วิเคราะห์สถานการณ์ หลัง ‘โควิด-19’

วิเคราะห์สถานการณ์  หลัง ‘โควิด-19’

บทเรียนสำคัญให้เกิดการเรียนรู้และวางแผนรับมืออนาคต

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของทุกคนทั่วโลก และทำให้ภาครัฐรวมถึงเอกชนออกมาตรการต่างๆ เพื่อรับมือกับเหตุการณ์นี้ ทั้งในแง่สุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม 

บทความนี้ผมจึงอยากตั้งคำถามว่า เราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากสิ่งที่เกิดขึ้น มนุษย์ต้องปรับตัวอย่างไร และองค์กรต่างๆ ควรมีความร่วมมือกันอย่างไรบ้าง หากต้องเผชิญกับเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต

เศรษฐกิจ การออกนโยบายปิดประเทศ ส่งผลกระทบให้จำนวนนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของไทยลดน้อยลง ทำให้จากนี้ไปรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ อาจต้องตระหนักถึงการสร้างนโยบายส่งเสริมกลุ่มธุรกิจอื่นๆ และสร้างการรับรู้ในวงกว้างว่าไทยไม่ได้มีดีแค่การท่องเที่ยวเท่านั้น 

เช่น ธุรกิจด้านสุขภาพที่ปัจจุบันสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศไทยไม่แพ้ธุรกิจอื่น มีลูกค้าหลักมาจากกลุ่มประเทศอาเซียนและตะวันออกกลาง และอีกด้านที่ควรส่งเสริม คือ ด้านเทคโนโลยี เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยในการพัฒนาด้านต่างๆ และสร้างมูลค่าให้แก่ประเทศได้อย่างยั่งยืน

สังคม หลายองค์กรออกนโยบายเวิร์คฟรอมโฮมสอดคล้องกับมาตรการ Social Distancing ทำให้พนักงานและองค์การต่างๆ ปรับตัวสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น องค์กรที่เกี่ยวข้องกับระบบอินเตอร์เน็ตจะต้องวางแผนพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เพียงพอรองรับกับความต้องการของผู้ใช้และตอบโจทย์การทำงานระยะไกล (Remote working)

ธุรกิจร้านค้าก็ได้รับบทเรียนครั้งใหญ่ เมื่อผู้คนไม่สามารถออกไปซื้อของและรับประทานอาหารที่ร้านได้ ทำให้ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญของการค้าออนไลน์มากขึ้น เช่น มีระบบสั่งสินค้าออนไลน์และจัดส่งถึงผู้บริโภค จริงอยู่ที่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ผู้ที่อยู่รอดคือผู้ที่นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ข่าวสารและการประชาสัมพันธ์ ในขณะที่ทุกคนต่างก็ให้ความสนใจข่าวสารและข้อมูลการแพร่ระบาดของไวรัสเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดการสร้างข่าวเท็จหรือแชร์ข้อมูลที่ผิดออกไปมากขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียเป็นวงกว้าง 

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องคำนึงถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีตรวจจับข้อมูลเท็จ(deep fake) ซึ่งเป็นเหมือนด่านแรกในการคัดกรองข่าวสารก่อนการเผยแพร่ และเราเองในฐานะผู้เสพข่าว (ซึ่งบางครั้งก็เป็นผู้ส่งต่อข้อมูล) จำเป็นต้องพิจารณาข้อมูลก่อนที่จะกระจายข่าวสารนั้นออกไปเช่นกัน

เทคโนโลยี ในหลายประเทศรวมถึงไทยเองมีการพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาทันทีเพื่อนำมาช่วยจัดการกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น ชุดตรวจ COVID เพื่อช่วยให้สามารถตรวจสอบเชื้อไวรัสได้รวดเร็วขึ้นและราคาถูกลง รวมถึงระบบ Thermal Infrared Face Recognition ระบบสแกนและจดจำใบหน้าที่เพิ่มความสามารถในการวัดอุณหภูมิของบุคคลนั้นได้ด้วย เพื่อนำมาใช้คัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้นได้อย่างรวดเร็วและเพิ่มความปลอดภัยต่อบุคลากรทางการแพทย์

นอกจากนี้ทุกประเทศต่างให้ความสำคัญกับการค้นคว้าวิจัย การใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data science) และการแชร์ข้อมูลต่างๆ เพราะเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกัน และช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์ สามารถวางแผนรับมือต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปได้ 

ยกตัวอย่างเช่น ในหลายประเทศมีการสร้างโมเดลเพื่อยืนยันความสำคัญของการทำ Social Distancing ว่ามีนัยยะสำคัญอย่างไรต่อการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส, แคนาดามีการศึกษาจำนวนสถิติการแพร่กระจายจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ เพื่อให้เอไอวิเคราะห์และทำนาย(predict) การแพร่กระจายของไวรัส ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผนรับมือได้ล่วงหน้า

ส่วนในไทยเองมีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่คอยรายงานข่าวสารที่ตรวจสอบแล้วและนำเสนอข้อมูลตามจุดเกิดเหตุบนแผนที่ (location base data) ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติอย่างมาก และช่วยให้เราพัฒนาได้รวดเร็วขึ้นอย่างทวีคูณ หากทุกฝ่ายร่วมกันแชร์ชุดข้อมูล (dataset) ให้แก่กันในการนำไปค้นคว้าวิจัยต่อยอดและพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกันต่อไป

จากที่ผมได้กล่าวไปข้างต้นเป็นเพียงบางแง่มุมเท่านั้น ยังมีอีกหลายมิติที่ต้องตั้งคำถามกันต่อ โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเกิดโรคระบาดขนาดใหญ่ในอนาคต ถ้าจะให้มองถึงแง่ดี การระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ได้สร้างบทเรียนสำคัญให้เกิดการ “เรียนรู้” และวางแผนรับมือต่อไปได้ในอนาคตครับ