หรือโควิด-19 จะขวิดตลาดแรงงาน

หรือโควิด-19 จะขวิดตลาดแรงงาน

คาดกันว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัวลงไม่น้อยกว่า 0.14% คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 54,000 ล้านดอลลาร์

สำหรับประเทศไทยนั้น หน่วยงานด้านเศรษฐกิจหลายแห่งมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะมีค่าติดลบ ดีไม่ดีอาจจะติดลบมากว่าร้อยละ 5 เสียด้วยซ้ำ

เมื่อก่อนถ้าเศรษฐกิจไม่ดีแล้วตกงาน พอเศรษฐกิจดีขึ้นก็กลับมาหางานทำได้ แต่ตอนนี้ พอเศรษฐกิจไม่ดีแล้วตกงาน หลักจากเศรษฐกิจกลับมาดีงานก็โดนเทคโนโลยีแย่งไปทำหมดแล้วผลกระทบจากเศรษฐกิจหดตัวคราวนี้ทั้งผลในระยะสั้นและระยะยาว

จากการประมาณค่าของแม็คคิบบินและเฟอร์นานโดเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตลาดแรงงานในภาพรวมของโลก โดยจำแนกตามระดับรายได้ต่อหัวของประเทศ และแบ่งระดับผลกระทบจากการแพร่ระบาดออกเป็นผลกระทบระดับต่ำ ผลกระทบระดับปานกลาง และผลกระทบระดับสูง พบว่า ในภาพรวมของโลก หากเกิดผลกระทบต่ำ จะมีผู้ตกงานเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 5.3 ล้านคน ผลกระทบระดับปานกลางจะมีผู้ตกงานเพิ่มขึ้น 13 ล้านคน และผลกระทบระดับสูงจะมีผู้ตกงานเพิ่มขึ้น 24.7 ล้านคน สำหรับกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ผลกระทบจะทำให้มีผู้ตกงานในประเทศกลุ่มนี้รวมกันทั้งหมดราว 1.7 ถึง 7.4 ล้านคน

ผลที่ได้ข้างต้นสอดคล้องกับแถลงการณ์ขององค์การนายจ้างระหว่างประเทศและองค์การสมาพันธ์การค้าระหว่างประเทศที่ระบุว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ ผลกระทบต่อการจ้างงาน รวมถึงเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับนโยบาย นายจ้าง และลูกจ้าง ทำความเข้าใจกับผลกกระทบที่เกิดขึ้นกับการจ้างงาน เพื่อให้สามารถกำหนดแนวทางช่วยเหลืออย่างเหมาะสมกับความต้องการของแรงงานในแต่ละกลุ่มได้

สำหรับผลกระทบที่จะมีต่อแรงงานกลุ่มเปราะบางที่มีรายได้ต่ำ องค์การแรงงานระหว่างประเทศคาดว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นตั้งแต่มีการระบาดจนถึงวันที่ 10 มี.ค.2563 ประเมินแล้วเทียบเท่ากับการสูญเสียเวลา 30,000 เดือนของการทำงาน ชั่วโมงทำงานที่หายไปนี้ย่อมหมายถึงการสูญเสียรายได้ คิดเป็นมูลค่ารวมแล้วอาจสูงถึง 3,440 พันล้านดอลลาร์ตารางที่แสดงไว้ กลุ่มที่มีโอกาสได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ 1) กลุ่มผู้สูงอายุหรือผู้มีปัญหาสุขภาพ 2) กลุ่มแรงงานเยาวชนที่มักจะเป็นกลุ่มที่มีความเสียงสูงต่อการถูกเลิกจ้างหรือลดชั่วโมงการทำงาน โดยเฉพาะแรงงานกลุ่มที่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ (ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วช่วงการแพร่ระบาดของโรค MERS) 3) แรงงงานหญิง 4) แรงงานนอกระบบ และ 5) แรงงานข้ามชาติ

อย่างไรก็ตาม มาตรการที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ใช้ในการบรรเทาผลกระทบตอนนี้ ส่วนใหญ่ยังจำกัดอยู่เฉพาะการลดผลกระทบเฉพาะหน้า ยังไม่มีนโยบายระยะยาวที่ชัดเจน อาจเนื่องมาจากขณะนี้ผลกระทบยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงยังไม่เห็นภาพว่าหลังจากนี้ไปจะมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นอีกบ้าง

โดยสรุปแล้ว ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือ 1) นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสร้างความต้องการแรงงาน และ 2) นโยบายด้านการสนับสนุนการจ้างงานและรายได้

นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสร้างความต้องการแรงงาน เป็นนโยบายระยะสั้น โดยประเทศออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐ ใช้เครื่องมือทางการเงินด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย ประเทศเกาหลีใต้เพิ่มรายจ่ายภาครัฐมูลค่า 3 ล้านล้านวอนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อิตาลีลดภาษีเงินได้ แรงงานได้รับการยกเว้นไม่ต้องส่งเงินเข้าประกันสังคม และเลื่อนระยะเวลาการชำระหนี้

นโยบายด้านการสนับสนุนการจ้างงานและรายได้ ได้แก่ 1) การลดชั่วโมงทำงานโดยไม่ลดค่าตอบแทนที่ใช้ในประเทศเกาหลีใต้ เยอรมนี อิตาลี และเนเธอร์แลนด์ 2) นโยบายรักษาการจ้างงานเพื่อไม่ให้แรงงานต้องโดนเลิกจ้างในช่วงที่ปิดโรงงาน และ 3) การให้ผลประโยชน์ชดเชยสำหรับผู้ตกงาน ทั้งที่ผ่านระบบประกันสังคม และค่าใช้จ่ายแบบให้เปล่าเพียงครั้งเดียว เช่น ในฮ่องกง ผู้ตกงานจะได้รับเงินชดเชยจำนวน 1,280 ดอลลาร์ เพื่อช่วยเหลือค่ายังชีพ

คำถามก็คือ ประเทศไทยได้มีการวางแผนหรือยังว่าจะช่วยเหลือแรงงานที่ตกงานเหล่านี้อย่างไรให้เขาได้กลับมามีงานทำให้เร็วที่สุดหลังจากที่โควิด-19 เลิกขวิดตลาดแรงงานแล้ว