Social Distancing มิติสังคมวิทยา*

Social Distancing มิติสังคมวิทยา*

สถานการณ์ COVID-19 ระบาดไม่หยุดทั่วโลก ณ วันที่ 29 มี.ค. 2563 มีผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 6 แสนราย โดย WHO เตือนว่าสหรัฐฯ

อาจกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดใหม่ ขณะที่ไทยมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเร็วสะสมกว่าพันราย ซึ่งล้วนกระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จังหวัดท่องเที่ยวและชายแดนภาคใต้ จนทำให้รัฐบาลตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดเพื่อเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการเพิ่มระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)

ทำไมต้องใช้มาตรการ Social Distancing

ในทางระบาดวิทยาเป็นที่ยอมรับกันว่าการต่อสู้กับโรค COVID-19 มี 2 แนวทาง คือ (1) การบรรเทาความเสียหาย โดยให้กลุ่มเสี่ยง เช่น แยกตัวผู้สูงอายุออก หรือการกักโรค (Quarantine) ผู้ป่วยหรือกลุ่มเสี่ยง (2) การยับยั้งโรคโดยใช้ Social Distancing เพื่อชะลอการแพร่ระบาดไม่ให้จำนวนผู้ป่วยสูงจนเกินขีดความสามารถของระบบสาธารณสุข หรือเป็นอาวุธสำคัญในการ ลดระดับความชันของเส้นโค้งของจำนวนผู้ป่วยได้

บทเรียนการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนเมื่อ 100 ปีที่ผ่านมาชี้ว่า “Social Distancing” ไม่ล้าสมัย และเป็นหนึ่งในยุทธวิธีที่ดีที่สุดที่ใช้ต่อสู้กับโรคระบาด ต่างกันที่ในครั้งนี้มีการใช้เทคโนโลยี Big Data และ AI ร่วมด้วย ทั้งการรวมฐานข้อมูลสุขภาพกับข้อมูลการเข้าเมืองเพื่อระบุตัวตน ติดตามประวัติการเดินทาง และแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์ ซึ่งภาครัฐก็ใช้มาตรการสู้วิกฤตนี้อย่างเข้มข้น ทั้งแอปพลิเคชันติดตามตัว การทำงานที่บ้าน การห้ามชุมนุม การปิดสถานประกอบการและสถานศึกษา รวมทั้งการตั้งจุดคัดกรองผู้เดินทางข้ามจังหวัดอย่างเข้มข้น

หลังจากมีการปิดสถานประกอบการในกรุงเทพและปริมณฑล เราทราบข่าวความลำบากของแรงงานจำนวนมาก และภาครัฐก็ไม่ได้นิ่งนอนใจโดยได้ออกมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาลดผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อทุกกลุ่ม หนึ่งในนั้นคือ การจ่ายเงินเยียวยาให้แรงงานนอกระบบตามมาตรา 39 และ 40 ลูกจ้างชั่วคราว และอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบ รายละ 5,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน ส่วนแรงงานในระบบได้รับเงินชดเชยตามเกณฑ์ประกันสังคม ซึ่งพบว่า ณ วันที่ 29 มี.ค.63 มีผู้สมัครกว่า 17 ล้านคนหลังจากเปิดลงทะเบียนไปเพียงวันเดียว

158557325411

จากงานศึกษาของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) St. Louis (2020) พบว่า Social Distancing กระทบต่อแรงงานทุกกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องติดต่อกับลูกค้าใกล้ชิด ส่วนใหญ่เป็นงานบริการ อาทิ ช่างตัดผม นักกายภาพ และพนักงานเสิร์ฟ ซึ่งในสหรัฐฯ มีอยู่ราว 27.3 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 5 ของแรงงานรวม เมื่อเราใช้หลักการเดียวกันมาวิเคราะห์ พบว่าแรงงานนอกระบบของไทยที่เปราะบางมากคือ อาชีพบริการ5 ล้านคน อาชีพพื้นฐาน เช่น กลุ่มผู้ใช้แรงงาน พนักงานรับส่งเอกสาร และพนักงานทำความสะอาด ที่1.8 ล้านคน รวม 6.8 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 1 ใน 5 ของแรงงานรวม ใกล้เคียงกับกรณีศึกษาในสหรัฐฯ ขณะที่การทำงานที่บ้านก็มีความท้าทาย (Pew Research Centre, 2020) ในสหรัฐฯ มีเพียง 7% ของแรงงานภาคเอกชนและ 4% ของแรงงานภาครัฐ ที่สามารถทำงานที่บ้านได้ ส่วนใหญ่เป็นผู้บริหาร และพนักงานออฟฟิศ ซึ่งในไทยก็น่าจะมีความท้าทายคล้ายกัน

มิติสังคมวิทยา: แรงงานอพยพเพื่อความอยู่รอด

“Social Distancing” ทำให้แรงงานในเมืองมีรายได้ลดลงขณะที่ค่าใช้จ่ายยังสูง ไม่มีความคุ้มครองทางสังคม ซึ่งเป็นปัจจัยผลักดันในเชิงประชากรศาสตร์ที่ก่อให้เกิดคลื่นอพยพของแรงงาน ผลการสัมภาษณ์แรงงานนอกระบบที่เป็นเครือข่ายศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงาน จุฬาฯ พบว่า แรงงานที่กลับบ้านส่วนใหญ่เป็นกลุ่มรายได้น้อย ลูกจ้างรายวัน เป็นแรงงานหญิงในภาคบริการ โรงแรม และภัตตาคารการตัดสินใจกลับภูมิลำเนาถือเป็นหนึ่งในยุทธวิธีปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในช่วงวิกฤติ แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ดังนี้

(1) กลุ่มที่จำเป็นต้องกลับ ได้แก่ กลุ่มที่ถูกเลิกจ้างเพราะสถานประกอบการปิดถาวร และกลุ่มที่ถูกเลิกจ้างชั่วคราว เช่น ถูกลดวันทำงาน ลดค่าจ้าง หรือให้หยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง รายได้ที่ลดลงทำให้ไม่สามารถแบกรับภาระค่าครองชีพในเมืองที่สูงได้ แต่ยังโชคดีที่มีภูมิลำเนาเดิมให้กลับไปพึ่งพิง ส่วนใหญ่เป็นครัวเรือนเกษตรในชนบท ทั้งนี้ คาดว่าแรงงานบางส่วนอาจกลับภูมิลำเนาถาวรหากสามารถหางานหรือทำธุรกิจส่วนตัวได้

(2) กลุ่มที่กลับดีกว่าไม่กลับ ได้แก่ กลุ่มที่หยุดงานเพราะสถานประกอบการปิดชั่วคราว และกลุ่มที่นายจ้างให้ทำงานที่บ้าน แม้บางรายมีรายได้หรือเงินออมพอต่อการดำรงชีวิตในเมือง แต่ต้องการกลับภูมิลำเนาเพื่อลดต้นทุน คาดว่าแรงงานกลุ่มนี้สามารถกลับมาทำงานได้เมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ

(3) กลุ่มที่กลับเพื่อพักผ่อนหรือทำงานจากบ้านในต่างจังหวัดชั่วคราว ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มีทักษะที่ทำงานที่บ้านได้ กลุ่มนี้แม้ไม่ได้รับผลกระทบแต่ตัดสินใจกลับ เพราะคิดว่าการใช้ชีวิตในเมืองไม่สะดวก บางรายตัดสินใจกลับก่อนไม่ได้หยุดสงกรานต์ หรือประเมินว่าอาจมีการห้ามเดินทาง

ที่น่าสนใจคือ แรงงานบางกลุ่มปรับตัวได้ด้วยการเปลี่ยนวิถีการประกอบอาชีพให้สอดรับกับความต้องการของเมือง โดยเปลี่ยนไปทำงานที่ใกล้เคียงเดิมตามความถนัด เช่น เปลี่ยนจากเย็บเสื้อผ้าเป็นเย็บหน้ากากผ้าขาย จากขับรถรับจ้างเป็นขับรถรับส่งอาหาร

 “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติฝ่าวิกฤติ COVID-19

ยามวิกฤตเช่นนี้ ความเข้าใจบริบททางสังคมของประชาชนแต่ละกลุ่มเป็นเรื่องท้าทาย โดยเฉพาะกลุ่มไม่มีทรัพยากรพื้นฐานของการเว้นระยะห่างทางสังคม เช่น กลุ่มหาบเร่แผงลอย คนไร้บ้าน ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเร่งด่วน รวมถึงการเร่งสร้างงานรองรับแรงงานย้ายถิ่นในพื้นที่ต้นทาง และการช่วยเหลือเงินทุนตั้งต้น ความรู้และเทคโนโลยีหากต้องการทำธุรกิจส่วนตัว

การเพิ่มความสามารถใน “การเข้าถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์และสิ่งของที่ใช้ในการต่อสู้กับ COVID-19 มีความสำคัญยิ่ง เหนือสิ่งอื่นใด ความสำเร็จของ Social Distancing ขึ้นกับการร่วมมือร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวของคนไทยทุกคนในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัด สุดท้ายนี้ ผู้เขียนขอเป็นตัวแทนคนไทยส่งกำลังใจให้บุคลากรการแพทย์และวิชาชีพสุขภาพทุกท่านที่ได้ทุ่มเทและเสียสละดูแลผู้ป่วยและประชาชนในยามวิกฤตนี้ แล้วเราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

[บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคลซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทยและของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]

* ชื่อเรื่อง "COVID-19:Social Distancingและคลื่นอพยพของประชากรจากมิติสังคมวิทยาพลังไทย“อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”

โดย... 

ดร.เสาวณี จันทะพงษ์

ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย

นายทศพล ต้องหุ้ย

เศรษฐกรอาวุโสฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

ผศ.ดร.รัตติยา ภูละออ
อาจารย์ประจำ วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดร.มนทกานต์ ฉิมมามี
อาจารย์ประจำ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย