ยามวิกฤติขอคิดดังๆ อีกหน

ยามวิกฤติขอคิดดังๆ อีกหน

แม้ ณ วันนี้เรายังไม่มีทางรู้ว่าวิกฤตจากไวรัสโควิด-19จะจบเมื่อไร แต่เราคงมองเห็นภาพลางๆ ได้บ้างแล้วว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจ

อาจเลวร้ายคล้ายวิกฤตปี 2540 จากมุมมองหนึ่ง มันน่าจะเลวร้ายกว่าด้วยซ้ำ ทั้งนี้เพราะกิจการจำนวนมากถูกสั่งปิดและการเดินทางระหว่างพื้นที่ทำได้ยาก หรือทำไม่ได้

ย้อนไปในช่วงวิกฤตปี 2540 ผู้อพยพจากชนบทเข้าไปทำงานในเมืองจำนวนมากเดินทางกลับถิ่นฐานบ้านเดิมเมื่อตกงานเพราะบ้านยังอยู่ หรือยังมีญาติใกล้ชิดที่มีอาหารพอปันประทังชีวิตได้ ปรากฏการณ์นี้เป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์มักอ้างถึงว่า ช่วยลดความสาหัสของปัญหาได้มากเนื่องจากความอดอยากไม่แพร่หลาย หรือร้ายแรงนัก

หลังเวลาผ่านไปเกือบ 23 ปี การเดินทางข้ามพื้นที่อาจทำไม่ได้เพราะถูกห้าม หรือผู้ตกงานขาดความสัมพันธ์กับชนบททั้งจากความสูญเสียที่ดิน หรือไม่มีญาติใกล้ชิดที่ทำมาหาเลี้ยงชีวิตด้วยการทำเกษตรกรรมเหลืออยู่แล้ว ความอดอยากจึงจะมากกว่าในช่วงวิกฤติครั้งก่อนแม้รัฐบาลจะมีมาตรการที่อาจบรรเทาความหิวโหยได้บ้างก็ตาม

ขอเป็นแผ่นเสียงตกร่องอีกครั้งว่า เมื่อเกิดวิกฤตปี 2540 พ่อหลวง ร.9 ทรงแนะนำให้คนไทยพิจารณาแก้และป้องกันปัญหาด้วยแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงทั้งในระดับรัฐบาลและในระดับบุคคล ปรากฏการณ์ตั้งแต่วันนั้นมาพอสรุปได้แล้วว่า ไม่มีรัฐบาลชุดไหนดำเนินนโยบายที่ใช้แนวคิดนั้นเป็นฐาน แม้บางรัฐบาลจะนำมาอ้างอย่างขึงขังมากก็ตาม สำหรับในระดับบุคคล สังเกตได้ว่ามีการนำแนวคิดไปใช้แบบกระจัดกระจายพร้อมกับมีผู้พยายามแนะนำและช่วยเหลือให้ผู้สนใจนำไปประยุกต์ใช้ได้มากขึ้น กระนั้นก็ตาม การนำไปใช้ยังไม่แพร่หลายจนกลายเป็นระบบอันแข็งแกร่งที่จะสามารถลดความเสี่ยงจากความอดอยากได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเกิดวิกฤติการณ์ขึ้น

ผมมองว่า ถ้าภาครัฐยังได้แต่โหนแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงโดยไม่นำมาใช้เป็นฐานของการดำเนินนโยบายอย่างจริงจัง วิกฤตครั้งหน้าคนไทยอาจขัดแย้งจนถึงฆ่าแกงกันเพราะความอดอยาก ทั้งนี้เพราะภาคเอกชนในระดับบุคคลที่พยายามทำสิ่งต่างๆ อยู่ในปัจจุบันจะยังไม่แข็งแกร่งพอจนสามารถรับกับวิฤตร้ายแรงได้

ผมตระหนักดีว่าการจะแก้ หรือป้องกันปัญหาต้องพิจารณาสารพัดด้าน แต่ขอเสนอให้พิจารณาเรื่องการอยู่ได้อย่างยั่งยืนของชนบทเป็นอันดับต้น จริงอยู่เกษตรกรส่วนหนึ่งมองว่าชีวิตในชนบทลำบากมากจึงอยากทำอาชีพอื่นที่ลำบากน้อยกว่าและพากันอพยพเข้าเมือง แต่ในขณะเดียวกัน ผมแน่ใจเต็มร้อยว่า ยังมีชาวชนบทจำนวนมากที่อยากดำเนินชีวิตต่อไปในชนบทหากพวกเขามีน้ำใช้ตลอดปีและมีที่ดินสำหรับทำเกษตรกรรม ประเด็นใหญ่จึงได้แก่เรื่องการเข้าถึงน้ำของผู้ทำเกษตรกรรมนอกเขตชลประทานในปัจจุบันและเรื่องการเข้าถึงที่ดินซึ่งนับวันจะสูญเสียไปให้แก่ชนชั้นเศรษฐี

สำหรับเรื่องน้ำนอกเขตชลประทาน เป็นที่น่ายินดีที่มีเอกชนสนใจเรื่องธนาคารน้ำมากขึ้น หากความสนใจนี้ก่อให้เกิดการวิจัยจนนำไปสู่ระบบที่ประยุกต์ใช้ได้อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ความเสี่ยงต่อความหิวโหยยามวิกฤตจะลดลงมาก ภาครัฐควรจะสนับสนุนด้านการวิจัยอย่างจริงจังรวมทั้งการไปศึกษาภูมิปัญญาเก่าแก่เรื่องสระพวงของอินเดียด้วย

สำหรับเรื่องที่ดิน ประเด็นมีหลากหลายและสลับซับซ้อนมาก ดังที่เสนอไว้หลายครั้งรวมทั้งในหนังสือเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง “ฝากภูมิปัญญาชาติไทยไว้กับครู” และ “เศรษฐกิจพอเพียง ฉบับส่งเสด็จ” (ทั้งสองเล่มและ “สู่จุดจบ!” ดาวน์โหลดได้ฟรีที่ www.bannareader.com) เรายังขาดการวิจัยในหลากหลายด้านรวมทั้งประเด็นเกี่ยวกับธนาคารที่ดิน การวิจัยจะทำให้แน่ใจว่าจะทำอย่างไรเกษตรกรรมแบบผสมผสานในพื้นที่ขนาดเล็กจึงจะอยู่ได้อย่างยั่งยืน หากภาครัฐประสงค์จะสนับสนุนภาคชนบทให้อยู่ได้อย่างยั่งยืนอันเป็นการลดความเสี่ยงของชาติ การสนับสนุนการวิจัยให้ได้ข้อสรุปแน่นอนในประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับด้านนี้ควรลงมือทำทันที

หากยังไม่ใส่ใจและปล่อยให้ภาคชนบทเดินต่อไปตามแนวโน้มที่เป็นมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ เมืองไทยจะเดินไป “สู่จุดจบ!” ตามชื่อของหนังสือที่นายกรัฐมนตีแนะนำให้คนไทยอ่านเมื่อเกิดวิกฤติการณ์ครั้งหน้า