5G กับปัญหาทรรศนะอุจาด (visual pollution)

5G กับปัญหาทรรศนะอุจาด (visual pollution)

ล่าสุดไทยได้มีการประมูล 5G ในวันที่ 16 ก.พ. 2563 โดยมีผู้เข้าร่วมประมูลทั้งสิ้น 5 ราย ประกอบไปด้วย

บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ตัวแทนจาก AIS, บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ตัวแทนจาก TRUE, บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) ตัวแทนจาก DTAC, บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT

ผลจากการประมูลทำให้ผู้เข้าร่วมประมูลแต่ละรายถือครองคลื่นความถี่จากการประมูล 5G โดยคิดเป็นรายได้จากการประมูลครั้งนี้ทั้งสิ้น 100,521 ล้านบาท แบ่งเป็นคลื่นความถี่ 700MHz มีเงินประมูลรวม 51,460 ล้านบาท, คลื่นความถี่ 2600MHz มีเงินประมูลรวม 37,434 ล้านบาท และคลื่นความถี่ 26GHz มีเงินประมูลรวม 11,627 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานและการนำไปใช้งานจริงในชีวิตประจำวันของผู้ใช้งานทั่วๆ ไป จำเป็นที่จะต้องมีองค์ประกอบหลายๆ อย่าง เพราะแม้ว่าเทคโนโลยี 5G สามารถออกแบบให้สามารถใช้ความถี่ได้หลายย่าน แต่ความมีประสิทธิภาพของการส่งข้อมูลจะอยู่ที่ความถี่ที่สูงมาก ซึ่งโดยธรรมชาติของคลื่นวิทยุความถี่สูงจะมีระยะทางในการเดินทางของคลื่นในระยะทางสั้นๆ ส่งผลให้การนำเทคโนโลยี 5G ความถี่สูงมากมาใช้งานต้องการจุดติดตั้งสายอากาศเพื่อกระจายคลื่นเป็นจำนวนมาก นั่นหมายความว่า หากต้องการให้สัญญาณความถี่สูงมีประสิทธิภาพจะต้องติดตั้งเสาส่งสัญญาณจำนวนมาก อันจะส่งผลให้เสาส่งสัญญาณผุดขึ้นราวดอกเห็ดในแทบทุกซอกทุกมุมของพื้นที่บริการ

ทั้งนี้ การติดตั้งขาดความพิถีพิถันและการคิดออกแบบอย่างรอบคอบ อาจจะส่งผลต่อความสวยงามของทัศนียภาพ ที่อาจกลายเป็นการสร้างความอุจาดทางทัศนียภาพ หรือที่เรียกว่า ทรรศนะอุจาด” (visual pollution) ซึ่งหมายถึงมลพิษทางสายตา ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาในยุคเทคโนโลยี 5G จึงควรมีการกำกับดูแลที่เหมาะสมในเรื่องของการติดตั้งอุปกรณ์กระจายสัญญาณโทรคมนาคม

ในประเทศไทยการกำกับดูแลเพื่อป้องกันปัญหาทรรศนะอุจาดถูกระบุไว้ในประกาศของสำนักงาน กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการใช้สิทธิในการปัก หรือตั้งเสา หรือเดินสาย วางท่อ หรือติดตั้งอุปกรณ์ประกอบใดในการให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2560 โดยมีการระบุรายละเอียดให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมส่งเอกสารที่วิเคราะห์ถึงผลกระทบด้านทัศนียภาพในบริเวณพื้นที่รอบๆ สำหรับการใช้สิทธิในการปักหรือตั้งเสา หรือการติดตั้งอุปกรณ์ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการคมนาคม ประกอบกับมีการส่งเสริมการลงทุนและการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบด้านทัศนียภาพได้ โดยมีอนุกรรมการการพิจารณาสิทธิแห่งทาง เรียกโดยย่อว่า “กพส.” จํานวน 5 คน ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ในด้านโทรคมนาคม การประเมินราคาทรัพย์สิน วิศวกรรม สิ่งแวดล้อม หรือกฎหมาย ด้านละ 1 คน โดยมีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี มีอำนาจหน้าที่หลักๆ ดังนี้

1.พิจารณาให้ความเห็นแผนผังแสดงรายละเอียดของลักษณะทิศทาง และแนวเขตในการปัก หรือตั้งเสา เดินสาย วางท่อ และการติดตั้งอุปกรณ์ประกอบ

2.พิจารณาและเสนอความเห็นการวิเคราะห์ผลกระทบการกำกับดูแลและสภาพแวดล้อม (Regulatory Impact Analysis (RIA) และ Environmental Impact Analysis (EIA))

3.พิจารณากำหนดหลักการ วิธีการคิดคํานวณจำนวนเงินค่าตอบแทนและค่าเสียหายในการใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือทรัพย์สิน ทั้งในส่วนของผู้รับใบอนุญาต หรือผู้ดูแลรักษา หรือเจ้าของ หรือผู้ครอบครองที่ดินหรือทรัพย์สิน

4.เชิญผู้รับใบอนุญาต หรือหน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล หรือขอข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาดังกล่าวข้างต้นได้

ส่วนในอเมริกา การกำกับดูแลทรรศนะอุจาดของประเทศสหรัฐแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น แต่จะมีข้อกำหนดที่คล้ายๆ กัน ได้แก่ การใช้เสาร่วมกัน(Collocation) การกำหนดรูปแบบเสา(Design) การแทนที่เสาเดิมด้วยเสาอัจฉริยะ (Replacement) การกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสม (Preferred Location) และการกำหนดระยะห่างขั้นต่ำ (Spacing Requirement) เช่น เมืองพิตต์สเบิร์ก (Pittsburgh) ในรัฐเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) กำหนดมาตรฐานการติดตั้งอุปกรณ์กระจายสัญญาณโทรคมนาคมทั่วทั้งเมืองตามกฎหมาย City of Pittsburgh Art Commission 2018 ซึ่งใช้มาตรการหลัก ๆ คือ การส่งเสริมให้เกิดการใช้โครงสร้างสำหรับติดตั้งเสาอากาศร่วมกัน และการแทนที่เสาเดิมด้วยเสาอัจฉริยะ โดยเสาอัจฉริยะใหม่ต้องมีลักษณะที่คล้ายหรือใกล้เคียงกับเสาเดิม เป็นต้น

จริงอยู่ที่ว่าการผลัดเปลี่ยนสู่เทคโนโลยีสื่อสารยุคใหม่สร้างความหลากหลายของการประยุกต์ใช้งานอินเตอร์เน็ตอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในอนาคต และนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้กับอุตสาหกรรมการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอันใหญ่หลวงให้กับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติเป็นอย่างมากนั้น ซึ่งรวมถึงโอกาสใหม่ๆ ที่ย่อมเกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของสังคมได้

การขยายตัวของกิจการโทรคมนาคมนั้นมีความจำเป็น ซึ่งไม่มีใครปฏิเสธว่า 5G เป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังพุ่งเป้าให้ความสนใจกัน แต่ในอีกมุมหนึ่งที่จำเป็นต้องพิจารณาควบคู่กันไปก็คือ ปัญหาการติดตั้งอุปกรณ์ 5G ที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในบางชุมชนเนื่องจากเป็นการสร้างมลพิษทางสายตาหรือทัศนะอุจาด (Visual pollution) ที่ทำลายทัศนียภาพที่สวยงามของเมืองนั้นก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน.

โดย... 

ดร.อรัชมน พิเชฐวรกุล

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์