หุ้นตก กับ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (2)

หุ้นตก กับ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (2)

ครั้งที่แล้ว ได้พูดถึงว่าเราควรทำอย่างไรกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของตนเอง ที่เปิดโอกาสให้สมาชิกเลือกการลงทุนได้ด้วยตนเอง (Employee Choice)

 ในภาวะเช่นนี้ ซึ่งมีหลายท่านที่ได้อ่านไปแล้ว เกิดความสงสัยว่า ถ้าตนเองเกษียณปีนี้ หรือจะเกษียณในช่วงเวลาไม่เกิน 10 ปีจากนี้ล่ะ จะทำอย่างไรดี?

1.จะเกษียณปีนี้แล้ว หุ้นจะกลับขึ้นมาทันภายในเดือนกันยายนนี้ไหม? เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ว่าวิกฤติครั้งนี้ จะส่งผลต่อตลาดหุ้นในลักษณะ V หรือ U กันแน่ เพราะวิกฤติหลายครั้งที่ผ่านมา แม้ส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงอย่างรุนแรง แต่ก็ปรับตัวขึ้นได้อย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาไม่นานนัก ขณะเดียวกันก็มีอีกหลายคนที่กังวลว่าวิกฤติครั้งนี้ จะนำพาเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ส่งผลให้ตลาดหุ้นซึมเซาลากยาว ดังที่เคยเกิดขึ้นในสหรัฐฯเมื่อพ.ศ. 2472 หรือเมื่อ 91 ปีมาแล้ว

  ซึ่งไม่ว่าตลาดจะฟื้นตัวในลักษณะใด แต่ถ้าท่านจะเกษียณปีนี้แล้ว ก็อย่ากังวลใจไปให้เสียสุขภาพ แต่ควรเตรียมแผนจัดการที่เหมาะสมจะดีกว่า ด้วยการคงเงินไว้ในนโยบายการลงทุนเดิมเมื่อเกษียณอายุ เช่น หากปัจจุบันมีหุ้นในสัดส่วน 40% ของเงินลงทุน ก็ให้คงสัดส่วนนั้นไว้ในกองทุนฯเมื่อวันเกษียณ เพราะหากท่านถอนเงินออกมาก่อน หรือโยกเงินออกจากกองทุนหุ้น โดยที่ตลาดหุ้นยังไม่ฟื้นตัว ก็เท่ากับตัดโอกาสตนเองโดยสิ้นเชิงที่จะรอให้เงินลงทุนในกองทุนหุ้นนั้นฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ในอนาคต

   แล้ว “ถ้าไม่มีเงินเก็บก้อนอื่น จะเอาเงินที่ไหนกิน? อย่าลืมว่าท่านยังมีสิทธิได้รับค่าชดเชยกรณีเกษียณอายุตามอายุงาน ซึ่ง หากทำงานถึงเกษียณ มักทำงานติดต่อกันตั้งแต่ 10 - 20 ปีขึ้นไป เท่ากับจะได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่ 300 – 400 วัน นอกจากนี้ หากท่านได้สมทบเงินเข้ากองทุนประกันสังคมตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป และเงินเดือน 60 เดือนสุดท้ายเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 15,000 บาท จะมีสิทธิได้รับบำนาญชราภาพอีก 3,000 – 4,350 บาทต่อเดือน ซึ่งหากใช้อย่างถนอม น่าจะช่วยดำรงชีวิตไปได้อีกอย่างน้อย 3 - 4  ปีเลยทีเดียว ซื้อเวลาให้ท่านยังไม่ต้องไปแตะต้องเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่ยังขาดทุนจากวิกฤติครั้งนี้ได้ (และหากไม่พอ ก็ยังสามารถนำเงินกองทุนฯในส่วนที่ลงทุนไว้ในตราสารหนี้ (หากมี) ออกมาใช้ก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด)    

2.จะเกษียณอีก 7 ปีข้างหน้า ถ้าเศรษฐกิจโลกจะตกต่ำครั้งใหญ่ หนีหุ้นตอนนี้เลย ดีไหม? ภาวะตกต่ำครั้งใหญ่ของเศรษฐกิจ ที่เคยเกิดขึ้น กินเวลายาวนานถึง 25 ปีกว่าที่ดัชนีหุ้นสหรัฐฯจะผ่านจุดสูงสุดเดิมไปได้ (อ่านถึงตรงนี้ ก็อย่าเพิ่งตกใจเลิกอ่านไปเสียก่อน) แต่สิ่งสำคัญหนึ่งที่หลายคนมักมิได้นำมาประกอบการพิจารณา ก็คือ “พลังของเงินปันผล” ที่ทบไปบนเงินลงทุนเดิม ตลอดระยะเวลา 25 ปีนั้น บริษัทต่างๆที่เป็นส่วนประกอบในดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ แม้จะมีผลประกอบการแย่ลงมาก แต่ก็ยังจ่ายเงินปันผล และเงินปันผลที่ว่านั้น เมื่อนำมาลงทุนต่อในหุ้นที่ราคาต่ำมากเมื่อเทียบกับช่วงปกติ ก็ทำให้ระยะการคืนทุนของผู้ลงทุน (Breakeven) จากการเริ่มลงทุน ณ จุดสูงสุดของดัชนี ใช้เวลาเพียง 7 ปีเท่านั้น และหากได้ลงทุนต่อเนื่องถึง 30 ปี จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ยสูงถึง 7.5% ต่อปี ซึ่งนับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับการถือเงินหรือตราสารหนี้ในช่วงเดียวกัน

3.ถือเงินสดไปเลย หรือโยกเงินไปๆมาๆระหว่างหุ้นและตราสารหนี้ดีกว่ากัน? Ray Dalio นักคิด นักเขียนชื่อดัง และผู้ก่อตั้ง Bridgewater เฮดจ์ฟันด์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก วัย 70 ปี ได้กล่าวถึงการลงทุนในช่วงนี้ไว้ว่า การเข้าๆออกๆจากสินทรัพย์ประเภทต่างๆเพื่อ (ให้ได้ผลตอบแทน) ชนะตลาดนั้น ยากยิ่งกว่าการได้เหรียญทองโอลิมปิก ซึ่งคนทั่วไปก็ไม่ได้คิดจะไปแข่งโอลิมปิก แต่หลายคนกลับเชื่อว่าตนเองจะสามารถเอาชนะตลาดได้ ผู้ลงทุนจึงควรที่จะให้ความสำคัญกับการกระจายการลงทุนในหลากหลายประเภทสินทรัพย์ ประเทศ รวมถึงสกุลเงิน และอย่าเห็นว่าการถือเงินสดหรือสินทรัพย์ใกล้เคียงเงินสดเป็นการลงทุนที่ปลอดภัย เพียงเพราะผลตอบแทนไม่ผันผวน เพราะอันที่จริงแล้วเงินสดเป็นสิ่งที่ด้อยค่าลงอย่างรวดเร็ว และนับเป็นการลงทุนที่น่าสนใจน้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ   

หวังว่านี่จะช่วยเป็นแนวทางหนึ่งให้กับสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่ออิสระทางการเงินที่ยั่งยืนได้ในระยะยาว