ลงทุนอย่างไร … ในภาวะแบบนี้

ลงทุนอย่างไร … ในภาวะแบบนี้

การลงทุนในตลาดหุ้นในช่วงวิกฤต มีโอกาสได้กำไรสูง ถ้าเข้าลงทุนถูกจังหวะ ซื้อหุ้นถูกตัว และถือหุ้นได้นาน

บ่อยครั้งที่นักลงทุนรีบช้อนหุ้นในช่วงที่ตลาดเพิ่งเริ่มตกใหม่ๆ ก่อนที่ราคาหุ้นจะสะท้อนภาวะที่แท้จริงของเศรษฐกิจ แต่พอถึงจุดที่ตลาดตกเต็มที่ กลับไม่กล้าซื้อเพราะกลัวหุ้นจะตกอีก

หลายคนอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เราได้เข้าสู่ภาวะ “ตลาดกระทิงทางเทคนิคไปแล้ว หลังตลาดหุ้นปรับขึ้นมา 28% จากจุดต่ำสุดที่ 969 จุด คนที่ซื้อหุ้นได้ในจังหวะนั้นพอดีถือว่าโชคดี เพราะน้อยคนสามารถซื้อหุ้นได้ที่จุดต่ำสุดของตลาด แต่ถึงทำได้ ก็ใช่ว่าจะได้ผลตอบแทนสูงกว่าคนที่ซื้อแพงกว่า ถ้าเลือกหุ้นผิดตัว หรือขายเร็วเกินไป

การลงทุนในช่วงวิกฤต จำเป็นต้องศึกษาข้อมูลปัจจัยพื้นฐานของหุ้นอย่างรอบคอบ และไม่ต้องรีบร้อน เพราะมีเวลามากพอที่จะลงทุนให้ได้กำไร จากสถิติตลาดกระทิงหลังภาวะวิกฤต 4 ครั้งล่าสุดของไทย ตลาดหุ้นใช้เวลาอยู่ในภาวะกระทิง โดยเฉลี่ยเกือบ 2 ปี และปรับขึ้นครั้งละ 171% ครั้งที่ยาวนานที่สุดคือ 4 ปีครึ่ง หลังวิกฤตการเงินโลก ครั้งนั้น SET Index ปรับขึ้นถึง 334%

วิกฤตครั้งนี้ แตกต่างจากครั้งก่อนๆ เพราะต้นเหตุไม่ได้มาจากสถาบันการเงิน ภาคธุรกิจ หรือการบริหารเศรษฐกิจที่ผิดพลาดของรัฐบาล จึงทำให้การคาดการณ์อนาคตทำได้ค่อนข้างยาก หลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น การ Lockdown เศรษฐกิจ การปิดประเทศ การเว้นระยะห่างทางสังคม ก็ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

เวลานี้คงไม่เป็นที่ถกเถียงกันแล้ว ว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้ มีแนวโน้มถดถอยรุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 100 ปี หรือตั้งแต่ช่วง Great Depression แต่ในขณะเดียวกัน การใช้เงินงบประมาณจำนวนมหาศาลของทุกประเทศ ในระดับ 10-20% ของ GDP เพื่อต่อสู้กับวิกฤต รวมทั้งการอัดฉีดสภาพคล่องตรงเข้าสู่ภาคธุรกิจโดยธนาคารกลาง ก็เป็นสิ่งที่ไม่เคยทำกันมาก่อน และน่าจะช่วยทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้เร็วขึ้น     

ความร้อนแรงของตลาดหุ้นไทย ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ทำให้หลายคนเกิดคำถาม ว่ายั่งยืนแค่ไหน? แน่นอน ไม่มีใครรู้ว่าตลาดจะขึ้น หรือลง ในระยะสั้น แต่การเกิด Correction เป็นเรื่องปกติ หลังการปรับขึ้นรอบใหญ่ๆ สำหรับนักลงทุนระยะยาว ปัจจัยสำคัญกว่าที่ต้องประเมิน คือ ความเสี่ยงทางลง หรือ Downside Risks ของตลาดหุ้น เหลือมากน้อยแค่ไหน

ถ้าดูจากกราฟจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกที่เริ่มชันน้อยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะของไทย รวมทั้งหลายประเทศเริ่มเตรียมเปิดเศรษฐกิจในเร็วๆ นี้ น่าจะมีความเป็นไปได้สูง ที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย จะตกต่ำที่สุดในไตรมาสนี้ และค่อยๆ เริ่มฟื้นตัวภายในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น Downside Risks ของตลาดก็น่าจะมีไม่มาก      

อีกทั้ง ประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนโดยนักวิเคราะห์ ก็มีการปรับลงไปแล้วราว 30% และ Valuations ของตลาดก็อยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 9-10 ปี ไม่ว่าจะเป็น  Forward P/E ที่ 12 เท่า P/BV ที่ 1.2 เท่า และ Earnings Yield Gap ที่ 6%

 ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ในการลงทุนช่วงวิกฤต คือการเลือกซื้อหุ้นที่ราคาลดลงมากที่สุด ทั้งที่ในความเป็นจริง มูลค่าหุ้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคาในอดีต แต่ขึ้นอยู่กับผลประกอบการในอนาคต

การเลือกหุ้นในรอบนี้ มีความท้าทายกว่าทุกครั้ง เพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิต และการเข้าสังคม ที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงนี้ มีโอกาสสูงที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง และ New Normal ในอนาคต นักลงทุนจึงต้องศึกษาให้ดี และควรเลือกลงทุนในธุรกิจที่มีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างชัดเจน เช่น อาหาร ค้าปลีก สื่อสาร ไฟฟ้า และโรงพยาบาล  

แน่นอน ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่พร้อมใช้งานจริง การแพร่ระบาดรอบสอง หรือรอบสาม หลังการเลิกมาตรการ Lockdown ยังเป็นความเสี่ยงใหญ่ที่มองข้ามไม่ได้ แต่ถ้าเราเตรียมสายป่านให้ยาวพอ ที่จะถือหุ้นไปจนเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว ผมเชื่อว่าผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนในช่วงวิกฤตนี้ จะคุ้มค่ากับความเสี่ยงที่ต้องรับ