ใช้ข้อมูลแก้วิกฤติ Covid-19

ใช้ข้อมูลแก้วิกฤติ Covid-19

การแพร่ระบาดของเชื้อโรค Covid-19 ยังคงสร้างความกังวลต่อประชาชนทั่วโลก จึงมีหน่วยงานรัฐและภาคการศึกษาวิจัยรวบรวมข้อมูลและแผนภูมิ

เพื่อให้เจ้าหน้าที่และประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลทางออนไลน์ อาทิ แผนที่แสดงข้อมูลการแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 โดยมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ (coronavirus.jhu.edu/map.html) ที่รวบรวมข้อมูลจาก 17 แหล่งข้อมูลเข้าด้วยกัน และข้อมูลจาก 91-divoc.com ของมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ซึ่งแสดงกราฟเปรียบเทียบข้อมูลของแต่ละประเทศ และข้อมูลในแต่ละมลรัฐในประเทศสหรัฐ

ข้อมูลการระบาดของ Covid-19 ในสหรัฐถูกแสดงในเว็บไซต์ “COVID Act Now” (covidactnow.org) เพื่อวางแผนและช่วยตัดสินใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ในแต่ละมลรัฐ รวมถึงข้อมูลจาก Institute for Health Metrics and Evaluation (IHME) ของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน (covid19.healthdata.org) ซึ่งแสดงข้อมูลของ Covid-19 แบ่งแยกตามโรงพยาบาลในสหรัฐ โดยได้ใช้โมเดลเพื่อคาดการณ์การแพร่ระบาดที่อาจเกิดขึ้นภายในสองสัปดาห์หรือในเดือนถัดไป โดยประมาณจำนวนเตียงผู้ป่วยและเครื่องช่วยหายใจที่อาจต้องใช้ในโรงพยาบาล จึงเป็นข้อมูลสำคัญเพื่อใช้ตัดสินใจด้านนโยบายซึ่งส่งผลถึงชีวิตของประชาชนโดยตรงในเวลานี้

 

ข้อมูลชี้ประเด็น

ในช่วงการระบาดของ Covid-19 ได้เกิดความผิดปกติที่สามารถสังเกตได้จากปริมาณการใช้อินเตอร์เน็ตที่เปลี่ยนไปจากปรกติจนสามารถนำมาใช้วิเคราะห์เทรนด์เช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซียในกลางเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลสันนิษฐานถึงการเริ่มระบาดของเชื่อโรค Covid-19 ในกลุ่มประชาชนที่เข้าร่วมในพิธีกรรมทางศาสนาโดยในเบื้องต้นเชื่อว่ามีประมาณ 5,000 ราย ด้วยความกังวลต่อเชื้อโรคติดต่อที่แพร่ระบาดขึ้นจึงทำให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ได้กักตนเอง และใช้อินเตอร์เน็ตในการสื่อสารและให้ความบันเทิง จนทำให้การใช้งานของอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นและความเร็วตกลงกว่า 5% อย่างผิดสังเกต สามารถใช้เป็น “Social Trend” ในการประเมินได้ว่าอาจมีผู้เข้าร่วมในพิธีถึง 14,500 รายจนกลายการระบาดครั้งใหญ่

การทำงานของสมาร์ทโฟนยังสามารถช่วยให้ข้อมูลและติดตามผลของประชาชนในการ “อยู่บ้าน” ในหลายเมืองผ่านรายงาน “COVID-19 Community Mobility Report” ที่กูเกิลได้รวบรวมขึ้นจากการบันทึกจำนวนผู้ไปในสถานที่ต่างๆ ในช่วงเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา อาทิ สโตร์ค้าปลีกและสถานบันเทิง ร้านขายของชำและร้านขายยา ออฟฟิศ รวมถึงแหล่งที่พักอาศัยว่ามีเปอร์เซนต์การเปลี่ยนแปลงอย่างไร โดยพบว่าคนไทยลดการไปห้างหรือแหล่งท่องเที่ยวลงถึง 55% และลดการไปในสถานีขนส่งลงถึง 61% แต่อยู่ในแหล่งที่พักอาศัยเพิ่มขึ้นถึง 16% ซึ่งนับเป็นข้อมูลที่อาจเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐในการประเมินเบื้องต้นถึงความร่วมมือของประชาชนต่อการปฏิบัติ “Social Distancing”

 

โมเดลดีเมื่อสมมติฐานใช่

เมื่อเกิดการระบาดของเชื้อ Covid-19 ขึ้นในมลรัฐวอชิงตันในเดือนก.พ. 2020 เมืองซีแอตเทิลนับเป็นเมืองแรกของการระบาดในสหรัฐ ซึ่งสร้างความกังวลต่อทีมแพทย์และโรงพยาบาลถึงการรองรับผู้ป่วย การจัดหาเตียงและห้อง ICU ตลอดจนเครื่องช่วยหายใจให้พร้อมต่อการรักษาผู้ติดเชื้อจำนวนมากในเวลาพร้อมกัน จนมหาวิทยาลัยแพทย์ของรัฐวอชิงตัน (UWM) และ IHME ได้ร่วมกันพัฒนาโมเดลสำหรับใช้กับการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย AI เพื่อใช้คาดการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 ในรัฐวอชิงตันและเพื่อเตรียมการรับมือผู้ป่วยในกรณีวิกฤติที่สุด ซึ่งตลอดเวลาได้มีการปรับโมเดลด้วยข้อมูลใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อประกอบกับการที่รัฐออกนโยบายให้ประชาชนอยู่กับบ้านได้ช่วยลดการแพร่ระบาดจนเห็นผลที่ดีขึ้นมาก

งานการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยโมเดลเพื่อคาดการณ์การระบาดของ Covid-19 โดย IHME ได้ช่วยให้รัฐวอชิงตันสามารถรับมือกับเชื้อโรคร้ายได้ดีขึ้น ทำให้ IHME สามารถใช้เครื่องมือนี้เพื่อคาดการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 ให้แก่มลรัฐอื่นในประเทศอีกด้วย

Dr. Anthony Fauci ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในคณะทำงาน Coronavirus Task Force ของทำเนียบขาว ได้กล่าวในระหว่างการให้สัมภาษณ์ว่า “การใช้โมเดลนับเป็นสิ่งมีประโยชน์ แต่จากประสบการณ์ในหลายปีที่ผ่านมาเราควรระมัดระวังที่จะไม่เชื่อในโมเดลมากจนเกินไป โมเดลจะทำงานได้ดีต่อเมื่อใช้สมมุติฐานได้ถูกต้อง เพราะโมเดลอาจพาให้เราหลงทาง” ซึ่งสอดคล้องกับความกังวลของ IHME ที่เห็นว่าการแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 จะแปรตามความหนาแน่นของประชากร การเปลี่ยนแพทเทรินท์ของการระบาด และการปฏิบัติ Social Distancing ของประชาชน ซึ่งจำเป็นที่ผู้รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ต้องปรับโมเดลให้ถูกต้องสอดคล้องกับความเป็นไปของแต่ละท้องที่เพื่อให้ได้ผลคาดการณ์ที่ถูกต้องใกล้เคียง

 

ร่วมกันสนับสนุนสิ่งที่ดี

การแพทย์และนักวิจัยจากทั่วโลกกำลังร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อยับยั้งและจัดการกับไวรัสร้าย กลุ่มดิจิทัลเองไม่ว่าจะเป็นกูเกิล อเมซอน เฟซบุ๊คหรือแอปเปิล ตลอดจนค่ายรถยนต์และโรงงานอุตสาหกรรมต่างเร่งประดิษฐ์สิ่งของหรือเครื่องมือเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ในเวลานี้ทุกคนต้องร่วมกำลังกันสนับสนุนและทำสิ่งที่ดีเพื่อให้ประเทศชาติและโลกผ่านพ้นวิกฤติและรักษาชีวิตผู้คนให้ดีที่สุด