัสก็ยากลำบากมาก การรักษาธุรกิจให้อยู่รอดต่อไปจึงเป็นงานที่ยากที่สุดงานหนึ่ง เป็นการรบในสงคราม ที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะสงบ

รัฐบาลได้ใช้ธนาคารของรัฐเป็นหัวหอกในการรบ โดยเริ่มให้ธนาคารออมสินเป็นแหล่งเงินในการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) วงเงิน 150,000 ล้านบาท เพื่อให้สถาบันการเงินอื่นกู้ อัตราดอกเบี้ย 0.01% นำไปปล่อยกู้เพื่อช่วยเหลือลูกค้า อัตราดอกเบี้ย 2% วงเงินต่อรายไม่เกิน 20 ล้านบาท ระยะเวลา 2 ปี และยังมีมาตราการจากธนาคารของรัฐในการผ่อนปรนการชำระหนี้ ทั้ง Grace Period และพักชำระหนี้ทั้งต้นและดอกเบี้ย ลดดอกเบี้ย แต่มาตราการต่าง ๆ ก็ยังไม่เพียงพอที่ช่วยเหลือลูกค้าได้ในวงกว้าง

มาตราการ แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐที่ผ่านมติ ค.ร.ม.เมื่อวันที่ 7 เมษายน ที่ผ่านมา เห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 3 ฉบับ และร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 เพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ระยะที่ 3 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท พรก ฉบับที่ 1 ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธ.ป.ท.) คือ ร่าง พ.ร.ก.ฉบับที่ 2 ให้อำนาจ ธ.ป.ท. ออก Soft loan เพื่อดูแลภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs วงเงิน 500,000 ล้านบาท ร่าง พ.ร.ก.ฉบับที่ 3 เพื่อดูแลเสถียรภาพการเงิน วงเงิน 400,000 ล้านบาท โดยตั้งกองทุน Corporate Bond Liquidity Stabilization หรือ BSF และให้ ธ.ป.ท.ซื้อขายหน่วยลงทุนในกองทุนดังกล่าว

พ.ร.ก.ที่เกี่ยวข้องกับท่านผู้ประกอบการ SMEs คือ พ.ร.ก.ฉบับที่ 2 เพื่อดูแลภาคธุรกิจ SMEs วงเงิน 500,000 ล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อใหม่ 500,000 ล้านบาท สำหรับ

SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% ระยะเวลา 2 ปี และให้ธพว.และ SFIs พักชำระหนี้ (ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย) 6 เดือน สำหรับ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธ.ป.ท.) ได้ออกมาตรการผ่อนปรนในหลายด้าน ทั้งเกณฑ์สภาพคล่อง และได้ออกแนวปฏิบัติให้ธนาคารพาณิชย์ 3 ข้อ และ มติ ครม.ยังผ่อนผันให้ธนาคารพาณิชย์ลดนำเงินส่งเข้ากองทุนเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จาก 0.46% ของฐานเงินฝาก เหลือเพียง 0.23% โดยให้มีผลตั้งแต่ 10 เมษายน 2563 เป็นต้นไป

จากประสบการณ์ที่ทำงานในธนาคารกรุงไทย นานกว่า 30 ปี เคยปล่อยสินเชื่อครั้งแรกวงเงินแค่ 2,000 บาท จนมีหน้าที่ดูแลลูกค้าสินเชื่อหลายแสนล้านบาท ผ่านวิกฤติมาหลายครั้ง ตอนต่อไปผมจะนำเสนอรายละเอียด ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะที่อาจะเป็นประโยชน์ในการช่วยเหลือท่านผู้ประกอบการ SMEs ในการสู้สงครามที่ใหญ่หลวงครั้งนี้..