ความสุขทางจิตใจสำคัญกว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

ความสุขทางจิตใจสำคัญกว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

ปัญหาโรคระบาด น่าจะช่วยให้คนที่ฉลาดหน่อยได้คิดใหม่ว่าเรื่องสุขภาพและการมีชีวิตที่ปลอดภัยไร้กังวล สำคัญกว่าเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

 แม้การมีรายได้เพิ่มขึ้นจะช่วยตอบสนองความต้องการทางร่างกายให้กับคนรวย คนชั้นกลางได้เพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้สร้างความสงบสุขทางจิตใจเสมอไป

นโยบายรัฐที่เน้นแต่การเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่มีการกระจายทรัพย์สินและรายได้ที่ไม่เป็นธรรมสูง ทำให้ประชาชนมีปัญหาความเครียด ความทุกข์ ความไม่พอใจ ปัญหาสุขภาพจิต และปัญหาสังคมต่างๆ เพิ่มขึ้น ปัญหาโรคระบาดแพร่ขยายไปทั่วโลก ส่วนหนึ่งก็มาจากการเน้นการผลิตและการบริโภคมาก การทำลายความสมดุลของธรรมชาติ การอยู่กันอย่างแออัด เดินทางมาก มีกิจกรรมติดต่อคนมาก ฯลฯ

บทความของนักจิตวิทยา อับราฮัม มาสโลว์ (1908-1970) เรื่องทฤษฎีแรงจูงใจของมนุษย์ ที่เสนอแนวคิดเรื่องความต้องการที่จำเป็น (Needs) 5 ระดับชั้นของมนุษย์ ทำให้น่าคิดว่าถ้ารัฐบาลผู้วางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฟังนักจิตวิทยาแนวนี้มากขึ้น เราน่าจะวางเป้าหมายการพัฒนาเพื่อคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ที่ดีกว่าการเน้นเรื่องการเพิ่มการผลิต การบริโภคสินค้าและบริการมากเกินไป

ความต้องการที่จําเป็นของมนุษย์ ขั้นที่ 1 ขั้นต่ำสุดคือความต้องการทางร่างกาย เช่น การหายใจ กินอาหาร น้ำ นอน ขับถ่าย มีเพศสัมพันธ์ การมีสภาพความสมดุลในร่างกาย

ขั้นที่ 2 คือความต้องการความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต การมีสุขภาพที่ดี มีงานทำ หรือมีแหล่งที่มาของรายได้ การมีครอบครัว มีทรัพย์สิน อยู่ในสังคมที่ปลอดภัย

ขั้นที่ 3 คือความต้องการความรัก ความสนิทสนม ความสุขทางเพศ ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวและชุมชน

ขั้นที่ 4 คือความต้องการการให้ความยอมรับนับถือ (Esteem) เช่นการให้ความนับถือตนเอง ความเชื่อมั่น การทําอะไรได้รับความสําเร็จ การยอมรับนับถือผู้อื่น และการที่ตนเองได้รับการยอมรับนับถือจากผู้อื่น

ขั้นที่ 5 ซึ่งเป็นขั้นสูงสุด คือ Self Actualization การสร้างแรงจูงใจ ใฝ่สัมฤทธิ์ขั้นสูง สําหรับคนที่สามารถสนองความต้องการ 4 ขั้นแรกได้อย่างพอเพียงแล้ว มนุษย์ยังต้องการพัฒนาศักยภาพของตน เช่นการมีจริยธรรม มีความคิดสร้างสรรค์ การตอบสนองสิ่งต่างๆ อย่างเป็นธรรมชาติ การรู้จักแก้ปัญหาได้ดี ไม่มีอคติ ยอมรับความจริง เพื่อจะได้มีชีวิตที่ดีมีความหมาย มีจิตใจสงบสุขที่น่าพอใจด้วย

มาสโลว์เห็นว่าการที่มนุษย์เราพยายามตอบสนองความต้องการที่จําเป็นของตนเองตามลําดับขั้นดังกล่าว คือการพัฒนาความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ โดยเฉพาะขั้นที่ 5 ซึ่งเป็นความต้องการเพื่อการเจริญงอกงามที่สร้างแรงจูงใจให้มนุษย์พัฒนาต่อได้ ในขณะที่ความต้องการขั้นแรกนั้นเป็นความต้องการที่จําเป็นที่เมื่อมนุษย์ได้มา เขาอาจรู้สึกเฉยๆ คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าเขาขาดแคลนไม่ได้รับการสนองความต้องการที่จำเป็นทั้ง 4 ขั้นแรกนี้เมื่อใด เขาจะรู้สึกกระวนกระวาย

มาสโลว์เห็นว่าสังคมจะต้องช่วยให้มนุษย์ทุกคนได้สนองความต้องการขั้นพื้นฐานทั้ง 4 ขั้นให้ได้ก่อน พวกเขาจึงจะพัฒนาไปสู่การสนองความต้องการขั้นที่ 5 ซึ่งเป็นความต้องการขั้นสูงสุดได้ การสนองความต้องการขั้นที่ 5 ได้ จะช่วยให้คนเรามีสุขภาพจิตที่ดี ทํากิจกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ และถ้าเรามีคนแบบนี้มากๆ เราก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกนี้ (ที่มีปัญหาการแก่งแย่งแข่งขัน การขัดแย้งกัน ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความไม่สมดุล ฯลฯ) ให้เป็นโลกที่ดีขึ้นได้

มาสโลว์เห็นว่าแทนที่สังคมของเราจะใช้พลังงานและความใฝ่ฝันของเราในการผลิตสิ่งต่างๆ ที่ดีขึ้นและเร็วขึ้น เราควรจะสร้างสังคมชนิดที่จะช่วยสร้างคนที่มีแรงจูงใจใฝ่สําเร็จขั้นสูง ตามแนวคิดของเขามากกว่าเพิ่มขึ้นมากกว่า

มาสโลว์คิดถึงเรื่องคนที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ขั้นสูง จากการที่เขารู้สึกชื่นชมอาจารย์ของเขา 2 คนคือ รูธ เบเนดิก นักมานุษยวิทยา และ Max Wertheimer นักจิตวิทยา ซึ่งเขามองว่าคนทั้งสองเป็นมนุษย์ที่มีวิวัฒนาการขั้นสูงในทุกแง่ เป็นคนประเภทอุทิศตัวให้กับสิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้กับการทำงานที่มีความหมาย สิ่งที่มีคุณค่า เช่น ความจริง ความงาม ความดี ความเรียบง่าย ซึ่งเป็นความพึงพอใจด้านจิตใจและจิตวิญญาณ

มาสโลว์เชื่อว่าปัญหาทางจิตใจของมนุษย์ล้วนมาจาก “ความป่วยไข้ทางจิตวิญญาณ” ซึ่งเกี่ยวข้องกับการกังวล ความรู้สึกว่าความต้องการที่จําเป็นของตนยังไม่ได้รับการสนองตอบ รวมทั้งการมีชีวิตที่ขาดจุดมุ่งหมาย หรือขาดความหมาย คนส่วนใหญ่ต้องการตอบสนองความต้องการทางจิตใจทั้ง 5 ขั้นอยู่ลึกๆ โดยที่ตัวเขาเองอาจจะไม่ได้ตระหนัก ไม่ได้เข้าใจหรือเพราะพวกเขารายได้ต่ำ ไม่ได้คิดอะไรมาก ติดอยู่ในแค่การดิ้นรนทำงานหาเงินเพื่อความต้องการ 2 ขั้นทางด้านกายภาพ

มาสโลว์คือผู้ที่เริ่มมองว่าแทนที่วิชาจิตวิทยาจะคิดอยู่ในกรอบของการรักษาคนป่วยไข้ทางจิต ควรช่วยให้คนทุกคนมีสุขภาวะทางจิตที่ดี มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นคนที่มีวุฒิภาวะ จิตวิทยาควรจะมุ่งไปที่การพัฒนา “ความเป็นมนุษย์อย่างเต็มเปี่ยม สำหรับคนที่ป่วยไข้ทางจิตหรือมีความทุกข์ คือคนที่ยังมีปัญหาทางความคิดจิตใจไม่ได้ก้าวไปถึงขั้นสนองแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ของตนได้เต็มที่ ดังนั้น สังคมควรหาทางช่วยเหลือให้มนุษย์เข้าใจและก้าวไปสู่การสนองความต้องการทางจิตใจในขั้นที่สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวเองและเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ

โลกยุคปัจจุบันคนมีรายได้ยังชีพแบบพอเพียงที่จะสนองความต้องการทางกายขั้นแรกๆ เพิ่มขึ้น แต่พวกเขายังขาดการรู้จักมองชีวิตและสังคมแบบก้าวหน้า แสวงหาความสุขสงบทางจิตใจ แสวงหาคุณภาพชีวิตในสังคมที่เป็นธรรม มีสันติภาพ มีสภาพแวดล้อมที่ดี และยังไม่เข้าใจว่าเรื่องเหล่านี้มีความหมายต่อชีวิตกว่าการแข่งขันทำงานความร่ำรวยทางวัตถุ ซึ่งแม้จะจำเป็นในระดับหนึ่ง แต่การมุ่งแข่งขันหาเงินกันมากไปก็สร้างปัญหาด้วยเช่นกัน

แน่ละสำหรับคนจนซึ่งเป็นส่วนใหญ่สังคมควรสนองตอบความต้องการพื้นฐานทางร่างกายและชีวิตครอบครัวอย่างพอเพียงให้พวกเขาได้ก่อน ขณะเดียวกันสังคมก็ต้องให้ความรู้ พัฒนาความคิดจิตใจของคนจนให้รู้จักคิดสนองความต้องการความพอใจทางจิตใจในขั้นที่สูงขึ้นด้วย

เพราะคนส่วนใหญ่ในโลกปัจจุบันถูกระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมครอบงำให้มุ่งหาเงินเพื่อการบริโภคด้านเดียว ไม่ว่าจะเป็นคนมีรายได้มาก ปานกลาง หรือค่อนข้างต่ำ ต่างก็คิดแบบเดียวกัน คืออยากมีรายได้เพิ่มขึ้น รู้สึกไม่พอและมุ่งแต่หาเงิน เช่น ทำงานหนักแบบล่วงเวลา หรือทำงานหลายงาน มีความเครียดมาก หาความสุข ความพอใจไม่พบอยู่นั่นเอง

(อ่านเพิ่มเติม วิทยากร เชียงกูล. 14 หลักคิด พัฒนาตนเองสู่ความเป็นเลิศ. ไทยควอลิตี้บุ๊ค, 2562 และ ปรัชญาชีวิต แง่คิดและคำปลอบโยน. แสงดาว, 2562)