อย่าให้เครื่องมือแพทย์ขาดแคลน รัฐต้องทำให้ถูก (1)*

อย่าให้เครื่องมือแพทย์ขาดแคลน รัฐต้องทำให้ถูก (1)*

ตั้งแต่ไวรัสโควิดระบาดในประเทศไทยเมื่อกลางเดือนมกราคม ถึงวันนี้รัฐบาลได้ตัดสินใจในแง่นโยบายที่สําคัญสามเรื่องในการแก้ปัญหา

หนึ่ง ให้ความสําคัญกับการแก้ไขวิกฤติด้านสาธารณสุข คือหยุดการระบาดของไข้หวัดโควิด ที่ต้องมาก่อนการแก้ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งถูกต้องเพราะเศรษฐกิจคือประชาชน ถ้าการระบาดไม่หยุด ประชาชนเสียชีวิตมาก เศรษฐกิจก็จะเสียหายมาก ที่สําคัญชีวิตประชาชนไม่สามารถเรียกคืนได้ด้วยมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจ แต่การตัดสินใจดังกล่าวหมายถึงรัฐบาลต้องพร้อมทุ่มทรัพยากรเต็มที่ด้านสาธารณสุขเพื่อลดและยุติการระบาด

สอง ใช้มาตราการควบคุมการเดินทางเข้าออกประเทศและการเว้นระยะห่างของสังคม (social distancing) เพื่อลดการแพร่ระบาด ให้ประชาชนลดการติดต่อ ห้ามชุมนุม งดจัดงาน ให้สถานศึกษาหยุด พนักงานทํางานที่บ้าน คนสูงวัยอยู่บ้าน ปิดตลาดสถานบันเทิงและสถานบริการต่างๆยกเว้นที่เกี่ยวกับอาหารและอาหารนํากลับบ้าน ล่าสุดห้ามประชาชนทั่วประเทศออกนอกบ้านระหว่างสี่ทุ่มุถึงตีสี่ มาตราการเหล่านี้ทําให้คนจํานวนมากที่ทํางานหรือทํามาหากินถูกกระทบโดยเฉพาะในธุรกิจบริการ ขนส่งสาธารณะ และท่องเที่ยว ที่ต้องหยุดทํางาน ไม่มีรายได้ ส่งผลทางลบต่อเศรษฐกิจ

สาม ออกมาตราการดูแลเยียวยาผลกระทบระยะหนึ่งและสอง ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบด้วยการลดภาระทางการเงิน เพิ่มสภาพคล่อง เพิ่มทักษะ ซึ่งวงเงินมากสุดจะใช้กับการให้ความช่วยเหลือแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ที่ถูกกระทบโดยมาตราการหยุดกิจการคนละ 5,000 บาทเป็นเวลาสามเดือน

การตัดสินใจดังกล่าวทําให้แนวทางแก้ไขวิกฤติโควิดของรัฐบาลชัดเจนขึ้น แม้จะใช้เวลานานกว่าจะได้ข้อยุติ แต่ก็ทําให้ประชาชนเข้าใจในวิธีแก้ปัญหาและสามารถติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลได้ ถึงวันนี้ความคืบหน้าและข้อจํากัดของการแก้ไขปัญหาที่ทํามาสรุปได้ดังนี้

หนึ่ง การระบาดยังมีต่อเนื่องและได้กระจายไปในจังหวัดส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งน่าเสียดายเพราะแต่ก่อนการระบาดกว่า80เปอรเซนต์อยู่ที่กรุงเทพ แต่จากที่การทํามาตราการปิดสถานบริการและสถานบันเทิงและมาตราการเยียวยาไม่ประสานกันดีพอ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดกิจการจํานวนมากจึงเดินทางกลับต่างจังหวัดเพราะไม่มีรายได้ การแพร่ระบาดในต่างจังหวัดจึงเร่งตัวขึ้น ล่าสุดมีการประเมินว่า ประชาชนร้อยละ70ให้ความร่วมมือกักต้วอยู่บ้านทําให้ช่องทางการระบาดจะลดลงแม้ตัวเลขการระบาดยังเพิ่มขึ้น

สอง  จํานวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นแม้จะเป็นช่วงต้นของการเร่งตัวของการระบาดได้สร้างแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุขของประเทศอย่างชัดเจน สะท้อนจากการเริ่มขาดแคลนเวชภันท์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่จะต่อสู้กับการระบาดไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย เสื้อชุดปฏิบัติการของแพทย์และพยาบาล เตียงคนไข้ เครื่องช่วยหายใจและเวชภันท์อื่นๆ ทั้งในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ทั้งกรุงเทพและต่างจังหวัด ทําให้โรงพยาบาลต้องขอบริจาคสิ่งของและเงินช่วยเหลือจากประชาชน เพราะถ้าระบบการรักษาพยาบาลมีข้อจํากัด ขาดแคลนจนไม่สามารถให้การรักษาได้อย่างเต็มที่ อัตราการสูญเสียก็จะมากและการระบาดก็จะยี่งบานปลาย

สาม จํานวนผู้ขอรับความช่วยเหลือเดือนละ5000บาทที่ลงทะเบียนมีมากถึง 19.7ล้านคน สูงกว่าที่กระทรวงการคลังตั้งเป้าไว้ที่3ล้านคนกว่าหกเท่า จํานวนดังกล่าวเทียบเท่ากับร้อยละ75 ของกําลังแรงงานทั้งหมดที่ประเทศมีไม่รวมแรงงานในภาคเกษตรและระบบราชการ แสดงชัดเจนว่าแรงงานของประเทศส่วนใหญ่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ถ้าไม่มีรายได้จากการทํางาน ที่สําคัญรัฐบาลไม่มีงบประมานที่จะช่วยเหลือ เพราะงบกลางห้าแสนล้านที่มีในงบประมานปีนี้ได้ถูกจัดสรรไปหมดแล้ว จําเป็นต้องกู้เงิน นอกจากนี้จากนี้ไปก็จะมีธุรกิจจํานวนมากที่ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐเพื่อไม่ให้ล้มละลาย ทําให้รัฐบาลต้องมีหลักการที่จะใช้เงินช่วยเหลือบริษัทเหล่านี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม คําถามคือรัฐบาลจะใช้เงินกู้ทําอะไรเพื่อให้การแก้ไขปัญหาตรงจุด มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมกับสังคม

วันศุกร์ที่แล้วรัฐบาลได้อนุมัติวงเงินกู้1.6ล้านล้านบาทเพื่อเยียวยาเศรษฐกิจ ซึ่งการใช้เงินรวมถึงการอุ้มบริษัทที่มีปัญหา บทความวันนี้มีข้อเสนอข้อเดียวที่อยากให้รัฐบาลพิจารณาสําหรับการแก้ปัญหาในระยะต่อไป นั่นคือ แก้ไขปัญหาการขาดแคลนเวชภันฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ที่ต้องทําอย่างเร่งด่วน เพื่อให้การทําหน้าที่ของหมอและพยาบาลที่อยู่แนวหน้ามีความปลอดภัยและประสพความสําเร็จ รวมถึงทําให้มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลจะใช้อุ้มบริษัทธุรกิจมีเหตุมีผล

จุดอ่อนสําคัญเวลานี้ ซึ่งเป็นข้อต่อที่เปราะบางสุดในห่วงโซ่การแก้วิกฤติโควิด คือความพร้อมของเวชภัณฑ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ต้องมีมากพอที่จะช่วยหมอและพยาบาลรักษาผู้ที่เจ็บป่วยได้อย่างเต็มความสามารถเพื่อลดการระบาดลดการสูญเสีย รวมถึงป้องกันหมอและพยาบาลไม่ให้ติดเชื้อและเจ็บป่วยตามไปด้วย ในเรื่องนี้ต้องยอมรับว่าประเทศเราเริ่มมีความขาดแคลน เป็นปัญหาสําคัญที่ต้องเร่งแก้ไข ประเด็นคือ แม้เราจะมีเงินซื้ออุปกรณ์เหล่านี้จากการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมหรือการบริจาคของประชาชน แต่สินค้าเหล่านี้อาจไม่มีขายในตลาด เพราะการผลิตในประเทศทําไม่ได้หรือทําได้ไม่พอ หรือเพราะนโยบายควบคุมการค้าในประเทศลดแรงจูงใจให้ผู้ผลิต ขยายการผลิตหรือไม่สามารถนําเข้าสินค้าจากต่างประเทศได้เพราะอุปกรณ์ขาดตลาดทั่วโลก เป็นปัญหาด้านอุปทานหรือการผลิตมากกว่าด้านอุปสงค์

คําถามคือทําอย่างไรให้ประเทศเราสามารถพึ่งตนเองในเรื่องเวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ที่จะต่อสู้กับไข้หวัดโควิดให้ได้มากที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดภาวะขาดแคลน(อ่านต่อฉบับหน้า)

* ชื่อเต็ม: อย่าให้เครื่องมือแพทย์ขาดแคลน และรัฐต้องทําให้ถูกในการอุ้มบริษัท