“ฝุ่นพิษ: #เชียงใหม่ไม่ไหวแล้ว

“ฝุ่นพิษ: #เชียงใหม่ไม่ไหวแล้ว

ในบทความครั้งที่แล้วที่ชื่อว่า “ฝุ่นพิษ: อนาคตที่เลือก(ไม่)ได้” นั้น มีกระแสตอบรับและต่อต้านพอสมควรที่จะนำมาอภิปรายต่อในคราวนี้

สำหรับผู้อ่านที่พลาดบทความครั้งที่แล้วขอทบทวนสักนิดว่าบทความครั้งที่แล้วพูดถึงสาเหตุของการทำให้เกิดฝุ่นพิษนอกกรุงเทพฯ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเผาในที่โล่ง เช่น การเผาข้าวโพดและอ้อยเพื่อเก็บเกี่ยว หรือการเผาป่าเพื่อหาของป่า

เนื่องด้วยหน้ากระดาษจำกัด บทความครั้งที่แล้วอาจอธิบายได้ไม่ดีพอ จึงขอย้ำไว้ในที่นี้ว่าวัตถุประสงค์ของการเขียนบทความที่แล้วไม่ใช่เพื่อที่จะกล่าวโทษใคร แต่ต้องการพูดให้เห็นชัดเจนว่าต้นเหตุคืออะไร ควรใช้มาตรการอะไร ทุกวันนี้รัฐบาลใช้แต่มาตรการเชิงรับแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ใช้มาตรการเชิงรุกแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุเช่น กลุ่มที่เคลื่อนไหวเรื่องฝุ่นพิษมักจะมองจากจุดยืนของตน กลุ่มเอ็นจีโอก็เกรงใจเกษตรกร กลุ่มรัฐบาลก็เกรงใจนายทุนใหญ่ ทั้งๆ ที่ 2 พวกนี้ที่จริงมีผลประโยชน์ร่วมกันและร่วมกันสร้างปัญหาฝุ่นพิษด้วยกัน เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็ไม่เอาความจริงมาพูดกัน มาตรการที่มีก็ได้แต่เยียวยาและบรรเทาเท่านั้น ผลก็คือปัญหาก็ยืดเยื้อมาจนถึงทุกวันนี้

ประเด็นที่ 2 ที่อยากจะย้ำคือ การแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษไม่ใช่เป็นเป็นปัญหาเฉพาะที่(Area based)แต่อย่างเดียว จึงใช้วิธีการไล่จับ(ซึ่งก็จับไม่ได้)อย่างเดียวไม่ได้ แต่เป็นปัญหาระดับประเทศจึงต้องแก้ด้วยนโยบายสาธารณะระดับประเทศ ซึ่งต้องไปเปลี่ยนแรงจูงใจของการปลูกข้าวโพด ทำให้ข้าวโพดที่เผามีราคาถูกกว่าข้าวโพดที่ไม่เผา เกษตรกรจึงจะมีแรงจูงใจที่จะเลิกเผาไร่ข้าวโพดหลังเก็บเกี่ยวหรือเลิกเผาอ้อยเพื่อเก็บเกี่ยวนโยบายที่สร้างความแตกต่างของราคาได้คือ นโยบายการนำเข้าสินค้าเกษตรและนโยบายอุดหนุนสินค้าเกษตรที่สามารถตรวจสอบที่มาของสินค้าเกษตรที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นมาตรการที่รัฐบาลยังไม่เคยใช้

ประเด็นที่ 3 คือการใช้นโยบายที่ชัดเจนและมีผลต่อแรงจูงใจการปลูกสินค้าเกษตรที่กล่าวมา มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของเกษตรกรเพราะอาจถูกไล่ออกจากตลาดไป เนื่องจากเกษตรกรไม่มีทางเลือกอื่นมากนักที่จะไม่เผาการปลูกข้าวโพดแล้วเผาหลังเก็บเกี่ยวเป็นวิธีการปลูกที่ต้นทุนต่ำที่สุดถึงกระนั้นก็ได้รายได้สุทธิแค่ไร่ละ 2,000 บาท ถ้าจะไปจ้างรถมาไถหลังเก็บเกี่ยวก็จะหายไปอีก 500 บาทก็จะได้แค่ 1,500 บาทต่อไร่ซึ่งถ้าปลูก 20 ไร่ก็จะได้แค่ 30,000 บาทเท่านั้น ดังนั้นเกษตรกรจึงมีแรงจูงใจที่ต้องขยายพื้นที่ให้มากเข้าไว้เพื่อให้ได้รายได้มากขึ้นในขณะเดียวกันก็ต้องเผาเพื่อลดต้นทุน ดังนั้นคนที่ต้องการให้เกษตรกรเลิกเผาเพื่อทำให้สุขภาพของตรงเองดีขึ้นก็อาจจะจำเป็นที่จะต้องยอมรับหรือดูดซับต้นทุนเอานี้ไว้กล่าวคือคนในเมืองอาจจะต้องยอมบริโภคสินค้าเกษตรที่แพงขึ้นคือยอมกินหมูไก่ และไข่ในราคาที่แพงขึ้นเพราะข้าวโพดที่เป็นอาหารสัตว์นั้นราคาแพงขึ้น 

การยอมรับนี้เป็นไปตามหลักการที่จะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งแต่เดิมนั้นหลักการที่เราใช้กันอย่างแพร่หลายก็คือผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย(Polluter pays policy) แต่ยังมีอีกหลักการหนึ่งซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่เคยพูดถึงมากนักคือหลักการผู้ได้รับผลประโยชน์จากการลดมลพิษเป็นผู้จ่าย(Beneficiary pays policy) หลักการประเภทหลังนี้นักเศรษฐศาสตร์จะใช้ต่อเมื่อผลประโยชน์ตกแก่คนกลุ่มใหญ่ ที่มีความสามารถในการรับต้นทุนหรือสามารถเฉลี่ยต้นทุนภายในกลุ่มได้ ในขณะที่ผู้ก่อมลพิษเป็นกลุ่มที่จนกว่าหรือเป็นกลุ่มที่มีขนาดเล็กกว่าและมีต้นทุนสูงกว่าแต่ทั้งนี้ผลรวมของสังคมจะต้องเป็นบวก หลักการอันนี้รัฐบาลเราไม่ชอบใช้ เพราะจะมีผลกระทบต่อคนในเมืองซึ่งเสียงดังกว่าคนนอกเมือง

ประเด็นที่ 4 หากจะต้องการให้เกษตรกรเลิกเผาฯ ก็ควรมีโมเดลทางเลือกอาชีพอื่นซึ่งทำให้เกษตรกรมีรายได้ดีกว่า ข้อนี้น่าจะเป็นอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุด เพราะการเปลี่ยนอาชีพนั้นจะต้องใช้เงินลงทุนสูงเพราะการลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดหมายความว่าจะต้องใช้ทางเลือกเกษตรประเภทปศุสัตว์ซึ่งจะต้องใช้เงินลงทุนสูง เพราะการยกระดับรายได้โดยลดพื้นที่การปลูกหรือเพิ่มต้นทุนเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมหมายความว่าการลงทุนใหม่นั้นจะต้องอาศัยทุนที่มากขึ้นจึงจะทำให้เกษตรกรมีชีวิตดีขึ้น ทีมวิจัยของ รศ.ดร.ศิริพร กิรติการกุล มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เคยคำนวณว่าต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อครัวเรือนจึงแนะนำว่าให้ค่อยๆ ทำทีละอำเภอเป็นโครงการนำร่องให้เห็นผลที่ชัดเจนก่อนดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

ประเด็นที่ 5 นอกจากจะใช้นโยบายราคาแล้ว เรายังอาจใช้มาตรการการมีส่วนร่วมที่จะลดปัญหาลงพร้อมๆ กันโดยความร่วมมือระหว่างคนในเมืองกับคนนอกเมือง หรือระหว่างผู้บริโภคกับผู้ผลิตสินค้า ซึ่งทั้ง 2 กลุ่ม ก็เป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยอาจมีโครงการร่วมกันระหว่างพื้นที่ที่มีการเผาในที่โล่งกับคนที่อาศัยอยู่ในเมือง โดยคนที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้นเปิดโอกาสให้มีตลาดสินค้าจากพื้นที่เกษตรที่ไม่เผา แต่เรื่องนี้ต้องอาศัยการบริหารจัดการเป็นโครงการ ซึ่งผู้เขียนขอเสนอ สสส.หรือกิจกรรม CSR ของบริษัทที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการผลิตสินค้าที่กล่าวถึง ซึ่งโครงการควรรวมกิจกรรมในประเด็นที่ 4 ไว้ด้วย

ประเด็นที่ 6 การตัดสินใจแก้ปัญหาย่อมมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แล้วเราจะเอาใครเป็นหลัก เมื่อ 15 ปีที่แล้วที่ปัญหาฝุ่นควันยังน้อยอยู่ ผู้เขียนเลือกเกษตรกรเป็นตัวตั้งเพราะตอนนั้นประโยชน์ของเกษตรกรมากกว่าประโยชน์ของคนในเมืองและปัญหาก็ไม่รุนแรงเท่านี้ เกษตรกรก็ยากจนกว่านี้มาก จึงเห็นว่ายังไม่ถึงเวลาให้ยุติการเผา แต่เวลานี้จำนวนผู้ที่ได้รับผลประโยชน์อยู่ในเมืองนั้นมากกว่าเกษตรกรแล้ว และเกษตรกรที่เผาก็ล้วนเป็นกิจกรรมเชิงพาณิชย์ทั้งสิ้น มาตรการที่แนะนำให้ใช้ก็ยังต้องให้ผู้ได้ประโยชน์คือคนในเมืองเป็นผู้รับภาระคนในเมืองในปัจจุบันก็สามารถรับต้นทุนส่วนหนึ่งจากอาหารที่แพงขึ้นเพื่อให้ได้ประโยชน์ด้านสุขภาพที่ดีขึ้น

ประเด็นสุดท้ายที่ยังไม่ได้พูดถึงก็คือ การแก้ไขปัญหาของการเผาในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งก็จะก่อให้เกิดฝุ่นพิษที่พัดเข้ามาในเขตแดนของไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งการแก้ไขปัญหาจะต้องอาศัยการเจรจาระหว่างประเทศ ซึ่งเราก็ควรมีมาตรการสนับสนุนให้เอาข้าวโพดของประเทศเพื่อนบ้านเฉพาะที่เก็บเกี่ยวโดยวิธีไม่เผาเข้ามาขายได้ หากจะถามว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นพื้นที่ไหนก็คงจะต้องทำเกษตรพันธสัญญาข้ามประเทศเป็นที่ๆ ไปแล้วติดตามดูจากฮอตสปอตแต่ที่ยากกว่านั้นก็คือถ้าเราอยากจะให้คนอื่นเปลี่ยนพฤติกรรมเราเองก็ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมของเราให้ได้ก่อนถ้าเรายังไม่ทำไม่ได้ก็จะเป็นเรื่องยากจะกลายเป็นว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง

ที่น่าแปลกใจคือ ไฟที่คุกรุ่นอยู่หลังพระธาตุดอยสุเทพนี้เกิดจากใคร ไม่ใช่ข้าวโพดแน่นอน แต่หากเป็นการเผาของป่า ก็ไม่น่าจะใช่ สัตว์ป่าใกล้เมืองน่าจะน้อย อาจใช้ภาพถ่ายดาวเทียมย้อนหลังเพื่อทำความจริงให้กระจ่าง

ถ้าไม่แก้กันที่ต้นเหตุก็ต้องจำทนอยู่กับอนาคตที่เลือกไม่ได้!

โดย ... 

มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ