ไข่แพงในวิกฤติโควิด-19 คนไทยซวยซ้ำซ้อน และยักษ์เจ้าตลาด?

ไข่แพงในวิกฤติโควิด-19 คนไทยซวยซ้ำซ้อน และยักษ์เจ้าตลาด?

ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก สำหรับกรณี "ไข่" ราคาแพงในช่วงนี้ ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาด "โควิด-19" ถือเป็นการซ้ำเติมประชาชน

ดูจากตัวเลข ไทยผลิตไข่ไก่ได้ปีละกว่า 15,000 ล้านฟอง หรือประมาณวันละ 41 ล้านฟอง ไข่ไก่เกือบทั้งหมด ร้อยละ 95 ใช้บริโภคภายในประเทศ วันละประมาณ 39 ล้านฟอง หรือมีไข่ไก่คงเหลือในระบบประมาณวันละ 1-2 ล้านฟอง ในภาวะปกติไทยส่งออกไข่ไก่ไปประเทศฮ่องกงเป็นหลัก  90% ของการส่งออกทั้งหมด สิงคโปร์ 5% ที่เหลือส่งออกไปพม่าและลาว

จากการตรวจสอบราคาขายปลีกพบว่า ไข่ไก่มีเริ่มการปรับราคาสูงขึ้นในช่วงกลางเดือน มี.ค. โดยเมื่อวันที่ 16 มี.ค. ราคาไข่ไก่เบอร์ 2 ราคาฟองละ 2.00-3.10 บาท ไข่ไก่เบอร์ 3 ราคาฟองละ 2.90-3.10 บาท

สัปดาห์ต่อมาได้ขยับราคาขึ้นอีก เฉลี่ย 10-20 ส.ต.ต่อฟอง โดยวันที่  20 มี.ค. ราคาไข่ไก่ เบอร์ 2 ขยับมาอยู่ที่ 3.20 -3.30 บาทต่อฟอง และเบอร์ 3 ขยับมาอยู่ที่  3.00-3.10 บาทต่อฟอง

และล่าสุดสัปดาห์นี้ขยับขึ้นอีก 30 สต.ต่อฟอง โดยราคาล่าสุด เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ไข่ไก่เบอร์ 2 ราคา  3.50-3.60 บาทต่อฟอง ไข่เบอร์ 3 ราคา 3.30-3.40 บาทต่อฟอง โดยราคาไข่ไก่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค.2562 ที่ผ่านมา เดือนมี.ค. 2562 ไข่ไก่เบอร์ 3 ฟองละ 2.76 บาท 

ประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ไข่ไก่มีการปรับราคาขึ้นตามความต้องการของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้น เพราะความกังวลโควิด-19 ซึ่งจากการติดตามของกรมการค้าภายในพบว่า ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเคลื่อนไหวอยู่ที่ฟองละ 2.60 - 2.70 บาท และในช่วงต้นเดือนมี.ค. ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มปรับลดลงอยู่ที่ฟองละ 2.50 บาท ก่อนปรับตัวสูงขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ 18 มี.ค.63  อยู่ที่ฟองละ 2.60 บาท 

ยอดการขายไข่ไก่ของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า จากการที่ประชาชนหาซื้อไข่ไก่ไปสำรองเพิ่มขึ้นทุกครัวเรือน

ขณะที่ นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลดูแลราคาไข่ไก่ที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่องทันที ซึ่งไข่ไก่ถือเป็นสินค้าที่จำเป็นในการบริโภคต่อชีวิตประจำวัน แต่ในขณะนี้ปรากฏว่า หลายพื้นที่ว่าไข่ไก่เริ่มขาดแคลน ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน เพราะถึงแม้เราจะผลิตไข่ไก่ได้วันละ 40-41 ล้านฟองต่อวันจริง แต่จำนวนผู้บริโภคคือ 39 ล้านฟองต่อวัน และยังมีการส่งออกอีก 2 ล้านฟองต่อวัน

เพราะฉะนั้น กระทรวงพาณิชย์ต้องออกคำสั่งงดส่งออกไข่ไก่ชั่วคราว ไข่ไก่ 2 ล้านฟองที่ส่งออกนำมาจำหน่ายในประเทศจะช่วยบรรเทาปัญหาไข่ไก่ขาดแคลนได้ เพราะต้องเข้าใจว่าในสถานการณ์ เช่นนี้ ประชาชนย่อมต้องซื้อไข่ไก่อย่างน้อยที่ละแผง เพื่อเก็บไว้กินช่วงอยู่ที่บ้าน ทำให้ความต้องการสูงขึ้นเป็นธรรมดา

"ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า ราคาของไข่ไก่ในขณะนี้พุ่งสูงขึ้นอีกแบบไม่เป็นธรรมต่อประชาชน ซึ่งราคาขายปลีกตอนนี้ทะลุ 110 บาทต่อแผงไปแล้ว ทั้ง ๆ ที่เป็นสินค้าจำเป็น แต่กลับมีการขึ้นราคาตามใจชอบ เป็นที่น่าประหลาดใจว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องไข่ไก่ ยังไม่เข้าไปดูแลแบบจริงจัง ทั้ง ๆ ที่ไข่ไก่เป็นโปรตีนราคาถูกของคนจน ยิ่งในภาวะโรคระบาด คนตกงานจำนวนมาก ไข่ไก่ยิ่งมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน อย่าปล่อยให้วิกฤติที่เกิดขึ้นซ้ำเติมประชาชน แบบกรณีหน้ากาอนามัยอีก"

หลังจากมีกระแสให้แก้ปัญหาดังกล่าวนั้น กระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงว่า ประกาศห้ามส่งออกไข่ไปนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวจนกว่าสถาานการณ์จะดีขึ้น และให้มีผลตั้งแต่วันนี้ (26 มี.ค.) เป็นต้นไป และให้ทดลองมาตรการเป็นเวลา 7 วันก่อน และหากสถานการณ์ไข่ไก่ขาดตลาดยังไม่ดีขึ้นก็จะมีการขยายเวลา และมีมาตรการอื่นๆ

พูดก็พูดเถอะ รู้หรือไม่ มีผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย แต่สามารถครองตลาดไข่ไก่ในประเทศไทยได้ถึงร้อยละ 50 ของตลาดไข่ไก่ทั้งหมดในประเทศ

โดยในปี 2559 มีผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่จำนวน 8 ราย ก็เกินครึ่งแล้ว

น่าคิดเหมือนกันว่า หนึ่งในผู้ครองตลาดรายใหญ่ที่สุดคือ "ยักษ์เกษตร" ที่คนไทยรู้จักดี โดยสามารถปริมาณผลผลิตไข่ไก่ คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด 21% แล้ว

ขณะที่มูลค่าตลาดไข่ไก่หลายหมื่นล้านบาท คาดการณ์เมื่อ 3 ปีก่อนจะหวังดันให้ถึง 8 หมื่นล้านบาท

ท่ามกลางที่ทั่วโลกเกิดวิกฤติโควิด-19 ต้องการอาหารและเวชภัณฑ์ ให้ราคาดีจูงใจส่งออกโกยกำไรรวยไม่ลืมหูลืมตา แม้จะออกกฎหมายห้ามก็หลบเลี่ยง มีตัวอย่างกรณีขาดแคลน "หน้ากากอนามัย" เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน จนเกิดคำถามว่าใครกักตุนเพื่อส่งออก เพราะได้ราคากำไรดี และหลากหลายกลโก่งราคา ซึ่งความลับไม่มีในโลก เขารู้ว่าใครหากินค้ากำไรบนความทุกข์และคราบน้ำของคนไทยด้วยกัน

ขอเตือนว่า คนไทยรู้ดีและจำแม่นขึ้นใจ..!!