ก้าวข้ามวิกฤติโควิด: จุดทดสอบสังคมไทย

ก้าวข้ามวิกฤติโควิด: จุดทดสอบสังคมไทย

ผ่านมาแล้วเกือบ 3 เดือน การระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้กลายเป็นวิกฤติรุนแรงครั้งสําคัญของโลก ทั้งด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจอย่างไม่มีใครคาดคิด

แม้ความรู้ด้านการแพทย์เกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 ยังไม่ถึงจุดที่มีข้อสรุปชัดเจนเกี่ยวกับวิธีการแก้การระบาด การรักษา ยา และวัคซีนป้องกัน แต่ทุกประเทศก็พยายามแก้ไขสถานการณ์เต็มที่ เพื่อลดความสูญเสียที่จะมีต่อประชาชนและเศรษฐกิจ

เป็นการต่อสู้ที่ยาก ใช้เวลา และมีเดิมพันสูงเพราะกระทบทั้งชีวิต สุขภาพประชาชน เศรษฐกิจ และความเป็นสังคม จนมีการเปรียบว่าวิกฤติครั้งนี้คือบททดสอบใหญ่ของรัฐบาลในฐานะผู้นำประเทศ และทดสอบสังคมว่าเข้มแข็งพอหรือไม่ ที่จะร่วมมือช่วยเหลือกันให้สังคมก้าวข้ามวิกฤติครั้งนี้

กรณีวิกฤติเศรษฐกิจทั่วไป พัฒนาการของวิกฤติแบ่งได้เป็น 3 ช่วง ช่วงแรกคือการปะทุขึ้นของวิกฤติที่คนในประเทศตกใจ ไม่คาดคิดมาก่อน ความวุ่นวายและความไม่แน่นอนมีมาก ทางการทําอะไรไม่ถูก หุ้นปรับลดรุนแรง จนตลาดการเงินและเศรษฐกิจขาดเสถียรภาพ ช่วงนี้อาจนานหรือสั้น และจะจบเมื่อทางการมีมาตรการแก้ไขออกมาชัดเจนที่เรียกความเชื่อมั่นกลับมา ทําให้ตลาดการเงินเริ่มนิ่งและกลับมามีเสถียรภาพ

ช่วง 2 คือการแก้ไขปัญหาตามมาตรการที่ประกาศจนปัญหาเริ่มคลี่คลายและระบบเศรษฐกิจกลับมามีเสถียรภาพ ซึ่งอาจสั้นหรือยาวขึ้นอยู่กับความร่วมมือของภาคธุรกิจและประชาชนกับการแก้ปัญหา ช่วง 3 คือช่วงการฟื้นเศรษฐกิจ

จะเห็นว่าสําคัญสุดคือช่วงแรกที่ทางการต้องเร่งให้มีมาตรการที่น่าเชื่อถือออกมาเพื่อสร้างความมั่นใจว่าปัญหาสามารถแก้ไขได้ ออกมาเร็วไม่ลากยาว เพราะถ้าลากยาว ความไร้เสถียรภาพจะเกิดนาน ทําให้ช่วงสองและช่วงสามจะล่าช้าและความเสียหายจะมาก

วิกฤติไข้หวัดโควิดคราวนี้ มีทั้งที่แตกต่างและไม่แตกต่างจากวิกฤติทั่วไป ที่แตกต่างเพราะเป็นวิกฤติด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจเกิดขึ้นพร้อมกัน ขณะที่ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการแก้ปัญหาคือการระบาดของไข้หวัดก็มีมาก ทําให้ช่วงแรกจะใช้เวลา แต่ที่เหมือนกันคือพัฒนาการของวิกฤติแบ่งเป็น 3 ช่วงเช่นกัน ขณะนี้ประเทศส่วนใหญ่รวมถึงไทยกําลังอยู่ในช่วงแรก คือช่วงการหามาตรการที่จะควบคุมการแพร่ระบาดที่จะทําให้คนในประเทศมีความเชื่อมั่น หลายประเทศที่มีแนวทางชัดเจนในเรื่องนี้ก็เริ่มการแก้ปัญหา และบางประเทศการแพร่ระบาดก็ดูเหมือนเริ่มทรงตัวหรือลดลง เช่น จีน ไต้หวัน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ทําให้หวังกันอย่างระมัดระวังว่าประเทศเหล่านี้กําลังอยู่ปลายช่วงแรกหรือเริ่มเข้าสู่ช่วงสอง

ในทุกวิกฤติ แนวทางการแก้ไขปัญหาที่มีเหตุผลและเป็นที่ยอมรับจึงสําคัญมาก เพราะประชาชนจะให้ความร่วมมือทําให้การแก้ไขปัญหามีโอกาสสําเร็จ ในกรณีวิกฤติโควิดคราวนี้ ในแง่เศรษฐศาสตร์มหภาค มี 3 คําถามสําคัญที่รัฐบาลต้องตัดสินใจอย่างรอบคอบในการแก้ปัญหา

1.ความสําคัญหรือ Priority ที่จะให้ระหว่างการแก้ปัญหาสาธารณสุขคือการหยุดหรือชะลอการระบาดกับการแก้ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น

2.ความเข้มข้นของมาตรการป้องกันการระบาดเพราะมีผลต่อชีวิตประชาชนและเศรษฐกิจ

3.การระดมทรัพยากรและแนวทางการฟื้นเศรษฐกิจ

วันนี้บทความ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” จะเขียนถึง 2 ประเด็นแรก

ในการเลือกระหว่างสาธารณสุขกับเศรษฐกิจ หลายประเทศรวมถึงไทยในช่วงต้นประเมินความรุนแรงของไข้หวัดโควิดตํ่าเกินไป ทําให้ผู้ทํานโยบายพูดถึงหรือให้ความสําคัญกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันชัดเจนแล้วว่าการแก้วิกฤติสาธารณสุขต้องมาก่อนและสําคัญสุด เพราะถ้าการระบาดรุนแรง ความเสียหายทางเศรษฐกิจจะยิ่งมาก และยิ่งแก้ยาก

ดังนั้น จําเป็นต้องทุ่มทรัพยากรมากสุดไปที่การยับยั้งการแพร่ระบาดและรักษาผู้ที่เจ็บป่วย ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมของแพทย์ พยาบาล สถานพยาบาล อุปกรณ์ ยา หน้ากาก เจลล้างมือ และเวชภัณฑ์ต่างๆ ทั้งในโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน ทั้งหมดต้องพร้อมเกินร้อยเพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าใครที่ป่วยจะได้รับการดูแลไม่ว่ารวยหรือจน

และสําคัญสุดคือต้องมีระบบการตรวจเช็คการติดเชื้อ (virus testing) ที่แพร่หลายที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ฟรีหรือในราคาตํ่า ซึ่งจําเป็นมากต่อการลดการระบาดเพราะผู้ติดเชื้อจะรู้ตัวเร็วและลดผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจ อย่างที่เกาหลีใต้ทําได้ดีมาก

ในเรื่องนี้ประเทศเรามีข้อได้เปรียบจากระบบสาธารณสุขของเราที่มีคุณภาพและความไว้วางใจที่สังคมไทยมีต่อหมอ ทรัพยากรการเงินเราก็มีและสามารถระดมได้ จึงควรให้หมอเป็นผู้นําในการตัดสินใจแก้ปัญหาสาธารณสุขไม่ใช่นักการเมือง และหลักคิดหนึ่งที่จะเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาที่มีความไม่แน่นอนมากแต่มีผลกระทบสูง เช่น กรณีโควิดปัจจุบันคือ ทํามากไว้ดีกว่าทําน้อย เพราะอะไรที่เราทําก่อนที่เหตุการณ์จะรุนแรงมักถูกมองว่าขี้ตกใจเกินไป แต่พอเหตุการณ์บานปลายทุกอย่างที่พยายามทําก็จะดูน้อยไป ไม่เพียงพอ

ในประเด็นความเข้มข้นของมาตรการป้องกันการระบาด เช่น การปิดประเทศ การกักตัวผู้ติดเชื้อหรือสงสัยติดเชื้อ การปิดสถานบริการสถานศึกษา ร้านอาหาร การชุมนุม ห้ามเดินทาง หลักคิดคงคล้ายกันคือทํามากดีกว่าทําน้อย แต่จากที่มาตรการเหล่านี้กระทบชีวิตความเป็นอยู่ รายได้ของประชาชนและธุรกิจ

ทุกมาตรการจึงต้องมีเหตุผลทางสาธารณสุขที่เข้มแข็งสนับสนุนเพื่อให้ประชาชนเข้าใจและให้ความร่วมมือ รวมถึงมีมาตรการบรรเทาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการเหล่านี้เพื่อให้ได้ความร่วมมือจากภาคธุรกิจและประชาชน การแพร่ระบาดขณะนี้กว่า 80% อยู่ที่ กทม. ทําให้มาตรการสกัดหรือคัดกรองผู้เดินทางจากต่างประเทศ ระบบการตรวจเช็คการติดเชื้อที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายเพื่อลดการระบาด และมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดไปต่างจังหวัดจึงสําคัญมาก 

ผมสนับสนุนการตรวจเช็คที่แพร่หลายและสนับสนุนให้แต่ละจังหวัดมีมาตราการคัดกรองและป้องกันระดับจังหวัดเพื่อให้การแก้ไขเหมาะสมและตรงกับความจําเป็นของแต่ละจังหวัด และความเข้มข้นของมาตรการเป็นมาตรฐานเดียวกันในทุกจังหวัดที่ประกาศใช้

ท้ายสุด คือความร่วมมือของภาคประชาชนและภาคธุรกิจที่จะช่วยลดการระบาด ซึ่งมีช่องทางทําได้มากเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ทั้งการร่วมกันใช้วิธีปฏิบัติใหม่ของคนในสังคมที่ต้องอยู่ร่วมกันอย่างมีวินัยภายใต้ระเบียบสังคมใหม่ เช่นการทํางานที่บ้าน การอะลุ่มอล่วยดูแลลูกจ้างและพนักงานในเรื่องการทํางาน ไม่ลดเงินเดือนหรือเลิกจ้าง การบริจาคเงินและสิ่งของ การร่วมลงทุนในเครื่องมือแพทย์และสถานพยาบาล การยืนระยะห่างทางสังคม (social distancing)

การดูแลสุขภาพอนามัยของตนเองและผู้อื่นทั้งที่บ้านและที่สาธารณะ การให้ความช่วยเหลือผู้ที่ขาดรายได้และผู้ที่ช่วยตัวเองไม่ได้โดยคนในสังคม การแชร์ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อให้ความรู้และลดการตื่นกลัว ให้สังคมมีหลักที่จะอยู่ ที่จะปรับตัว และมีความหวังที่จะก้าวข้ามสถานการณ์ไปด้วยกัน เพื่อให้ความปกติในชีวิตและเศรษฐกิจกลับคืนมา เป็นสิ่งที่การเมืองของประเทศขณะนี้ให้ไม่ได้เพราะประเด็นเรื่อง trust ทําให้ภาคธุรกิจและประชาชนต้องก้าวออกมาช่วยประเทศแก้ไขปัญหา ใช้ความรู้และพลังของสังคม แสดงให้เห็นถึงนํ้าใจ คุณภาพ และความเหนียวแน่นของสังคมไทยที่ร่วมมือช่วยเหลือกันในยามที่ประเทศมีวิกฤติ #This too shall pass