ฝุ่นพิษกับอนาคตคนไทยที่เลือก (ไม่) ได้?

ฝุ่นพิษกับอนาคตคนไทยที่เลือก (ไม่) ได้?

สถานการณ์ฝุ่นพิษเลวร้ายลงทุกวันในหลายๆ พื้นที่ภาคเหนือ หลังพบระดับ PM 2.5 สูงถึง 300 –400 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

เชียงใหม่ได้รับการจัดลำดับโดยเครือข่ายติดตามคุณภาพอากาศ หรือ Airvisual ให้เป็นเมืองที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดในโลก 5 วันติดต่อกัน ชาวเชียงใหม่รู้สึกว่าอาจจะมีโอกาสตายเพราะฝุ่นพิษมากกว่าตายเพราะโควิด-19 วันนี้เราจึงต้องมาเปิดอกคุยกันว่า ปัญหาคืออะไร แล้วทำไมถึงแก้ไม่ได้ แล้วมีอะไรที่เราพอจะทำได้

ปัญหาการเกิดฝุ่นพิษในภาคเหนือเกิดจากสาเหตุใหญ่ๆ 3 เรื่องด้วยกันก็คือ 1.การเผาหลังการเก็บเกี่ยวข้าวโพด 2.การเผาเพื่อหาของป่าและ 3.หมอกควันข้ามพรมแดนจากเมียนมาร์และลาว วันนี้จะพูดแค่ 2 ประเด็นแรกก่อน

สำหรับเรื่องแรก คือ การปลูกข้าวโพดนั้นในปัจจุบันก็มีวิธีการปลูกโดยที่ไม่ต้องเผา แต่เป็นวิธีที่ใช้แรงงานมาก ดังนั้น เกษตรกรที่ไม่มีแรงงานและเงินทุนเพียงพอจึงใช้วิธีเผาเพราะต้นทุนถูกกว่า แต่ถ้าต้องการรายได้มากก็ต้องใช้พื้นที่ปลูกค่อนข้างมาก 

งานวิจัยโครงการโมเดลทางเลือกในการพัฒนาคนไทย 4.0 บนพื้นที่สูงในภาคเหนือตอนบนที่ได้รับการสนับสนุนจากแผนงานคนไทย 4.0 พบว่าถ้าจะปลูกข้าวโพดให้ได้ผลตอบแทนเพียงพอกับการอยู่กินของครัวเรือนสองคนต้องปลูกถึง 30 ไร่ ดังนั้น การปลูกข้าวโพดโดยวิธีการเผาจึงเป็นวิธีการดำรงชีวิตของเกษตรกรที่ตั้งอยู่บนฐานของการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและความเสื่อมสุขภาพของประชาชนทั่วไปรวมทั้งตัวเกษตรกรเองด้วย

สำหรับการเก็บหาของป่านั้น กฎหมายป่าไม้ยินยอมให้ประชาชนสามารถเก็บหาของป่าได้เพียงพอกับการดำรงชีวิต และต้องไม่มีการเผาป่าหรือกิจกรรมใดๆที่ทำลายป่าไม้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การหาของป่านั้นไม่ได้หาเพื่อการดำรงชีวิตแต่ยังหาเพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ด้วยคือนำไปขายกันอย่างเอาจริงเอาจังโดยเฉพาะอย่างยิ่งเห็ดป่าบางชนิดซึ่งมีราคาแพงมาก ในฤดูแล้ง ชาวบ้านเดินเข้าไปเก็บเห็ดในป่าแต่ละเที่ยวก็ได้เงินเป็นกอบเป็นกำ ตั้งแต่ 1,000 -10,000 บาทก็มี

ที่ผ่านมา สังคมยินยอมพร้อมใจอดทนสูดหมอกควันมานับสิบปี เพื่อให้เกษตรกรยังชีพได้โดยวิธีดังกล่าวด้วยเห็นใจในความยากไร้ แต่ความจริงเดี๋ยวนี้เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดไม่ใช่ผู้ยากไร้เสมอไปและการเผาก็มีผลกระทบต่อสุขภาพเกินกว่าสังคมจะยอมรับได้แล้ว

คำถามใหญ่ที่เราต้องตอบด้วยกันก็คือเราจะยอมให้ความยากจนเป็นต้นเหตุของการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตลอดจนชีวิตและสุขภาพของคนทั่วไปตลอดไปหรือไม่ เวลานี้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองก็มากกว่าคนที่อาศัยอยู่ในชนบทแล้วและก็ไม่ใช่คนในชนบททุกคนเป็นคนจนถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะมาร่วมกันมองหาทางเลือกใหม่ๆโฟกัสความช่วยเหลือให้คนจนโดยเฉพาะผู้ที่ร่วมมือไม่เผาป่า

สำหรับประเด็นแรก ทางเลือกที่ทำให้หยุดการเผาไร่ข้าวโพด ได้แก่ 1)สนับสนุนการปลูกข้าวโพดโดยวิธีไม่เผา และให้ราคาข้าวโพดที่ปลูกโดยวิธีไม่เผาสูงกว่าปลูกโดยการเผาอย่างมีนัยยะสำคัญ เป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้ไม่เผาวิธีนี้ใครจะยังอยากปลูกข้าวโพดแล้วเผาก็ปลูกได้แต่จะได้ราคาต่ำกว่ามาก 2)ห้ามนำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านที่ปลูกโดยวิธีการเผา 

3)ให้นำเข้าข้าวโพดได้จากประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้ปลูกโดยวิธีการเผา วิธีนี้ข้าวโพดต่างประเทศ เช่น จากสหรัฐ และบราซิล อาจเข้าประเทศไทยในราคาที่ต่ำกว่าและอาจจะทำให้เกษตรกรไทยต้องออกจากการผลิตข้าวโพดไป ยกเว้นแต่เกษตรกรที่จะมีประสิทธิภาพในระดับโลก ทางเลือกนี้อาจทำให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดจะสูญเสียโอกาสทำกิน ควรให้โควตานำเข้าที่มีจำนวนน้อยมากๆ ในปีแรกๆ และสูงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเป็นการส่งสัญญาณเตือนให้เกษตรกรปรับตัว 

4) สนับสนุนให้เกษตรกรไปปลูกพืชทางเลือกอื่นๆ เช่น ให้ลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดและให้ไปเลี้ยงปศุสัตว์เพื่อเพิ่มรายได้แต่ในโมเดลนี้รัฐบาลต้องเตรียมเงินสนับสนุนให้กับเกษตรกรค่อนข้างมาก 5)จ้างเกษตรกรที่เลิกปลูกข้าวโพดให้เป็นผู้ปลูกป่า ดูแลป่าและเฝ้าระวังไฟป่า

ทางเลือกทั้ง 5 เป็นมาตรการเชิงรุกที่ต้องมาหารือกัน และต้องใช้มากกว่าหนึ่งทางเลือก อาจจะเลือกบางพื้นที่เป็นโมเดลนำร่อง เช่น อ.สองแคว และภูเพียง จ.น่าน ซึ่งอยู่ในโครงการน่านแซนด์บอกซ์ ที่มีภาคเอกชนคือ มูลนิธิกสิกรไทยและภาคราชการคือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าภาพร่วม ในโครงการนี้หากรัฐบาลจะสนับสนุนให้เปลี่ยนอาชีพใหม่ ราษฎรก็ยินดีคืนพื้นที่ป่าและเปลี่ยนจากปลูกข้าวโพดไปปลูกพืชอื่นทดแทน 

จากการวิเคราะห์ของทีม รศ.ดร.ศิริพร กิรติการกุล มหาวิทยาลัยแม่โจ้ พบว่า หากลดที่ดินทำกินลงจะต้องเอาปศุสัตว์ เช่น แพะหรือไก่พื้นเมืองเข้ามาทดแทนด้วย แต่ก็ยังต้องใช้เงินลงทุนต่อครัวเรือนเป็นแสนบาท อีกพื้นที่หนึ่งที่น่าสนใจคือ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ซึ่งแต่เดิมอดีต รมช. กอบศักดิ์ ภูตระกูล สนใจ แต่ก็ยกเลิกโครงการไปแล้ว รัฐบาลควรรื้อฟื้นกลับมาหาเจ้าภาพร่วมใหม่อาจเป็นฝ่าย CEO บริษัทยักษ์ใหญ่หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ก็ได้ แต่หาโมเดลอาชีพทางเลือกใหม่ที่เป็นการร่วมใจระหว่างอ.แม่แจ่มกับคนในอำเภอเมืองที่ได้รับผลกระทบ โดยให้มีการเชื่อมโยงตลาดสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่ติดตรา “ไม่เผา” ในชุมชนเมืองให้เป็นตลาดของเกษตรกรที่งดเผา ถ้าคนเมืองอยากได้อากาศดีก็ต้องร่วมมือร่วมใจกันเปิดโอกาสให้เกษตรกร

สำหรับการหาของป่าโดยการเผานั้น ควรมีมาตรการดังนี้คือ1)ลงทะเบียนผู้มีสิทธิหาของป่าในแต่ละพื้นที่กับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ผู้ลงทะเบียนแล้วนี้มีสิทธิหาของป่าและเป็นผู้ดูแลพื้นที่ป่าไม่ให้เกิดไฟไหม้ด้วย 2)ห้ามขายของป่าเชิงพาณิชย์โดยเด็ดขาด การหาของป่านั้นสามารถเอาไว้เก็บกินในครัวเรือนเท่านั้น 3)กำนันผู้ใหญ่บ้านในท้องถิ่นที่ใกล้ป่าเป็นผู้ดูแลไฟป่าและจะต้องถูกถอดถอนหากเกิดเรื่องซ้ำๆเพราะความจริงคนในหมู่บ้านก็รู้ดีว่าใครเผา 4) หากผู้เผาเป็นผู้ยากไร้ในหมู่บ้าน ให้ผู้ใหญ่บ้านตรวจสอบให้ได้รับสวัสดิการคนจนอย่างครอบคลุม 5) หากคนนอกมาเผาป่าใกล้หมู่บ้าน ใช้วิธีให้รางวัลนำจับ และ 6) มหาวิทยาลัยต้องคิดค้นการเพาะเลี้ยงเห็ดป่าที่มีมูลค่าทางการตลาดเพื่อลดการเผาลง

แม้จะไม่เห็นผลในระยะเวลาสั้น แต่ถ้าเราไม่เริ่มมาตรการเชิงรุกในวันนี้ ยังคงใช้แต่มาตรการเชิงรับเดิมๆ เช่น ใช้เฮลิคอปเตอร์ไปดับไฟป่า สร้างฝนหลวง หรือฉีดพ่นละอองน้ำในเมือง ก็เป็นการใช้งบประมาณอย่างไม่มีประสิทธิผล หากเริ่มต้นใช้มาตรการเชิงรุกแล้วผลกระทบก็จะเริ่มทุเลาลงไปเรื่อยๆ การที่รัฐบาลใช้งบประมาณมาส่งเสริมเรื่องนี้จะwin-win ด้วยกันทั้งสองฝ่าย กล่าวคือสร้างอาชีพใหม่และลดมลพิษ ก็คงดีกว่าให้เงินคนฐานะดีไปชิมช็อปใช้

อย่าปล่อยให้คนเหนือ 4.0 มีอนาคตที่เลือกไม่ได้!