การให้ธปท. เข้าช่วยเหลือตลาดตราสารหนี้ : ผู้ได้ vs ผู้เสีย

การให้ธปท. เข้าช่วยเหลือตลาดตราสารหนี้ : ผู้ได้ vs ผู้เสีย

ประเด็น พ.ร.ก. เพื่อให้ธปท.ทำการซื้อตราสารหนี้เอกชนที่ครบกำหนดออกใหม่ได้

ตามที่มีการอภิปรายกันถึงประเด็น พ.ร.ก. เพื่อให้ธปท.ทำการซื้อตราสารหนี้เอกชนที่ครบกำหนดออกใหม่ได้นั้น มีการแสดงความคิดเห็นกันอยู่หลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ บทบาทหน้าที่ของธนาคารกลาง ความจำเป็นที่ต้องดำเนินการ รวมไปถึงกลไกในการดำเนินการ ซึ่งแน่นอนว่าทุกฝ่ายทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่างแสดงออกถึงความเป็นห่วงเป็นใยต่อภารกิจนี้ของธปท.

ในที่นี้ จะขอหยิบยกประเด็นที่น่าจะยังเป็นความกังวลในสังคม 2 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกัน คือ 1. การเข้าซื้อตราสารหนี้เอกชนโดยตรงนั้น เป็นการเอื้อให้กับกลุ่มนายทุนที่ออกตราสารและนักลงทุนที่ซื้อตราสารหรือไม่ และ 2. ผลเสียหายที่หากมีเกิดขึ้นใครจะเป็นผู้รับความเสียหาย

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ เมื่อครั้งวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อ 20 ปีก่อน ผลเสียหายที่เกิดจากการเข้ารักษาระบบสถาบันการเงินในวันนั้น หลังจากแบ่งรับแบ่งสู้ความรับผิดชอบระหว่างกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยกันหลายปี ท้ายสุดเป็นระบบแบงก์ที่ต้องดำเนินการจ่ายเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯซึ่งได้ร่วมกันจ่ายกันมาหลายปีแล้ว แม้ว่าแบงก์ที่จ่ายกันในวันนี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นแบงก์ที่ดิ้นรนหาทางเพิ่มทุนกันเอง และไม่ได้เป็นผู้ได้ประโยชน์โดยตรงจากการเข้าช่วยเหลือของกองทุนฟื้นฟูฯในวันนั้นก็ตาม

ด้วยแนวปฏิบัติลักษณะเดียวกัน จึงเสนอให้ไม่ต้องมีการกันงบประมาณของรัฐเพื่อรองรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการเข้าซื้อตราสารหนี้เอกชนในครั้งนี้ของธปท. หากแต่กำหนดให้ความเสียหายที่ถ้ามีเกิดขึ้น จะมีการเรียกเก็บจากผู้ออกตราสารหนี้ทุกรายที่จะมีการออกตราสารหลังจากนี้ (เก็บในลักษณะคล้ายกับค่าธรรมเนียมการออกตราสาร โดยให้ทางสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เป็นผู้ช่วยดำเนินการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวแล้วนำส่งกองทุน BSF) ดังนี้แล้วก็จะสามารถตอบประชาชนได้ว่า ความเสียหายจากการเข้าช่วยตลาดตราสารหนี้ จะถูกชดเชยโดยผู้ออกตราสารหนี้ที่เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ ไม่ใช่การนำเงินภาษีของประชาชนไปช่วยอุ้มกลุ่มทุนต่างๆ กลไกดังกล่าวนี้น่าจะเหมาะสมและเป็นธรรมกว่าการใช้ธนาคารของรัฐในการเข้าซื้อตราสารหนี้ เพราะท้ายสุดหากเกิดความเสียหายต่อธนาคารรัฐ ก็ต้องใช้เงินภาษีของประชาชนเข้าเพิ่มทุนธนาคารเหล่านั้นอยู่ดี อย่างไรก็ตาม การนำส่งเงินชดเชยความเสียหายนี้ควรจะเริ่มเมื่อภาวะตลาดผ่านช่วงวิกฤตินี้ไปแล้ว

แน่นอนว่า คงจะมีเสียงบ่นจากผู้ออกตราสารในภายหลังที่ต้องมาร่วมจ่ายค่าเสียหาย (ถ้ามี) ในครั้งนี้ แต่หากมองในองค์รวมก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้บริษัทเหล่านั้นจะไม่ใช่ผู้สร้างความเสียหายหรือเป็นผู้รับผลประโยชน์โดยครง แต่การที่ยังสามารถมีตลาดตราสารหนี้ให้ระดมทุนได้ ก็เพราะมีกองทุนนี้ช่วยรักษาเสถียรภาพตลาดช่วงเวลาวิกฤตินี้ จึงจำเป็นที่จะต้องร่วมกันจ่ายค่าเสียหายหากมีเกิดขึ้น

สำหรับอัตราเงินนำส่งนั้น เพื่อให้ไม่เกิดความบิดเบือนในโครงสร้างเส้นผลตอบแทนตราสารหนี้ (corporate bond yield curve) มากเกินไป อาจกำหนดอัตราเงินนำส่งในลักษณะลูกลอย เป็นร้อยละของอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลที่อายุเดียวกันกับตราสารที่จะออกนั้นๆ (เช่น คิดที่ร้อยละ 10 ของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่อายุเดียวกัน) หรือ อาจกำหนดเป็นค่าร้อยละของค่า credit spread ที่อายุตราสารนั้นๆก็ได้ ทั้งนี้ หากความเสียหายที่จะมีเกิดขึ้นมีไม่มาก ตลาดตราสารหนี้ก็คงไม่ต้องนำส่งเงินชดเชยความเสียหายนี้นานนัก

ด้วยความเปราะบางของตลาดและภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน การดำเนินการเข้าซื้อตราสารหนี้เอกชนโดยตรงของธนาคารกลางอาจเป็นสิ่งใหม่สำหรับประเทศเรา แต่ดูเป็นสิ่งจำเป็นและได้มีการปฏิบัติใช้ในหลายประเทศแล้ว หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอดังกล่าวนี้อาจพอเป็นแนวทางออกของการดำเนินการได้

หมายเหตุ บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่ผูกพันหรือเกี่ยวข้องกับหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด