ไวรัสกับเศรษฐกิจ​

ไวรัสกับเศรษฐกิจ​

ในระยะหลังนี้ราคาหุ้นทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น โดยนักวิเคราะห์ให้เหตุผล (พยายามอธิบาย) ดังนี้

1.จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ต่อวันในอิตาลี สเปน และประเทศอื่นๆ ในยุโรปลดลงอย่างต่อเนื่องแล้ว (แต่ยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นพันรายและเสียชีวิตเป็นร้อยรายต่อวัน)

2.สหรัฐยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากทุกวัน แต่มลรัฐนิวยอร์กที่เป็นแหล่งแพร่เชื้อที่รุนแรงมากที่สุดในสหรัฐนั้น จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันใกล้จะถึงจุดสูงสุดแล้ว

3.รัฐบาลประเทศพัฒนาแล้วดำเนินนโยบายการเงินและการคลังเพื่อกอบกู้เศรษฐกิจอย่างล้นหลาม กล่าวคือการลดดอกเบี้ยลงไปใกล้ศูนย์ การพิมพ์เงินออกมาซื้อพันธบัตรทั้งของเอกชนและของรัฐบาลเป็นจำนวนมหาศาลและไม่มีข้อจำกัด ตลอดจนการขาดดุลงบประมาณ (ยืมเงินอนาคตมาใช้) คิดเป็นสัดส่วน 15-20% ของจีดีพี

มองในแง่ดีก็จะสามารถสรุปได้ว่าแม้จีดีพีโลกจะติดลบในปีนี้ เช่นแบงก์ออฟอเมริกาประเมินว่าจีดีพีสหรัฐจะหดตัว 6% และจีดีพีของยุโรปจะหดตัว 7.6% ในปีนี้ แต่นโยบายเศรษฐกิจมหภาคดังกล่าวจะสามารถ อุ้มเศรษฐกิจเอาไว้ได้ในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นไตรมาสที่ย่ำแย่ที่สุด

แต่หลังจากนั้นเศรษฐกิจก็จะฟื้นตัวได้อย่างมีนัยสำคัญในไตรมาส 4 และฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องในปี 2021 โดยคาดการณ์ว่าจีดีพีสหรัฐจะขยายตัว 6.1% เศรษฐกิจยุโรป 8.3% เศรษฐกิจจีน 8.8% ทำให้เศรษฐกิจโลกในปี 2021 ขยายตัวได้สูงถึง 6.3%

ซึ่งผมเข้าใจว่าหลายสำนักก็คงจะประเมินคล้ายคลึงกันและน่าจะมีการคาดหวังด้วยว่าในปี 2021 นั้นมนุษย์จะสามารถคิดค้นวัคซีนเพื่อป้องกันโรค COVID-19 เป็นผลสำเร็จ หรือมียารักษา COVID-19 จนเรากลับมาใช้ชีวิตปกติเหมือนแต่ก่อน ทำให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวและขยายตัวอย่างปกติเช่นเดียวกัน

ซึ่งการที่นักวิทยาศาสตร์และบริษัทยาต่างๆ กำลังทุ่มเททรัพยากรและความสามารถอย่างเต็มที่เพื่อ เอาชนะ” COVID-19 น่าจะทำให้นักวิเคราะห์มีความมั่นใจค่อนข้างสูงว่าปัญหา COVID-19 จะจบลงได้อย่างราบคาบในปีหน้า หรือหากเราจะต้อง “อยู่” กับ COVID-19 ก็จะต้องทำให้มีระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพในการลดทอนภัยอันตรายจาก COVID-19 ลงไป ณ ระดับที่มนุษย์ยอมรับได้แม้ความเสี่ยงที่จะติดเชื้อและเสียชีวิตจาก COVID-19 จะยังมีอยู่ต่อไป

ระดับความเสี่ยงที่มนุษย์จะ “ยอมรับได้” นั้นอยู่ระดับใด? องค์การอนามัยโลกมีสถิติเกี่ยวกับการป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่สรุปได้ดังนี้

1.ทุกปีมีผู้ป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ปีละ 500-600 ล้านคน

2.มีผู้ป่วยหนักจนกระทั่งต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลประมาณ 5-6 ล้านคนต่อปี

3.ประมาณว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ปีละ 5 แสน-6 แสนคน โดยกลุ่มเสี่ยงคือผู้สูงอายุและเด็กเล็ก

จะเห็นได้ว่าหากมนุษย์สามารถควบคุมการระบาดของ COVID-19 ได้ภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า จำนวนผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 จะมีไม่ถึง 1/3 ของจำนวนผู้ที่เสียชีวิตทุกปีจากโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นโรคทางเดินหายใจเหมือนกันและเป็นโรคติดต่อเหมือนกัน เพียงแต่ว่าโรคไข้หวัดใหญ่นั้นมีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่า COVID-19 มาก

กล่าวคือตัวเลขปัจจุบันนั้นมีผู้ป่วยเป็น COVID-19 จำนวน 1.3 ล้านคนและเสียชีวิตไปแล้วประมาณ 7 หมื่นคน หรืออัตราการเสียชีวิตประมาณ 5% (แต่ในความเป็นจริงน่าจะต่ำกว่าเพราะจำนวนผู้ติดเชื้อจริงน่าจะสูงกว่า 1.3 ล้านคน เพราะปัจจุบันการตรวจโรคยังทำได้ไม่ทั่วถึง) แต่สำหรับไข้หวัดใหญ่นั้นอัตราการเสียชีวิตต่ำคือเพียง 0.1% มนุษย์จึงยอม อยู่กับไข้หวัดใหญ่ที่วนเวียนกลับมาทุกๆ ปี โดยมีวัคซีนป้องกันเฉพาะไข้หวัดใหญ่บางชนิดเท่านั้น

สำหรับโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่นั้นเป็น 1 ใน 7 โคโรนาไวรัสที่ปัจจุบันสามารถแพร่ไปสู่มนุษย์แล้วทำให้ป่วยได้ โดย 4 ประเภทจะทำให้เป็นไข้หวัดธรรมดา ไม่ทำให้เสียชีวิต แต่อีก 3 ประเภทคือ SARS, MERS และ SAR-COV-2 (ที่ทำให้เป็น COVID-19) นั้นถือได้ว่าเป็นภัยอันตรายอย่างยิ่ง แต่ SARS ก็ดูเหมือนว่ามาแล้วจะหายไปอย่างรวดเร็ว โดยยังไม่มียารักษาหรือไวรัสป้องกัน ส่วน MERS นั้นมีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก แต่แพร่ขยายระหว่างมนุษย์ได้ยากมาก จึงยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกันเช่นกัน

แต่สังเกตว่า SARS เกิดขึ้นปี 2002-2003 ตามมาด้วย MERS ปี 2011-2012 และต่อมาคือ SARS-COV-2 ในปี 2019 ที่เราต้องเผชิญอยู่ในขณะนี้ แปลว่าการต้องเผชิญกับไวรัสที่เป็นภัยอันตรายต่อมนุษย์นั้น ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากแต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง

นอกจากนั้นหากนำเอาไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ต่างๆ มานับรวมอีกด้วยก็จะจำได้ว่าเราเจอกับ H5N1 หรือไข้หวัดนกในปี 2006-2008 (แต่ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันแล้วเพราะเป็นไข้หวัดที่หากเป็นแล้วอัตราการเสียชีวิตสูงมากประมาณ 50%) และ H1N1 หรือไข้หวัดใหญ่ที่มาจากสุกร (Swine flu) ในปี 2009-2010 ทั้งนี้ H1N1 นี้จะมีความคล้ายคลึงอย่างมากกับ Spanish flu ที่ระบาดในปี 1918-1920 และทำให้มีผู้เสียชีวิตไปประมาณ 50 ล้านคน

ดังนั้น การต้องเผชิญกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่เป็นภัยอันตรายอย่างยิ่งกับชีวิตมนุษย์นั้นจึงอาจไม่ใช่เรื่องของการต้องบริหารจัดการในภาวะของความไม่แน่นอน (uncertainty) แต่อาจต้องหมายถึงการเตรียมการและเตรียมทรัพยากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อรับมือกับการต้องเผชิญกับโรคใหม่ๆ ทุก 3-5 ปีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ