โลกใน 3 วิกฤติ

โลกใน 3 วิกฤติ

ปฎิเสธไม่ได้ว่า ในปัจจุบันนี้โลกกำลังเผชิญ 3 วิกฤติพร้อมกัน นั่นคือ ด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ และด้านการเงิน

 เนื่องจากวิกฤติทั้งสามเกี่ยวเนื่องกันมาก การที่จะหยุดวิกฤตใดวิกฤติหนึ่งได้นั้น ต้องหยุดที่ต้นกำเนิดซึ่งก็คือการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ที่นำมาสู่โรค COVID-19 และทำให้ผู้ติดเชื้อทั่วโลกเข้าสู่ระดับ 3 แสนคนและมีผู้เสียชีวิตกว่า 1.4 หมื่นคน

ในสถานการณ์ปัจจุบัน แม้จะเห็นว่าผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตในยุโรปและสหรัฐจะเร่งตัวขึ้นมาก แต่หากพิจารณาอัตราการขยายตัวของผู้ติดเชื้อรายสัปดาห์แล้ว กลับพบว่าการเร่งตัวของผู้ติดเชื้อใน 2 ทวีปดังกล่าวเริ่มชะลอลง (โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 480% ในสัปดาห์ก่อน) ขณะที่ผู้ติดเชื้อในอาเซียนและไทยเร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว (เพิ่มขึ้นเกือบ 450% ในสัปดาห์ก่อน)

บล. ไทยพาณิชย์คาดการณ์จุดจบของวิกฤตโรค COVID-19 เป็น 3 ระยะ คือกรณีฐาน (จบเดือน พ.ค.) กรณีปานกลาง (จบเดือน ก.ค.) และกรณีเลวร้าย (จบเดือน ธ.ค.) โดยเราเชื่อว่ามี 2 ปัจจัยสำคัญที่จะยับยั้งการขยายตัวของโรค ซึ่งได้แก่ (1) อุณหภูมิที่ร้อนขึ้น และ (2) การปิดกิจกรรมทางสังคม (Social distancing)

ในส่วนของอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นนั้น เราเชื่อว่าจะมีส่วนทำให้เชื้อโรคมีอายุสั้นลงและมีส่วนทำให้การแพร่ระบาดน้อยลง โดยงานวิจัยของมหาวิทยาลัยในจีนแห่งหนึ่งที่อยู่ในฐานข้อมูลทางการแพทย์ medRxiv บ่งชี้ว่า อุณภูมิที่ไวรัสระบาดได้ง่ายคือ 6.7-12.4 องศาเซลเซียส และหากอุณหภูมิเกิน 25-30 องศาเซลเซียส ความสามารถในการแพร่ระบาดจะน้อยลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เป็นไปได้ที่การระบาดของโรคจะชะลอลงเร็วหากเข้าสู่เดือน พ.ค.-ก.ค. ที่อุณหภูมิในเมืองเขตหนาวอย่างนิวยอร์ค โรมและเซี่ยงไฮ้อุ่นขึ้น

ในส่วนของการทำ Social distancing นั้น เราได้เห็นกระบวนการดังกล่าวอย่างรุนแรงโดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐ (ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อัตราเร่งของผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง) ในขณะที่ประเทศในอาเซียนรวมทั้งไทยนั้น เพิ่งเริ่มกระบวนการ Social distancing เราจึงต้องพิจารณาประสิทธิภาพของกระบวนการดังกล่าวในการชะลอการแพร่เชื้ออีกระยะหนึ่ง ซึ่งในกรณีฐาน เราเชื่อว่า ด้วยการทำ Social distancing ที่รุนแรงขึ้นนั้น จะทำให้อัตราเร่งของผู้ติดเชื้อในอาเซียนและไทยเริ่มลดลง ประกอบกับอุณหภูมิที่อุ่นขึ้นก็จะทำให้ผู้ติดเชื้อใหม่ในยุโรปและสหรัฐลดลงเช่นกัน และทำให้สถานการณ์เริ่มทรงตัว ณ สิ้นเดือน พ.ค.

 แต่ในกรณีปานกลางและเลวร้ายนั้น หาก (1) กระบวนการ Social distancing ในอาเซียนและไทยไม่สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ได้ และ (2) อุณหภูมิไม่มีส่วนลดการแพร่ระบาดของไวรัส สถานการณ์ก็จะยังคงเลวร้ายต่อเนื่องและทำให้ผู้ติดเชื้อใหม่ยังคงขยายตัวไปจนถึงเดือน ก.ค. ในกรณีปานกลาง หรือเดือน ธ.ค. ในกรณีเลวร้ายตามลำดับ ซึ่งจะทำให้ทางการต่าง ๆ ยังคงต้องทำมาตรการ Social distancing อย่างต่อเนื่อง

 แน่นอนว่ามาตรการดังกล่าวนำมาซึ่งผลกระทบที่เลวร้าย เนื่องจากการปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ จะกระทบต่อทั้งภาคการผลิต (โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและบริการ) และภาคการใช้จ่าย (ทั้งบริโภค ลงทุน และการค้าระหว่างประเทศ) ไปพร้อมกัน

 ดังนั้น เพื่อบรรเทาผลกระทบจาก Social distancing ทางการทั่วโลกออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ โดยประเทศขนาดใหญ่อย่างสหรัฐและเยอรมนี ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรุนแรงในระดับ 10% ของ GDP ของแต่ละประเทศ เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ รวมทั้งไทยเช่นกัน ซึ่งจากการรวบรวม พบว่ามีเม็ดเงินรวมไม่ต่ำกว่า 2% ของ GDP ของทั้งโลก โดยมุ่งเน้นไปยังการช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงแรงงานที่อาจถูกเลิกจ้างจากการปิดตัวลงของธุรกิจ

 ในส่วนของวิกฤติการเงิน เกิดขึ้นเนื่องจากนักลงทุนตกอยู่ในภาวะตื่นกลัว (Panic) และขาดความเชื่อมั่นเนื่องจากไม่มั่นใจถึงห้วงเวลาในการยุติของวิกฤติ COVID-19 ทำให้กังวลว่าการทำ Social distancing ยาวนานจะกระทบถึงกระแสเงินสดและความสามารถในการทำธุรกิจ จึงขายทุกสินทรัพย์และเข้าถือเงินสด ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรที่เคยถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยเด้งขึ้น และเกิดกระแสการถอนเงินออกจากกองทุนต่าง ๆ รวมถึงกองทุนรวมตลาดเงิน (Money market mutual fund) ทั่วโลกรวมทั้งไทย

 อย่างไรก็ตาม การที่ธนาคารกลางต่าง ๆ ทั้งในสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น รวมถึงไทยเองนั้นได้เข้าสนับสนุนสภาพคล่องอย่างเต็มที่ ทั้งการลดดอกเบี้ยและเพิ่มสภาพคล่องผ่านมาตรการ QE และเข้าซื้อตราสารหนี้ระยะสั้น (Commercial Paper: CP) ของภาคเอกชน และรวมถึงเข้ารับซื้อในกองทุนรวมตลาดเงินนั้น ทำให้ตลาดเชื่อมั่นขึ้น และหยุดวิกฤติการเงินได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งเราเชื่อว่า ภาวะ Panic จะสิ้นสุดลงได้ถาวรก็ต่อเมื่อ (1) ธนาคารกลางประกาศเข้าซื้อตราสารหนี้เอกชนและสนับสนุนสภาพคล่องอย่างไม่จำกัด (2) รัฐบาลกลางจะต้องเพิ่มเม็ดเงินในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก 3 วิกฤตนี้ และ (3) อัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยใหม่เริ่มชะลอลง

 เราจึงแนะนำให้นักลงทุนระยะสั้นรอดูสถานการณ์ ชะลอการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงและถือเงินสดเพิ่มขึ้น ขณะที่นักลงทุนระยะยาวสามารถเริ่มเลือกซื้อสะสมหุ้นปันผล หุ้นที่กิจการมั่นคงได้ นอกจากนั้น เรายังคงแนะนำให้ลงทุนใน REITs/IFF และทองคำเพื่อกระจายความเสี่ยงในภาวะที่ดอกเบี้ยจะต่ำไปอีกนานเช่นกัน