จากโมเดล 3 ห่วง สู่โมเดล 5 ห่วง ของการจัดการนวัตกรรม

จากโมเดล 3 ห่วง สู่โมเดล 5 ห่วง ของการจัดการนวัตกรรม

กว่าครึ่งศตวรรษมาแล้วที่เรื่องของการบริหารจัดการการสร้างนวัตกรรมได้กลายมาเป็นประเด็นที่นักวิชาการ

พยายามศึกษาและเข้าใจว่า การสร้างสรรค์นวัตกรรมให้สำเร็จเป็นเรื่องของโชค เป็นเรื่องของบุคคลที่มีความสามารถเฉพาะ หรือเป็นเรื่องของศาสตร์ที่สามารถศึกษาให้เข้าใจและนำมาปฏิบัติได้เช่นเดียวกับศาสตร์อื่นๆ

เมื่อเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า การสร้างนวัตกรรมที่จะประสบความสำเร็จ พื้นฐานสำคัญที่สุดได้แก่เรื่องขององค์ความรู้ที่แฝงอยู่ในตัวนวัตกรรมนั้น ๆ ซึ่งตัวนวัตกร หรือผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ในด้านนั้น ๆ เป็นอย่างดี

จนกระทั่งเกิดองค์ความรู้ขึ้นว่า การสร้างสรรค์นวัตกรรม อาจเกิดขึ้นได้จากทั้งตัวบุคคล หรือจากองค์กรที่มีบุคคลกรหลายหน่วยงานมาร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้นก็ได้เช่นกัน

และโดยเฉพาะเมื่อเกิดการยอมรับเชิงวิชาการว่า การเติบโตของระบบเศรษฐกิจในระดับชาติและในระดับโลก ตัวขับเคลื่อนที่สำคัญตัวหนึ่งที่จะสร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยสำคัญก็คือ ความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นในระดับบริษัท หรือในระดับอุตสาหกรรม ที่นอกจากจะสร้างกลไกให้เศรษฐกิจเติบโตได้ในระดับประเทศแล้ว ยังสามารถแพร่กระจายความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและการพาณิชย์ไปในระดับภูมิภาค และในระดับโลกได้อีกด้วย

ในด้านของการสร้างระบบนิเวศน์ที่จะเอื้อให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ มีผู้นำเสนอทฤษฎี โมเดล 3 ห่วงของการสร้างนวัตกรรม ขึ้นในปี 1995 และได้รับการยอมรับในเชิงวิชาการด้านนวัตกรรมอย่างมาก

ทฤษฏี โมเดล ห่วง หรือ ประสาน กล่าวถึงการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรต่างๆ ใน ภาคส่วน ในลักษณะเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน

ภาคส่วนแรก ได้แก่ ภาคสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถาบันในระดับอุดมศึกษาที่มีการศึกษา ค้นคว้า ทอดลอง และทำวิจัย เพื่อที่จะทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจใหม่ ๆ โดยทำหน้าที่เป็นองค์กรหลักในการสร้างองค์ความรู้ที่จำเป็นสำหรับการสร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้น

ภาคส่วนที่ 2 ได้แก่ ภาคธุรกิจ ที่จะทำหน้าที่ในการนำองค์ความรู้จากภาคสถาบันการศึกษา มาสานต่อ ในลักษณะของการต่อยอด หรือการประยุกต์ใช้ เพื่อให้สินค้าหรือบริการที่จะนำเสนอให้ตลาดและผู้บริโภค ได้สัมผัสกับความแปลกใหม่หรือได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ที่คุ้มค่าน่าใช้ มากกว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการเดิมๆ ที่มีอยู่

แม้ว่า อาจต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นกว่าเดิมบ้าง ก็ยินดีจ่าย

ภาคส่วนที่ 3 ได้แก่ ภาครัฐ หรือภาคราชการ ที่ต้องทำหน้าที่สนับสนุนอำนวยความสะดวกให้กับทั้ง 2 ภาคส่วนแรก ให้เกิดสมรรถนะและความสามารถในการเปลี่ยนองค์ความรู้ให้กลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจในรูปของผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ไม่ว่าจะเป็นในด้านของ การกำหนดทิศทางและนโยบายด้านนวัตกรรม การจัดสรรแหล่งทุนสนับสนุนตั้งแต่การทำวิจัย การทดลอง การสร้างต้นแบบ จนกระทั่งถึงการสนับสนุนให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ในรูปของบริษัทสตาร์อัพ หรือการสร้างปัจจัยเอื้อให้เกิดการดำเนินธุรกิจที่ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และไหลลื่นได้ดีขึ้น ทั้งในระบบการเงินและการคลังของรัฐ

หากทั้ง 3 ห่วงในโมเดลนี้ มีการประสานงานกันในการทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดและเชื่อมโยงไปยังภาคส่วนทั้ง 3ได้อย่างเหมาะสม ผลที่เกิดขึ้นอย่างสมดุลที่จุดศูนย์กลางที่ห่วงทั้ง มาตัดร่วมกัน ก็จะเป็นผลสำเร็จของนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ ที่พร้อมจะไปสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศนั่นเอง

เมื่อเวลาผ่านไป พร้อมๆ กับการเจริญเติบโตของภาคประชาสังคม และความรู้สึกที่ว่า หากระบบธุรกิจหรือเศรษฐกิจเติบโตไปด้านเดียว โดยผลของความเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่ได้ส่งต่อมายังสังคมอย่างเพียงพอ สังคมของคนในชาติก็คงจะมุ่งแต่การสร้างความมั่งคั่ง จนไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพในการดำรงชีวิตของทั้งตนเอง และสมาชิกอื่นๆ ที่อยู่ร่วมในสังคมด้วย ผลของการสร้างสรรค์นวัตกรรม ก็จะไม่เกิดประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของผู้คนและสังคม

จึงนำมาสู่การพัฒนา โมเดล 4 ห่วงของการพัฒนาและสร้างระบบนิเวศของนวัตกรรมในระดับชาติ คือ ภาคการศึกษา-ภาคธุรกิจ-ภาครัฐ-ภาคประชาสังคม

เพื่อนำผลตอบแทนจากการลงทุนสร้างสรรค์นวัตกรรม ให้กลับคืนมาสู่ระบบการศึกษา ระบบเศรษฐกิจ และความอยู่ดีกินดีของสมาชิกในสังคมได้อย่างทั่วถึง

โมเดล 5 ห่วงของนวัตกรรม เกิดขึ้นเมื่อสภาวะอากาศและสิ่งแวดล้อมของโลก เริ่มเกิดผลกระทบอย่างชัดเจนขึ้นโดยเป็นผลพวงของการพัฒนาเศรษฐกิจไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง

โมเดล 5 ห่วงของการสร้างสรรค์นวัตกรรม ประกอบด้วย ภาคการศึกษา-ภาคธุรกิจ-ภาครัฐ-ภาคประชาสังคม-ภาคการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้การสร้างสรรค์นวัตกรรม สามารถสร้างผลตอบแทนที่สมดุลกันทั้งในมิติเศรษฐกิจ มิติสังคม และมิติสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล

โมเดล 5 ห่วงของการสร้างสรรค์นวัตกรรม กำลังทำงานอยู่อย่างเข้มข้น ภายใต้บริบทปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อลดสภาวะโลกร้อน การลดมลภาวะจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก

แม้กระทั่งจากการการเกิดนวัตกรรมในการต่อสู้กับปรากฏการณ์ โควิด-19 ที่กำลังคุกคามสังคมโลกอยู่ในปัจจุบัน ที่เราจะการเชื่อมโยงระหว่าง มหาวิทยาลัย โรงเรียนแพทย์ บริษัทห้างร้าน พนักงาน รัฐบาลทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ชุมชนและสังคม ที่พยายามสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ หรือความคิดใหม่ๆ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน