อย่าให้เครื่องมือแพทย์ขาดแคลน และรัฐต้องทําให้ถูก(จบ)

อย่าให้เครื่องมือแพทย์ขาดแคลน และรัฐต้องทําให้ถูก(จบ)

ทางออกในเรื่องนี้ต้องคิดเหมือนสถานการณ์สงครามที่รัฐบาลต้องระดมความสามารถในการผลิตด้านการแพทย์ทั้งหมดที่ประเทศ

มีทั้งในภาครัฐและเอกชนมาใช้ผลิตเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ทุกอย่างที่จําเป็นต่อการต่อสู้กับไข้หวัดโควิดให้มีมากเกินเพียงพอ สนับสนุนโดยงบประมาณของรัฐและการบริจาคของภาคธุรกิจและประชาชน เพื่อสร้างระบบสาธารณสุขที่การันตีให้คนทั้งประเทศมั่นใจว่า ประเทศจะสามารถพึ่งตนเองได้และจะไม่ขาดแคลนเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จะหยุดการระบาดและให้การรักษาผู้ที่เจ็บป่วยได้อย่างทั่วหน้าไม่ว่าจนหรือรวย

แต่ที่แตกต่างกับสถานการณ์สงครามคือ รัฐบาลต้องไม่ใช้อํานาจเข้าควบคุมการผลิตหรือการจัดสรรสินค้าด้านการแพทย์และประกาศเป็นสินค้าควบคุม แต่จะใช้ระบบตลาด การแข่งขัน กลไกราคาเป็นเครื่องมือในการจัดสรรอุปกรณ์ต่างๆ แทน โดยรัฐบาลจะใช้การลดภาษีและการให้ความช่วยเหลือต่อบริษัทที่ช่วยรัฐบาลแก้ไขปัญหาเป็นแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจขยายการผลิต ปรับสายการผลิตจากสินค้าเดิมไปผลิตอุปกรณ์การแพทย์ที่ประเทศขาดแคลน เช่น หน้ากาก เจลล้างมือ ชุดปฏิบัติการของแพทย์และพยาบาล ร่วมลงทุนในนวัตกรรมด้านการแพทย์ใหม่ที่คนไทยคิดค้นขึ้นให้นําไปสู่การผลิตระดับmass ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการระบาด เช่น ชุดตรวจเชื้อโควิด-19 (testing kits) รวมถึงระดมมันสมองของประเทศในแขนงความรู้ต่างๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชนมาช่วยกันคิดเพื่อผลิตสิ่งที่ประเทศขณะนี้ผลิตไม่ได้แต่จําเป็นต้องมีเพื่อแก้ไขปัญหา เช่น เครื่องช่วยหายใจที่ต้องนําเข้าจากต่างประเทศ

ในเรื่องนี้ประเทศเราค่อนข้างโชคดีเพราะเรามีอุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เข้มแข็ง มีคุณภาพจนส่งออกได้ โดยมีผู้ผลิตกว่า 131 บริษัททั้งวัสดุการแพทย์ ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ กลุ่มนํ้ายาและชุดวินิจฉัยโรค และอื่นๆ ผู้ผลิตเหล่านี้พร้อมที่จะขยายการผลิต ปรับไลน์การผลิต เพิ่มสายการผลิตในกลุ่มสินค้าใหม่ รวมถึงร่วมลงทุนพัฒนาเพื่อผลิตอุปกรณ์การแพทย์ที่ประเทศขาดแคลนและผลิตเองไม่ได้เพราะทั้งหมดเป็นธุรกิจและจะเกิดขึ้นแน่นอนถ้ารัฐบาลให้ระบบแรงจูงใจที่ถูกต้อง ซึ่งในความเห็นของผมระบบเเรงจูงใจที่รัฐบาลควรให้ได้แก่

หนึ่ง ยกเลิกการควบคุมสินค้าด้านการแพทย์ไม่ให้เป็นสินค้าควบคุม ยกเว้นการส่งออก เพราะการควบคุมราคา ควบคุมการผลิตและการควบคุมจัดสรรในประเทศทุกครั้งโดยทางการ จะนําไปสู่การขาดแคลนและการกักตุนทั้งสิ้นคือ ของไม่มีขายต้องไปซื้อในตลาดมืด ที่เห็นชัดขณะนี้คือ หน้ากากอนามัยและเจลล้างมือที่ประชาชนทั่วไปหาซื้อไม่ได้ การควบคุมขัดกับหลักเศรษฐศาสตร์ทําให้การขาดแคลนยิ่งมีมากขึ้น ตรงกันข้าม ตลาดสินค้าการแพทย์ที่เสรี เปิดกว้างกับการแข่งขันและมีการสนับสนุนด้วยแรงจูงใจที่ถูกต้องจากภาครัฐจะทําให้การผลิตขยายตัว อุปทานขยายตัว ราคาจะลดลง ทําให้ทุกฝ่ายสามารถหาซื้อได้ไม่ขาดแคลน นี่คือสิ่งแรกที่รัฐบาลควรต้องทํา

สอง วางเงื่อนไขที่รัฐบาลจะเข้าไปอุ้ม ลดภาษี หรือช่วยเหลือบริษัทที่ประสบปัญหาจากวิกฤติว่ารัฐบาลจะช่วยเฉพาะบริษัทที่เข้ามาช่วยรัฐบาลแก้ไขปัญหาในช่วงวิกฤติเท่านั้น (conditional assistance) เงื่อนไขนี้จะทําให้การช่วยเหลือของรัฐบาลมีเหตุมีผลเพราะเป็นการตอบแทนสิ่งที่บริษัทได้ช่วยเหลือสังคมในยามวิกฤติ เช่นปรับไลน์การผลิตโดยใช้กําลังการผลิตที่มีมาผลิตสินค้าทางการแพทย์ที่ขาดแคลน แรงจูงใจดังกล่าวนี้จะทําให้บริษัทที่มีศักพภาพเข้ามาร่วมขยายการผลิตมากขึ้นในสินค้าที่ขาดแคลน เกิดการแข่งขันระหว่างบริษัท ทําให้ภาวการณ์ขาดแคลนจะลดน้อยลง

สาม การให้ความช่วยเหลือของรัฐบาลต่อบริษัทตามเงื่อนไข conditional assistance จะเปิดกว้างให้กับทุกธุรกิจทุกบริษัทที่เข้ามาช่วยประเทศแก้ไขปัญหา เช่นโรงแรมที่ปรับรูปแบบธุรกิจมาเป็นสถานที่พักฟื้นผู้ป่วยหรือกักตัวผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อซึ่งขณะนี้มีโรงแรมกว่า 130 แห่งสมัครใจเข้าร่วมทําภารกิจนี้ หรือสายการบินที่ยังเปิดให้บริการและปรับรูปแบบธุรกิจมาเป็นการขนส่งเวชภัณฑ์ อุปกรณ์และบุคลากรด้านการแพทย์ไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศหรือขนย้ายคนไทยที่ติดค้างอยู่ต่างประเทศกลับไทยตามการร้องขอของรัฐบาล หรือบริษัทก่อสร้างที่ช่วยรัฐสร้างโรงพยาบาลสนามชั่วคราว สร้างห้องคัดกรองผู้ป่วยที่ปลอดภัยต่อหมอและพยาบาลอย่างนี้เป็นต้น ซึ่งภาคเอกชนหลายแห่งได้เริ่มปรับตัวแล้วเพื่อช่วยสังคม

นี่คือสิ่งที่รัฐบาลควรพิจารณาดําเนินการ ต้องระดมใช้จุดแข็งที่ประเทศมีเพื่อแก้จุดอ่อน เพราะเหตุครั้งนี้เป็นวิกฤติด้านอุปทานไม่ใช่อุปสงค์ รัฐจึงต้องสร้างโอกาสให้บริษัทธุรกิจสามารถเข้ามาช่วยเหลือสังคมปลดล๊อคการผลิต และใช้เงินของประชาชนที่รัฐบาลไปกู้มาช่วยเหลือบริษัทเฉพาะบริษัทที่ยื่นมือช่วยสังคมในยามวิกฤติบนหลักการที่มีเหตุมีผลและเป็นธรรมต่อสังคม เพราะเงินกู้ 1.6 ล้านล้านบาทนั้นกู้ได้ครั้งเดียวและใช้ได้ครั้งเดียว แต่จะเป็นภาระให้กับคนรุ่นลูกรุ่นหลานที่ต้องชําระคืนเงินที่กู้มาไปอีกนานเท่านาน(จบ)