สวดมนต์ไล่ COVID 19 ไม่ได้….แต่ได้ผลนะ

สวดมนต์ไล่ COVID 19 ไม่ได้….แต่ได้ผลนะ

มันไม่เป็นวิทยาศาสตร์ มันจะเป็นไปได้อย่างไร บ้าหรือเปล่า ถ้าสวดมนต์ไล่โรคได้ ทำไมยังมีโรงพยาบาลสงฆ์ งมงายแบบนี้ จะเป็นไทยแลนด์4.0 ได้อย่างไร

ประโยคเย้ยหยันทำนองนี้มีมากกว่านี้อีกมากมาย เพราะหากพูดถึงการศึกษานับตั้งแต่ชั้นอนุบาล ไล่ไปถึงชั้นประถม มัธยม ปริญญาตรี แม้กระทั่งปริญญาโท ปริญญาเอก เราล้วนถูกสอนให้เข้าใจและเชื่อในเหตุและผล ซึ่งเมื่อพูดถึงเหตุและผลเราก็ย่อมรู้เห็นได้ด้วยตัวเองว่าประโยคเย้ยหยันเหล่านั้นเป็นจริง มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่ลำพังเพียงการสวดมนต์ไม่ว่าจะพระสูตรใดจะสามารถขจัดปัดเป่าหรือไล่ไวรัสโควิด 19 ให้หายไปได้

พระมหาไพรวัลย์แห่งวัดสร้อยทองก็ได้ออกมายกตัวอย่างของโรคห่า(อหิวาต์)ระบาดในช่วงประมาณปี 2363 ว่า ราชสำนักได้เคยจัดให้มีพระราชพิธี ‘อาพาธพินาศ’ นิมนต์พระสงฆ์จำนวนมากมาสวดพระปริตรและประพรมน้ำพระพุทธมนต์ไล่โรคระบาด แต่ผลที่ออกมาปรากฏว่าโรคยิ่งกำเริบและแพร่หนักขึ้น สุดท้ายในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้สั่งยกเลิกพระราชพิธีนี้ด้วยทรงเห็นว่าไม่ได้ผลจริง

ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วเหตุใดมหาเถรสมาคม(มส.)ถึงได้มีมติเมื่อวันที่ 20 มี.ค.2563 ให้มีการสวดมนต์บทพระรัตนสูตรในเย็นวันที่ 25 มี.ค.2563 พร้อมกันทั่วประเทศ เป็นเพราะพระท่านไม่มีเหตุผล ไม่เชื่อในคำสอนของพระพุทธองค์ในเรื่องอิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท อันว่าด้วย ‘ความเป็นไปตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย’ หรือเปล่า

ผมขออนุญาตออกความเห็นส่วนตัว ว่า ถ้าเราเชื่อวิทยาศาสตร์แบบตรงไปตรงมา เราก็ต้องเชื่อว่าการสวดมนต์เพื่อไล่ไวรัสนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันถ้าเราเชื่อวิทยาศาสตร์แบบไม่ตรงไปตรงมา เราก็ควรต้องรู้ว่า แม้การสวดมนต์นั้นไม่สามารถไล่ไวรัสได้ แต่การสวดมนต์ก็สามารถทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้ ผู้คนที่เชื่อหรือมีศรัทธาในการสวดมนต์ย่อมมีความสงบในจิตใจมากขึ้น โรคก็ทำอันตรายได้น้อยลง นี่ผมพูดแบบคนที่มีทั้งพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และมีศรัทธาไปด้วยกันและพร้อมกัน

มันดีขึ้นได้จริง และมีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ด้วย คำอธิบายนั้นคือปรากฏการณ์ของอิทธิพลของยาหลอก หรือที่วิทยาศาสตร์การแพทย์เขาเรียกว่า placebo คือ แพทย์หรือนักวิจัยจะใช้ยาจริงกับยาหลอกให้คนไข้กินรักษาโรคเดียวกันในปริมาณที่เท่าๆ กัน ยาจริงจะมีสารเคมีที่รักษาได้จริงในขณะที่ยาหลอกอาจเป็นแค่แป้ง แต่มีรูปลักษณะภายนอกทั้งสีสัน ขนาด รูปร่างเหมือนยาจริง ในงานวิจัยมากมายพบว่า บางกรณียาหลอกก็ให้ผลลัพธ์ได้ไม่ต่างจากยาจริง คำอธิบายทางวิทยาศาสตร์แบบไม่ตรงไปตรงมา คือ จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว เมื่อใจเชื่อว่าหายได้โรคมันก็หายได้ และมันก็หายได้จริงๆ เสียด้วยในหลายกรณี

อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด และมีกรณีตัวอย่างพบเห็นได้มากมาย คือ คนที่เป็นมะเร็งแล้วดีขึ้นหรือหายโดยเพียงหันมาเปลี่ยนวิถีชีวิต เป็นกินอาหารอินทรีย์ ลดการกินเนื้อสัตว์ นั่งสมาธิ ทำใจให้สงบ ให้สบาย และปล่อยวาง และเชื่อว่าทำเช่นนี้แล้วหาย ซึ่งก็มีกรณีที่หายจริงอย่างที่พูดปรากฏให้เห็นในวงการแพทย์ปัจจุบันอยู่มากมาย

แน่นอนที่มีคนทำเช่นนี้เหมือนกันทุกอย่างแล้วไม่หาย คำอธิบายทางวิทยาศาสตร์แบบไม่ตรงไปตรงมาอีกเช่นกัน คือ คนนั้นไม่เชื่อหรือเชื่อไม่เต็มร้อย พลังของความเชื่อมีไม่มากพอ ข้อดีของยาหลอกหรือความศรัทธาจึงไม่สามารถบันดาลให้บรรลุผลได้

เรื่องสวดมนต์กับการไล่ไวรัส Covid-19 นี้ก็เช่นกัน การสวดมนต์ไล่ไม่ได้หรอก แต่มันสร้างความเชื่อและความศรัทธาได้ว่าตัวเองจะพ้นภัย และเมื่อเชื่อเมื่อศรัทธาเกิดขึ้น หากติดเชื้อไวรัสมาโอกาสหายก็มีมากขึ้นตามพลังของความเชื่อนั้น ส่วนคนไม่เชื่อนั้น ซึ่งแน่นอนที่มีอีกจำนวนมากเป็นส่วนใหญ่ของสังคมเสียด้วยซ้ำ ก็เหมือนคนกินยาหลอกแล้วไม่เวิร์ก แต่ถ้าไม่เวิร์กกับตัวเอง แล้วเหมารวมว่าต้องไม่เวิร์กกับคนอื่นด้วย อย่างนี้ก็คงไม่ใช่เรื่องแล้ว

เรื่องนี้จึงอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์แบบตรงไปตรงมาและไม่ตรงไปตรงมาได้ด้วยประการฉะนี้

โดย...

ธงชัย พรรณสวัสดิ์