มาตรการรับมือCOVID-19และการถดถอยของเศรษฐกิจโลก

มาตรการรับมือCOVID-19และการถดถอยของเศรษฐกิจโลก

ในภาวะปัจจุบันคงไม่มีใครจะโต้แย้งว่าภารกิจสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาลไทย ก็คือการเร่งหยุดไม่ให้มีความสูญเสียอย่างมากมายต่อชีวิตผู้คน

จากการแพร่ระบาดของCOVID-19 ที่เกินกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ดังนั้นมาตรการกักตัวให้ประชาชนอยู่บ้าน(lockdown) จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นแม้ว่าจะมีผลกระทบทางลบโดยตรงต่อเศรษฐกิจโดยรวมในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ไปทั่วโลกก็จะมีผลทำให้มีความเสี่ยงสูงที่เศรษฐกิจโลกอาจจะถดถอยได้ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยควรจะมีมาตรการอะไรหรือไม่ที่จะใช้รับมือกับทั้ง COVID-19 ไปอีกอย่างน้อยก็ปีสองปี แต่ในขณะเดียวกันก็เตรียมตัวพร้อมรับมือกับผลกระทบที่จะตามมาจากการถดถอยของเศรษฐกิจโลกให้เหลือน้อยที่สุดด้วย

ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มีมติมอบอำนาจให้นายกรัฐมนตรีประกาศใช้พระราชกำหนดภาวะฉุกเฉินเพื่อคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยจะมีรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการทั้งหมดอีกครั้งในวันที่ 26 มี.ค.นี้ พร้อมกันนั้น ทางครม.เศรษฐกิจก็ได้ประกาศมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนาต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 ซึ่งประกอบด้วย มาตรการต่าง ๆ ในการดูแลเยียวยาแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ด้วยการชดเชยรายได้ให้กับคนราว 3 ล้านรายรายละ 5,000 บาทต่อเดือนเป็นเวลา 3 เดือนการให้สินเชื่อฉุกเฉินโดยไม่ต้องมีหลักประกันวงเงินรวม 4,000 ล้านบาท วงเงินกู้ได้รายละ 10,000 บาท ดอกเบี้ยไม่เกิน 0.10% ต่อเดือน ระยะเวลากู้ 2 ปี 6 เดือน และการให้สินเชื่อเพิ่มเติมวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท วงเงินกู้ได้รายละ 50,000 บาท ดอกเบี้ยไม่เกิน 0.35% ต่อเดือน ระยะเวลากู้ 3 ปี เป็นต้น และ (2) มาตรการดูแลและเยียวยาผู้ประกอบการซึ่งมีอยู่ 7 มาตรการเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการรายย่อยโดยเป็นมาตรการระยะสั้นที่มีเป้าหมายให้ความช่วยแหลือแก่ประชาชนฐานรากที่เป็นแรงงานนอกระบบและมีรายได้น้อยให้ได้รับเงินชดเชยบางส่วนพร้อมเงินกู้เพิ่มสภาพคล่องในระหว่างที่ต้องเก็บตัวอยู่ในบ้านตามมาตรการของรัฐซึ่งรวมถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ผู้เขียนเชื่อว่ามาตรการเหล่านี้เป็นมาตรการที่จำเป็น (necessary measures) แต่ก็ยังไม่เพียงพอ (insufficient) เนื่องจากว่า

หากเราพิจารณาดูผลการศึกษาล่าสุดที่ออกมาเมื่อต้นเดือนมี.ค.นี้ เกี่ยวกับผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ที่ศึกษาโดยWarwick J. McKibbinใน The Brooking Institutionที่จำลองการแพร่ระบาดของไวรัสในประเทศอื่นโดยอิงกับการระบาดของ SARS เพื่อมาประมวลเข้ากับตัวชี้วัดอื่นของแต่ละประเทศ เช่น คุณภาพของระบบสาธารณสุข คุณภาพของธรรมาภิบาลในภาครัฐ และความเชื่อมโยงกับประเทศจีน เป็นต้น เพื่อนำไปประเมินผลกระทบของ COVID-19 ต่อเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในกรณีที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสกระจายไปทุกประเทศทั่วโลก การศึกษาพบว่า ผลกระทบของความเสียหายที่วัดในรูปของมูลค่าจีดีพีที่แท้จริงของทั้งโลกที่หายไปในปี 2020 เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีที่ไม่มีการระบาดจะมีมูลค่า2.3 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์ หรือลดลงราว 2% เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีการระบาดของเชื้อไวรัส ส่วนในกรณีของประเทศสหรัฐนั้น ความเสียหายในปี 2020 จะเท่ากับ 420 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นต้น ซึ่งตัวเลขผลกระทบข้างต้นก็ค่อนข้างจะไปในทิศทางเดียวกับการคาดการณ์ของไอเอ็มเอฟที่มีการคาดการณ์ล่าสุดว่า เราจะเจอกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกในปีนี้ซึ่งเศรษฐกิจโลกอาจจะหดตัว 2.2% ของจีดีพีทั้งโลก นี่ยังไม่นับรวมผลกระทบที่ประเทศจีนอาจพบกับการแพร่ระบาดอีกครั้งเป็นรอบที่ 2

ดังนั้นในภาวะที่ไม่ปกติเช่นนี้และเศรษฐกิจไทยก็ยังต้องพึ่งพาเศรษฐกิจโลกอยู่ค่อนข้างมาก เราจึงมีความจำเป็นที่จะต้องหันไปดำเนินนโยบายเพิ่มเติมที่เร่งด่วนและอาจจะแตกต่างไปจากในยามปกติมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยให้เรารับมือทันกับผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดขึ้นตัวอย่างของนโยบายเพิ่มเติมก็มี อาทิประการแรก รัฐควรมีมาตรการจัดการปัญหาเรื่องการขาดแคลนอุปกรณ์การแพทย์ เช่น หน้ากากอนามัย เครื่องตรวจเชื้อ (rapid test)เครื่องช่วยหายใจ ชุดป้องกันการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ แอลกอฮอล์ วัคซีนหรือยา การเปิดโรงพยาบาลสนามและห้องควบคุมความดัน (negative pressure) ที่มีสาเหตุมาจากเรื่องการขาดการบูรณาการที่ดีของระบบราชการที่มีหน่วยงานรับผิดชอบหลายหน่วยงานเกินไปจนทำให้กระบวนการขอใบอนุญาตหรือการขออนุมัตินำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องใช้เวลานานและขาดประสิทธิภาพ และ ปัญหาที่ไม่สามารถจัดการเอาผิดกับผู้กักตุนรายใหญ่ที่ทำให้เกิดการขาดแคลนหน้ากากอนามัย เป็นต้น ประการที่สอง รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณที่มากพอเพื่อการก่อสร้างโรงพยาบาล การว่าจ้างบุคลากรทางการแพทย์ และการใช้จ่ายในระบบสาธารณสุขเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรค

ประการที่สาม มีมาตรการสร้างแรงจูงใจทางภาษีที่มากพอแก่ภาคการผลิตเอกชนบางประเภทที่ยินยอมลงทุนเพิ่มเติมเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตตามปกติของตนที่ต้องหยุดชะงักไปเพื่อหันมาผลิตสินค้าและอุปกรณ์ที่จำเป็นและมีมาตรฐานต่อการป้องกันและระงับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสCOVID-19หรือการส่งเสริมด้านภาษีให้กับโรงแรมเอกชนที่ต้องการปรับกิจการเพื่อเป็นโรงพยาบาลสนามเป็นต้น และประการที่สี่คือ การให้ความช่วยเหลือด้านภาษีพิเศษเพิ่มเติมแก่สถานประกอบการเอกชนที่ไม่ยอมเลิกจ้างแรงงานของตนแม้จะได้รับผลกระทบจากมาตรการการกักตัวอยู่บ้าน ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยลดปัญหาการว่างงานที่จะตามมา

โดยสรุปแล้ว ความฉับไวและตรงไปตรงมาในการแก้ปัญหาที่ตรงจุดของภาครัฐเท่านั้น ที่จะเป็นที่พึ่งสำคัญให้กับสังคมในเวลานี้ได้ว่า เศรษฐกิจไทยจะสามารถต่อสู้ฟันฝ่าจนเอาชนะปัญหาไปได้ในที่สุด

โดย... 

ศ.ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา

กนิษฐา หลิน