มาตรการหลุดพ้นจากภาวะ “กบจำศีล”

มาตรการหลุดพ้นจากภาวะ “กบจำศีล”

ความฉับไวในการรับมือกับเชื้อไวรัสโควิดด้วยมาตรการเข้มให้คนหยุดอยู่บ้าน (lockdown) แม้จะก่อให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจก็ตาม แต่ก็จำเป็น

เพราะจะช่วยรักษาชีวิตผู้คนจำนวนมากด้วยการชะลอการแพร่ระบาดให้ทอดยาวออกไปอย่างได้ผล เพื่อจะสามารถซื้อเวลาให้ผู้เชี่ยวชาญค้นพบวิธีผลิตวัคซีนได้สำเร็จ

หากเราสามารถสกัดกั้นการระบาดด้วยวิธีนี้ได้ ความเสียหายต่อชีวิตและเศรษฐกิจก็จะมีจำกัด

แต่ทว่าการปิดประเทศเป็นเวลานาน ก็ย่อมก่อความเสียหายต่อเศรษฐกิจให้เพิ่มทวีมากขึ้นด้วย

คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า เราจะปิดประเทศ(lockdown) ให้ปลอดภัย แต่ขณะเดียวกัน ก็เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจให้น้อยที่สุด ได้อย่างไร

คำถามนี้ จึงเป็นคำถามเชิงเศรษฐศาสตร์โดยแท้ (อีกแล้ว)

เพราะว่า ภาครัฐนอกจากต้องออกมาตรการเยียวยาผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิดและผลกระทบจากมาตรการปิดประเทศที่มีต่อ ประชาชนทั่วไป ลูกจ้าง ผู้ประกอบการ ข้าราชการ และบุคลากรทางการแพทย์แล้ว ภาครัฐก็ยังจำเป็นต้องมีมาตรการล่วงหน้าเพื่อเตรียมตัวออกจากมาตรการปิดประเทศ(lockdown exit strategy)อย่างเหมาะสมเมื่อโอกาสนั้นมาถึง และโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจและภาคการผลิตสามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติโดยเร็ว ก่อนที่จะเกิดปัญหาเรื่องการปิดกิจการและการเลิกจ้างงานตามมามากขึ้น

เหมือนกับที่ นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ นายลี เซียนลุง ได้กล่าวชี้แจงกับสาธารณชนชาวสิงคโปร์เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า “คณะรัฐมนตรีของเขาจำเป็นต้องอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างขนานใหญ่เพื่อใช้ประคับประคองภาวะการหยุดชะงักตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในขณะนี้ เพื่อช่วยให้ทุกฝ่ายพร้อมกลับมาทำงานได้ทันทีที่มีโอกาส”

ดังนั้น ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ ตัวแปรที่จะกำหนดระยะเวลาของโอกาสที่จะมาถึงดังกล่าว จึงมีความสำคัญมาก

เพราะมันจะช่วยให้ภาคเอกชนสามารถประเมินสถานการณ์ได้มากขึ้นทั้งในเรื่อง ความเสี่ยงและผลกระทบในด้านการดำเนินงาน สภาพคล่อง ความสามารถในการชำระหนี้ การปรับแผนการลงทุนที่ได้เคยวางไว้ การลดผลกระทบจากคำสั่งซื้อที่ลดลง การใช้ประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือของรัฐเท่าที่มีอยู่ และการศึกษาสถานการณ์จำลองทางธุรกิจและการเงินเพื่อเตรียมฟื้นฟูกิจการให้เป็นปกติโดยเร็ว เป็นต้น

 ปัจจัยที่มีผลต่อจุดเวลาเหมาะสมในการออกจากมาตรการปิดเมืองหรือ “กบจำศีล” ได้แก่

ปัจจัยแรก คือ ระยะเวลาในการคิดค้นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการหยุดเชื้อไวรัสโควิดได้อย่างปลอดภัย และทำการผลิตออกมาได้ในปริมาณที่มากเพียงพอที่จะหยุดการแพร่ระบาดได้ ซึ่งแม้จะมีความร่วมมือกันในหลากหลายบริษัทและมหาวิทยาลัยชั้นนำจำนวนไม่น้อยในต่างประเทศแล้วก็ตาม แต่ระยะเวลาที่สั้นที่สุดที่คาดว่าจะใช้ในการคิดค้นวัคซีนสำหรับโรคใหม่ก็ยังคงกินเวลาไม่น้อยกว่า 12-15 เดือนเป็นอย่างต่ำ

ปัจจัยที่สอง ความเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลในประเทศแถบซีกโลกเหนือที่กำลังเข้าสู่ฤดูร้อนนั้น อาจมีผลทำให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสลดน้อยลงได้ แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดอะไรที่จะยืนยันได้ในเวลานี้ว่าจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

และปัจจัยสุดท้าย การมีเครื่องตรวจวัดผู้ติดเชื้อไวรัสที่เพียงพอสำหรับการตรวจวัดจำนวนกลุ่มเสี่ยงให้ได้มาก ๆ ในแต่ละวัน

ประเด็นสุดท้ายนี้สำคัญมาก เพราะเมื่อผนวกเข้ากับสื่อทางสังคม (social media) ที่ทรงประสิทธิภาพ ก็จะทำให้คนส่วนใหญ่ในสังคมสามารถเข้าถึงข้อมูลล่าสุดที่เชื่อถือได้และด้วยต้นทุนที่ต่ำ เกี่ยวกับแนวโน้มการระบาดของเชื้อไวรัสโควิดได้ ล่าสุด ประเทศเยอรมันก็มีแนวคิดที่จะขยายความสามารถในการตรวจทดสอบหาจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนมากในเวลาสั้น เพื่อที่รัฐบาลจะได้ใช้เป็นข้อมูลในการแยกแยะผู้ที่แข็งแรงและมีภูมิต้านทานออกจากผู้ติดเชื้อไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว เพื่อที่รัฐจะได้ออกใบรับรองสำหรับผู้ไม่ติดเชื้อ (immunity certificates) ให้ค่อย ๆ ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านได้ โดยทำควบคู่ไปกับมาตรการการเหลื่อมเวลาทำงาน(เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้ออีกชั้นหนึ่ง) โดยเริ่มจากการอนุญาตคนจำนวนน้อยให้ได้รับการรับรองนี้ก่อน แล้วประเมินผลลัพธ์ที่ได้ ถ้าหากสถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น เขาก็จะสามารถย้อนกลับตัวใหม่ได้ทัน วิธีนี้ถ้าทำได้อย่างรัดกุมและมีประสิทธิภาพ เราก็จะสามารถค่อย ๆ ผ่อนคลายการใช้มาตรการหยุดอยู่บ้านได้อย่างมั่นใจและปลอดภัยมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเปรียบเสมือนกับวิธีการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตอื่นที่รับรู้ได้ถึงจุดเวลาอันเหมาะสมและปลอดภัยในการออกจากภาวะการจำศีลนั่นเอง

แต่ละประเทศมีความพร้อมทางสภาพสังคมและกายภาพที่แตกต่างกัน จึงทำให้มีจุดเวลาที่เหมาะสมที่แตกต่างกันในการออกจากมาตรการจำศีล (lockdown) ได้อย่างปลอดภัย

ประเทศที่ออกจากการจำศีลได้ปลอดภัยและเร็วกว่า ก็จะสามารถฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ง่ายกว่า

รัฐบาลไทยจึงต้องเร่งทำงานเชิงรุกในการจัดหาเครื่องตรวจวัดและอุปกรณ์อื่นที่จำเป็นทางการแพทย์ ด้วยการเร่งจัดสรรงบประมาณจากหน่วยงานอื่นที่ยังรอได้ มาให้กับภาคสาธารณสุขให้เพียงพอกับการแก้ปัญหาเร่งด่วนที่อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความมั่นคงของประเทศทั้งในเรื่องชีวิตผู้คนและเศรษฐกิจ อย่างที่ไม่มีใครเคยเจอมาก่อนในชั่วชีวิตนี้

โดย...

ศ.ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา

กนิษฐา หลิน