เมื่อสุขภาพนำเสรีภาพ(?) : ส่องกฎหมายที่ใช้รับมือ COVID-19

เมื่อสุขภาพนำเสรีภาพ(?) : ส่องกฎหมายที่ใช้รับมือ COVID-19

กว่าจะถึงวันที่บทความนี้ตีพิมพ์ก็เป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์เต็มที่มีการใช้มาตรการห้ามออกจากเคหสถานหรือเคอร์ฟิว ตามข้อกำหนดนายกฯ (ฉบับที่ 2)

ซึ่งออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (“พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ”) นี่ถือเป็น “ยาแรง” ที่ถูกใช้ร่วมกับมาตรการอื่นๆ ที่ออกมาก่อนหน้า เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งสร้างความกังวลไปทั่วโลก

แม้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะมิใช่กฎหมายใหม่ แต่ก็นับได้ว่าไม่บ่อยครั้งนักที่กฎหมายนี้จะถูกนำมาใช้ (นอกเหนือจากในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินมา 15 ปีแล้ว) และยังถือเป็นครั้งแรกที่กฎหมายนี้ถูกนำมาใช้กับการเกิดโรคระบาดอันถือว่าเป็น “ภัยพิบัติสาธารณะ” อย่างหนึ่ง 

ประเด็นที่เป็นปัญหาของกฎหมายนี้มีผู้ศึกษาไว้มากพอสมควรแล้ว แต่ที่ผู้เขียนอยากชวนพิจารณาในที่นี้ก็คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตราขึ้นภายใต้กรอบคิดเพื่อจัดการกับสถานการณ์ที่กระทบกับความมั่นคง เช่น สงคราม การก่อการร้าย หรือการก่อความไม่สงบเรียบร้อย เครื่องมือทางกฎหมายที่จะนำมาใช้จึงถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองงานทางความมั่นคงเป็นหลัก เราจึงได้เห็นการควบคุมโรคระบาดด้วยการตั้งด่านตรวจ การกวดขันผู้ฝ่าฝืนกฎเคอร์ฟิว การห้ามบุคคลเข้า-ออกราชอาณาจักร การจัดการกับข่าวปลอม ฯลฯ

แต่แทบจะไม่ปรากฏมาตรการที่จำเป็นเพื่อจัดการปัญหาจากภัยธรรมชาติหรือโรคระบาดทั้งระบบแต่อย่างใด เช่น อำนาจที่จะแทรกแซงการผลิตและกระจายสินค้าที่จำเป็น การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ หรือการยกเว้นกฎหมายอื่นๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดการปัญหา เป็นต้น

ในต่างประเทศ จะเห็นว่าประเทศต่างๆ ก็มีแนวทางรับมือวิกฤตการณ์จากโรคระบาด COVID-19 ที่แตกต่างกันไป แม้ว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจะถูกนำมาใช้ในหลายประเทศโดยเฉพาะที่มีปัญหาการระบาดอย่างรุนแรง แต่ก็มีระดับความเข้มข้นที่แตกต่างกัน ยิ่งกว่านั้นในบางประเทศเลือกที่จะไม่ใช้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแต่ใช้มาตรการทางกฎหมายอื่นๆ ก็มี

กรณีประเทศญี่ปุ่นซึ่งที่ผ่านมาควบคุมสถานการณ์ได้ดี แต่ปรากฏว่าการระบาดมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกครั้งจนเป็นแรงกดดันให้รัฐบาลต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา หากแต่มาตรการในสถานการณ์ฉุกเฉินของญี่ปุ่นนั้นแตกต่างไปจากที่เข้าใจกันในประเทศอื่นมาก โดยจะมีผลให้ผู้ว่าราชการจังหวัด (ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง) มีอำนาจมากขึ้นในการออกมาตรการที่เรียกว่า การร้องขอ (request)” ให้ปฏิบัติตาม เช่น การขอให้ประชาชนไม่ออกจากบ้าน การขอให้สถานศึกษา สถานที่สาธารณะ สถานประกอบการเอกชนปิดชั่วคราว เป็นต้น ทั้งนี้ โดยไม่มีการกำหนดโทษอาญาแก่ผู้ฝ่าฝืนแต่อย่างใด

แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าคำร้องขอดังกล่าวผูกพันให้ต้องปฏิบัติตาม นอกจากนี้กฎหมายยังให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดในการบังคับเอาอสังหาริมทรัพย์ของเอกชนเป็นการชั่วคราวเพื่อนำมาใช้รองรับการให้บริการทางการแพทย์ หรือการบังคับซื้ออาหาร ยา หรือสินค้าที่จำเป็นจากเอกชนได้ด้วย

ส่วนประเทศเยอรมนี ประสบการณ์อันเลวร้ายจากการใช้อำนาจโดยอ้างสถานการณ์ฉุกเฉินของพรรคนาซี ทำให้นับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา รัฐบาลเยอรมันยังไม่เคยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแม้แต่ครั้งเดียว โดยในการรับมือกับโคโรนาไวรัส รัฐบาลเลือกใช้มาตรการตาม พ.ร.บ.ป้องกันโรคระบาด (Infection Protection Law of 2001) ด้วยการกำหนดระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด (strict social distancing) เช่นการห้ามรวมตัวเกินกว่า 2 คนขึ้นไป การปิดร้านอาหาร (ยกเว้นการให้บริการแบบนำกลับบ้าน) และสถานบริการต่างๆ ที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ แต่ยังคงอนุญาตการทำกิจกรรมนอกบ้านตามปกติตราบที่ไม่มีการรวมตัวกัน ซึ่งแตกต่างจากชาติในยุโรปอื่น เช่น อิตาลี สเปน หรือฝรั่งเศส ที่ใช้มาตรการ lockdown อย่างเคร่งครัด

ปิดท้ายที่สหราชอาณาจักรซึ่งมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจคือการออกกฎหมายใหม่เพื่อรับมือกับวิกฤติโคโรนาไวรัสโดยเฉพาะ ได้แก่ Coronavirus Act ซึ่งประกาศใช้เมื่อ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา กฎหมายนี้ใช้บังคับทั่วสหราชอาณาจักร หากแต่กำหนดมาตรการที่แตกต่างกันไปเพื่อให้แต่ละแคว้นสามารถมีเครื่องมือจัดการกับปัญหาได้อย่างสอดคล้องกับกฎหมายที่มีอยู่แล้วของตน กฎหมายนี้จะมีผลใช้บังคับเป็นระยะเวลา 2 ปี แต่อาจสิ้นผลก่อนระยะเวลาดังกล่าวหรือมีการขยายระยะเวลาต่อไปอีกได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์

สาระสำคัญของกฎหมายนี้กล่าวได้ว่ามีเนื้อหาที่กว้างขวางมาก ครอบคลุมการจัดการต่างๆ เกี่ยวกับการบริหารวิกฤตการณ์โคโรนาไวรัสทั้งระบบ ตั้งแต่การแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข การให้ความคุ้มกันแก่บุคลากรทางการแพทย์ในการปฏิบัติหน้าที่ การคุ้มครองสิทธิของแรงงานที่ได้รับผลกระทบ การเยียวยาช่วยเหลือผู้ประกอบการ การเปลี่ยนแปลงอัตราภาษี จนกระทั่งถึงการจัดการเกี่ยวกับศพด้วยความเคารพ

กฎหมายนี้ยังการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินการของรัฐให้สอดคล้องกับสถานการณ์โรคระบาด เช่น การจัดการศึกษา การจดทะเบียนต่างๆ การพิจารณาพิพากษาคดีในศาล การชันสูตรพลิกศพ ฯลฯ นอกจากนี้ยังให้อำนาจรัฐในการเข้าไปควบคุมการระบาดของโรค เช่น การกำหนดมาตรการกักตัว การห้ามออกจากเคหสถาน (lockdown) การเข้าถึงข้อมูลในกระบวนการผลิตและการกระจายอาหารจนถึงผู้บริโภค (food supply chain) เป็นต้น

ปัจจุบัน มาตรการ lockdown ถูกนำมาบังคับใช้ร่วมกับมาตรการอื่นๆ ส่วนผลของกฎหมายนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่เพียงใดนั้นคงต้องติดตามดูกันต่อไป

ผู้อ่านคงจะเห็นได้ว่าการรับมือกับสถานการณ์ COVID-19 ในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันไปในรายละเอียด แต่ในประเทศที่ให้คุณค่ากับประชาธิปไตยนั้น แม้จะยอมรับว่ารัฐจำเป็นต้องมีเครื่องมือพิเศษในสถานการณ์ที่มีความเฉพาะหน้าเร่งด่วน แต่ก็ยังคงรักษาจุดยืนในการให้คุณค่ากับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน และคำนึงถึงการใช้อำนาจอย่างพอสมควรแก่เหตุ เพื่อให้การจำกัดเสรีภาพนั้นเป็นไปเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการป้องกันและกำจัดโรคอย่างแท้จริง

โดย... 

ผศ.ธีรวัฒน์ ขวัญใจ​

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์