ออกแบบระบบเศรษฐกิจใหม่

ออกแบบระบบเศรษฐกิจใหม่

ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมที่เน้นการเติบโตของสินค้าบริการ เป็นระบบที่สร้างปัญหาในตัวเอง

ทำให้เกิดการกระจุกตัวของความมั่งคั่งในหมู่นายทุนส่วนน้อย เกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความยากจน ขาดแคลน การขัดแย้ง ความเคร่งเครียด และปัญหาคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ การทำลายสิ่งแวดล้อม ก่อมลภาวะวิกฤติโรคระบาดครั้งใหญ่ในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งก็มาจากการใช้ระบบเศรษฐกิจแบบนี้ ดังนั้นเราต้องช่วยกันคิดออกแบบระบบเศรษฐกิจใหม่ทั้งระบบ 

ฟริตจอฟ คาปร้า และ ฮาเซล เฮนเดอร์สัน เขียนบทความเรื่องการเจริญเติบโตเชิงคุณภาพ ว่าเราควรจัดระบบเศรษฐกิจที่เน้นการเติบโตคุณภาพของชีวิตและสังคมแทนการเติบโตทางปริมาณได้อย่างมีเหตุผล ทางเศรษฐศาสตร์ที่รองรับความเป็นไปได้ การพัฒนาแนวใหม่นี้จะสร้างความยั่งยืนให้กับระบบนิเวศ และความเป็นธรรมทางสังคมได้มากกว่าแนวทางการพัฒนาแนวเน้นการเพิ่มการเติบโตของสินค้าและบริการ 

ระบบเศรษฐกิจของทั่วโลกที่เน้นการเติบโตเชิงปริมาณ ผลิตสินค้าบริการหลายหมื่นอย่างเพื่อคนชั้นกลาง รวมทั้งคนระดับล่างที่กู้มาบริโภคได้ ที่จริงๆ แล้วมีประโยชน์ใช้สอยน้อย ฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรพลังงานมากไปจนเกิดวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม 

ปัญหาสำคัญคือ 1.ความเชื่อผิดๆ เรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ว่ามนุษย์สมัยใหม่สามารถสร้างความเจริญเติบโตทางปริมาณของสินค้าและบริการเพิ่มไปได้เรื่อยๆ อย่างไม่มีขีดจำกัด ทั้งๆ ที่ทรัพยากร พลังงาน การรับปริมาณของเสียและการฟื้นตัวของระบบธรรมชาติของโลก ซึ่งเป็นเพียงดาวเคราะห์ดวงหนึ่งในระบบจักรวาลนั่นมีขีดจำกัด 

2.นายทุนอุตสาหกรรมเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายทางสังคม (เช่น เกษตรเคมี การเผาไหม้ ปล่อยควันของโรงงาน ยานพาหนะ ฯลฯ ทำให้ทั้งรัฐบาลและประชาชนต้องมีค่าใช้จ่ายด้านกรณีรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น และนายทุนไม่ได้นำเอาต้นทุน/ค่าใช้จ่ายทางสังคม และต้นทุนของธรรมชาติสิ่งแวดล้อมมาคิดไว้ในต้นทุนการผลิต และบริโภคสินค้าและบริการของพวกเขา แต่ผลักภาระให้รัฐบาล ทำให้พวกเขาผลิตสินค้าบริการได้ในราคาต่ำกว่าที่เป็นจริง คนผลิตได้กำไรมาก คนบริโภคหาซื้อได้ถูกลง ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายมาก ฯลฯ เศรษฐศาสตร์แบบนี้คือเศรษฐศาสตร์แห่งการสร้างกากขยะและการทำลายล้าง

ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ต้องเน้นการลงทุนด้านการศึกษา สาธารณสุข แก้ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน เรื่องสิทธิสตรี ผู้ด้อยโอกาสต่างๆ การอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อม สนับสนุนกิจกรรมศิลปวัฒนธรรม กีฬา การพักผ่อนหย่อนใจ การพัฒนาด้านจิตใจ จิตวิญญาณ เข้าถึงประชาชนส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น 

ปฏิรูประบบเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างเพื่อจัดสรรทรัพย์สินและรายได้ใหม่ กระจายให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าถึงด้วยนโยบายทางด้านการคลัง ภาษีอากร เน้นเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม ลดภาษีจากการทำงานให้เงิน อุดหนุนแม่บ้านที่ต้องดูแลเลี้ยงลูก รัฐให้เงินอุดหนุนกิจกรรมด้านการศึกษา สาธารณสุข (รวมสุขภาพจิต) ศิลปวัฒนธรรม การกีฬา การพักผ่อนหย่อนใจต่างๆ เพิ่มขึ้น

ลงทุนพัฒนาการใช้พลังงานทางเลือก เช่น แสงอาทิตย์ พลังลม ความร้อนใต้โลก คลื่น การไหลของแม่น้ำ ขยะบางชนิด ฯลฯ ออกแบบการผลิตและการบริโภคสินค้าอุตสาหกรรมหลายอย่าง ให้ลดกากของเสียลง และหรือเอากากของเสียไปหมุนเวียนทำอย่างอื่นได้เพิ่มขึ้น ลดปริมาณขยะโดยรวมลง 

ออกแบบระบบเศรษฐกิจใหม่แบบทำเมืองใหญ่ให้เล็กลงด้วยการกระจายทรัพยากร งบประมาณ การดำรงชีพ ไปสู่เมืองอื่นๆ ที่เล็กลง เป็นเมืองขนาดที่ผู้คนสามารถเดินทางไปทำกิจกรรมด้วยเท้า จักรยาน การขนส่งสาธารณะ แทนการใช้รถส่วนตัวได้เพิ่มขึ้น การเก็บภาษี ค่าธรรมเนียมการใช้รถส่วนตัวสูงขึ้น และเอารายได้ดังกล่าวมาอุดหนุนการขนส่งสาธารณะ เมืองขนาดเล็กจะสามารถผลิตและบริโภคสินค้าแบบพึ่งตนเอง ในระดับเมือง อำเภอ ตำบล ได้เพิ่มขึ้น จะช่วยลดการขนส่ง ลดการใช้พลังงาน ลดการทำให้โลกร้อน และผู้คนจะได้บริโภคของที่สุดและดีต่อสุขภาพ เช่น เกษตรอินทรีย์ 

ระบบเศรษฐกิจปัจจุบันที่เน้นการหากำไรสูงสุดของนายทุนชอบใช้เทคโนโลยีแบบใช้ทุนมาก สร้างปัญหาการใช้พลังงานมาก การทำลายทรัพยากรมาก ทำให้ระดับน้ำจืดในดินต่ำลง ป่า ดินถูกทำลาย ปลาในทะเลลดลง การจ้างงานคนลดลง ปัญหาความยากจนเพิ่มขึ้น ฯลฯ 

ระบบเศรษฐกิจใหม่แบบกระจายไปสู่ผู้ผลิตขนาดเล็กที่ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเช่น การทำฟาร์มขนาดเล็กแบบอินทรีย์จะช่วยเพิ่มการจ้างงานและผลิตอาหาร วัตถุดิบที่จำเป็นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประโยชน์เพื่อส่วนรวมมากกว่า การให้ความรู้เรื่องสุขอนามัยแก่ประชาชน ส่งเสริมการบริโภคธัญพืช ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลง (ด้วยมาตรการทางภาษีและอื่นๆ) จะช่วยระบบนิเวศได้เพิ่มขึ้น เพราะการเลี้ยงปศุสัตว์นั้นสิ้นเปลืองทรัพยากรและพลังงานมาก และจริงๆ แล้วคนรวย คนชั้นกลางที่นิยมบริโภคเนื้อสัตว์มากก็เจ็บป่วยเรื่องไขมันอุดตันในเส้นเลือด เบาหวาน มะเร็ง และอื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วย

 การพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่นให้ผู้หญิงได้รับการศึกษาและมีงานทำที่เหมาะสมขึ้น จะมีผลทางอ้อมที่ทำให้การเพิ่มจำนวนประชากรในประเทศรายได้ต่ำลดลงได้ เพราะผู้หญิงที่มีการศึกษา มีงานทำมักแต่งงานช้าลง สนใจ รู้จักการวางแผนครอบครัวเพิ่มขึ้น การมีลูกน้อยลง ประเทศมีประชากรน้อยลง แต่มีคุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องที่ดีกว่าการมีประชากรมาก แออัด แต่คุณภาพชีวิตตกต่ำลง

โลกโดยรวมผลิตอาหารและของจำเป็นอื่นๆ ได้ล้นเกิน แต่ที่ยังมีเด็กขาดสารอาหาร มีปัญหาความอดอยากขาดแคลน เพราะมีการกระจายผลผลิตอย่างไม่ยุติธรรม ขณะที่คนรวย คนชั้นกลางบริโภคมากเกินไป 3 สัตว์เลี้ยง เช่น หมา แมว และปศุสัตว์ได้บริโภคอาหารมากกว่าคนจนในประเทศรายได้ต่ำ ทั้งคนรวย คนชั้นกลาง ส่วนน้อยยังบริโภคสินค้าบริการ ฟุ่มเฟือยแย่งใช้ทรัพยากร พลังงาน ฯลฯ มากกว่าคนจนส่วนใหญ่หลายเท่ามาก 

ประเด็นจึงอยู่ที่การปฏิรูประบบการผลิตและการกระจายสินค้าและบริการให้เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวมมากกว่าระบบเศรษฐกิจแบบใหม่สามารถสร้างงานและทำให้คนทั้งโลกมีปัจจัยที่จำเป็นเพียงพอได้ รวมทั้งถ้าแบ่งปันกันอย่างทั่วถึงเป็นธรรม (อย่างน้อยระดับมีปัจจัยพอยังชีพทุกคน) จะช่วยทำให้เกิดการเจริญเติบโตด้านคุณภาพชีวิตและสังคมได้ดีกว่าระบบเศรษฐกิจเสรีแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอาในปัจจุบัน