ยุโรปปิดทวีป สู้ไวรัส COVID-19

ยุโรปปิดทวีป สู้ไวรัส COVID-19

ยุโรปกลายเป็นศูนย์กลางการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19 นอกประเทศจีน ในช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์

ในขณะที่ไวรัส COVID-19 กระจายตัวไปใน 185 ประเทศทั่วโลก ในยุโรป ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแบบน่าใจหายจากจำนวนหลักร้อย กลายเป็นหลักพัน และ ณ วันนี้ กลายเป็นหลักหมื่นในหลายประเทศ ได้แก่ อิตาลี เยอรมัน สเปน ฝรั่งเศส และจำนวนผู้ติดเชื้อต่อวันจากหลักร้อยต่อวัน กลายเป็นจำนวนหลายๆ พันต่อวัน

มาตรการ “ล๊อกดาวน์”  การแพร่การจายของไวรัส COVID-19 ในยุโรปเริ่มขึ้นที่อิตาลี โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือภูมิภาคลอมบาร์ดี ทางเหนือของประเทศ ตอนนี้แพร่กระจายไปทั่วประเทศ ทำให้อิตาลีเป็นประเทศแรกที่ประกาศ “ล๊อกดาวน์” ตามมาด้วยฝรั่งเศส สเปน ฯลฯ คือห้ามออกจากบ้าน ยกเว้นไปซื้ออาหารและยา ห้ามเดินทางไปไหน ให้ทำงานที่บ้าน (หากเป็นไปได้) ปิดโรงเรียน ร้านอาหาร ร้านค้า บาร์ทั้งหมด ห้ามเข้าและห้ามออกนอกประเทศ เป็นการสะกัดกั้นการแพร่จายของไวรัสแบบเร่งด่วน ตอนนี้ ประเทศยุโรปหลายประเทศทยอยประกาศใช้มาตรการ “ล๊อกดาวน์” กันเกือบหมด

ที่มาซ Reuters Graphics ณ 21 มี.ค.2563

ปิดพรมแดนยุโรป 30 วัน

เมื่อวันอังคาร 17 มี.ค. ผู้นำยุโรปประกาศปิดพรมแดนยุโรป (ด้านนอก) โดยห้ามการเดินทางทุกรูปแบบเข้ามาในกลุ่มประเทศอียู 26 ประเทศ (ประเทศกลุ่มเชงเก้น) รวมถึงไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์ด้วย โดยแต่ละประเทศสมาชิกจะบังคับใช้มาตรการดังกล่าวเป็นเวลา 30 วัน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด มาตรการนี้ครอบคลุมผู้ที่ไม่ได้ถือสัญชาติของชาติสมาชิกอียูทั้งหมด ยกเว้นผู้พำนักระยะยาว เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ และผู้ขนส่งสินค้า เป็นต้น นั่นหมายถึงห้ามการเดินทางเข้ายุโรปของนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ และประชาชนที่ไม่ได้ถือสัญชาติของชาติอียู ส่งผลให้หลายสายการบินในหลายประเทศยกเลิกการบินเข้าและออกยุโรปในช่วงนี้ (แต่ยังไม่ยกเลิกทุกสายการบิน ต้องตรวจสอบเป็นสายบินไป)

อีกมาตรการที่สำคัญของอียูในช่วงวิกฤติของการปิดพรมแดนและ “ล๊อกดาวน์” แบบนี้ คือการออกมาตรการอำนวยความสะดวกให้สินค้า โดยเฉพาะสินค้าอาหาร ยา และเครื่องมือการแพทย์ สามารถผ่านช่องทางพิเศษไปในประเทศสมาชิกได้ เพื่อป้องกันการขาดแคลนอาหารและยาในภูมิภาค และแต่ละประเทศเร่งเตรียมพร้อมระบบสาธารณสุขของตนเพื่อให้รองรับจำนวนผู้ป่วยฉุกเฉินให้ได้ดีที่สุด แม้จะเป็นคำถามใหญ่ว่าประเทศยุโรปอื่นๆ จะเป็นเหมือนอิตาลีไหมที่มีจำนวนผู้ป่วยมากจนโรงพยาบาลรองรับไม่ไหว ทำให้จำนวนผู้ป่วยจากโรคที่ตายในอิตาลีมากถึง 3,405 เลยจีนไปแล้ว

การรับประชากรอียูกลับบ้าน เป็นอีกมาตรการที่ยุโรปเริ่งดำเนินการอย่างเริ่งด่วน เพื่อนำประชากรตนกลับประเทศอย่างปลอดภัยและรวดเร็ว

ชีวิตในยุโรปช่วงล๊อคดาวน์เป็นอย่างไร

ชีวิตในยุโรปในช่วงล๊อคดาวน์ (ตอนนี้อยู่เบลเยียม) ต้องบอกตรงๆ ว่าไม่สนุกเลย ประชาชนอยู่ด้วยความหวาดกลัว และต้องปรับอย่างมาก นอกจากชีวิจประจำวัน ที่เราต้องอยู่บ้านเก็บตัวตามมาตรการ self-isolation ไม่ออกไปเจอผู้คน ทำได้เพียงแค่ออกไปซื้ออาหาร ทุกคนปรับตัวทำงานที่บ้าน (แม้แต่ประชุมสำคัญๆ ทางธุรกิจหรือการประชุมของผู้นำยุโรปก็ต้องทำออนไลน์หมด) เมื่อโรงเรียนปิดเด็กๆ สามารถเรียนหนังสือออนไลน์จากที่บ้าน ไม่ต้องคิดถึงการเดินทางไปท่องเที่ยวที่ไหนก็ไม่ได้ คำถามสำคัญของทุกคนคือ พวกเราจะต้องอยู่ล๊อกดาวน์อีกนานเท่าไหร่? ในช่วงแรกคาดว่าจะสัก 1-2 เดือน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการต่อสู้กับไวรัสจะจบลง

แต่สิ่งที่เห็นและรู้สึกได้วันนี้ คือความร่วมมือร่วมใจกัน แบบมีสติ ไม่แตกตื่น และใช้ชีวิตอย่างสงบ และปรับตัว ทุกรัฐบาลของยุโรปพยามทำทุกวิถีทางเพื่อต่อสู้และสะกัดกั้นการแพร่กระจายของไวรัสไว้ก่อน แต่อดได้ที่จะวิเคาะห์กระทบต่อเศรษฐกิจโลก การจ้างงาน และชีวิตแบบใหม่ที่อาจต้องเปลี่ยนไป (ขอวิเคราะห์ผลกระทบเรื่องเศรษฐกิจและการค้าในตอนต่อไป)

นากยกรัฐมนตรีแมร์เคลของเยอรมัน ได้ออกมาแถลงการณ์ล่าสุดว่า “ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง นี่เป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ทำให้เราต้องร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง” และยอมรับว่า “การเก็บตุนเสบียงเป็นเรื่องสำคัญ แต่การกักตุนเกินต้องการนั้นไร้ประโยชน์และเป็นการขาดจิตสำนึกร่วมอย่างร้ายแรง”

เราเห็นด้วยทุกประการ แต่สิ่งที่ยังหาซื้อไม่ได้จริงๆ ในซุปเปอร์มาร์เก็ตตอนนี้คือ แป้ง ข้าว และกระดาษชำระ !

-----------------------

[ดร. อาจารี ถาวรมาศ เป็นผู้บริหารบริษัท Access-Europe บริษัทที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และนโยบายเกี่ยวกับสหภาพยุโรปสำหรับภาครัฐและเอกชนไทยที่สนใจเปิดตลาดยุโรป www.access-europe.eu หรือติดตามได้ที่ www.facebook.com/AccessEuropeCoLtd]