'โควิด-19' กระทบเศรษฐกิจโลก มุมนักเศรษฐศาสตร์

'โควิด-19' กระทบเศรษฐกิจโลก มุมนักเศรษฐศาสตร์

ไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกกระทบทางเศรษฐกิจทำให้เกิดความกังวลเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกในขณะนี้ ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจทำให้เกิดความกังวลต่อโอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession โดยวันนี้ผมจะหยิบยกผลการทำแบบสอบถามโดย University of Chicago Booth School of Business ซึ่งเป็นการสอบถามนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยชื่อดังในสหรัฐฯและยุโรป (ผลโพลเผยแพร่ในเว็บไซต์ https://review.chicagobooth.edu/ วันที่ 13 มี.ค.2563) 

คำถามข้อแรก 'ถึงแม้ว่าอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่ในระดับที่จำกัด (สมติฐานว่าอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ใกล้เคียงกับอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล) การแพร่ระบาดของไวรัสฯ จะยังเป็นสาเหตุนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่' ผลการตอบคำถามนี้ส่วนใหญ่ตอบว่า 'เห็นด้วย' โดยเฉพาะนักผู้ตอบจากทางฝั่งยุโรปที่ค่อนข้างให้น้ำหนักโอกาสการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากกว่าฝั่งสหรัฐฯ โดยผู้ตอบฝั่งยุโรป 48% 'เห็นด้วยอย่างมาก' และ 34% 'เห็นด้วย' ส่วนผู้ตอบฝั่งสหรัฐฯ 18% 'เห็นด้วยอย่างมาก' และ 44% 'เห็นด้วย' ที่น่าสังเกตุคือผู้ตอบฝั่งสหรัฐฯ 31% ตอบ 'ไม่แน่ใจ' ทั้งนี้การให้ความเห็นเพิ่มเติมของผู้เชี่ยวชาญในการตอบคำถามข้อนี้ส่วนใหญ่แล้วคาดว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นค่อนข้างแน่นอน แต่ยังไม่แน่ใจว่าเกิดขึ้นยาวนานเพียงใด 

คำถามข้อที่สอง 'ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะนี้ เป็นผลจากการบริโภคที่ชะลอตัวลงมากกว่าผลจากการหยุดชะงักจากทางฝั่งห่วงโซ่อุปทานและแรงงานที่ลดลงจากอาการป่วย' ผลโพลคำถามข้อนี้ ผู้ตอบฝั่งยุโรป 43% 'เห็นด้วย' และอีก 41% 'ไม่แน่ใจ' สำหรับฝั่งสหรัฐฯส่วนใหญ่ 52% 'ไม่แน่ใจ' และอีก 44% 'เห็นด้วย' ทั้งนี้การให้คำตอบว่า 'ไม่แน่ใจ' เมื่อพิจารณาจากการให้ความเห็นเพิ่มเติมของผู้ตอบ ส่วนใหญ่แล้วจะมีมุมมองว่า เศรษฐกิจที่จะชะลอตัวเป็นผลจากทั้ง 2 ฝั่ง คือ สำหรับภาคบริการ อุปสงค์ เป็นหัวใจสำคัญ แต่ปัญหาเรื่องห่วงโซ่อุปทานก็เป็นปัญหาในภาคการผลิต ดังนั้นจึงยากที่จะตอบว่า ฝั่งอุปสงค์ที่หดตัวหรือปัญหาห่วงโซ่อุปทาน ปัญหาใดมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากกว่ากัน ... เราประเมินว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจสำหรับรัฐบาลและธนาคารกลางในการกำหนดนโยบายเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ ว่าจำเป็นต้องคำนึงถึงทั้ง 2 ด้าน

คำถามข้อสุดท้าย เป็นคำถามที่ถามเฉพาะนักวิชาการฝั่งยุโรป 'นโยบายด้านเศรษฐกิจในกลุ่มยูโรโซน เพียงพอที่จะช่วยประคองผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้หรือไม่' คำตอบส่วนใหญ่คือ 'ไม่เห็นด้วย' โดยเชื่อว่ามาตรการต่างๆในขณะนี้ของประเทศต่างๆ ในกลุ่มยูโรโซนยังไม่เพียงพอที่จะประคับประคองเศรษฐกิจได้ 

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทย นักเศรษฐศาสตร์ บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) ประเมินอัตราการเติบโตของ GDP ไทยทั้งปี 2563 จะ +0.1% โดยประเมินว่าอัตราการขยายตัวของ GDP ไทย 1Q63 และ 2Q63 จะติดลบ 2 ไตรมาสติดๆ ที่ -3% YoY และ -2% YoY ตามลำดับ อย่างไรก็ดีในสมมติฐานหลักของฝ่ายวิจัยฯยังคาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 น่าจะสามารถควบคุมได้และสิ้นสุดลงได้ภายในเดือน พ.ค.2563 นี้ ไม่เช่นนั้นมีความเสี่ยงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเลวร้ายลง ในช่วงฤดูฝน ซึ่งในกรณีนี้เป็นกรณีเลวร้ายที่ ฝ่ายวิจัยฯประเมินไว้ว่า หากเกิดขึ้นจริงอัตราการเติบโตของ GDP ไทยปี 2563 มีโอกาสที่จะถึงขั้นลดลง -3.8% ได้

กลับมาที่ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ฝ่ายวิจัยฯประเมิน Valuation ของ SET index อีกไม่มาก โดยประเมินว่าระดับ SET index ที่ 1,000 จุด นั้นจะคิดเป็น Earnings yield gap ราว +7% (บนสมมติฐานประมาณการ EPS ที่สะท้อนปัจจัยลบแล้วที่ 80 บาท/หุ้น) และกรณีเลวร้ายหากสถานการณ์แย่กว่าคาด สมมติฐานให้ Earnings yield gap กลับไปสู่ระดับวิกฤตเศรษฐกิจปี 2551 จะสูงราว +8% หรือคิดกลับเป็นระดับดัชนีที่ราว 890 จุด อย่างไรก็ดีสถานการณ์ในขณะนี้ อาจแตกต่างจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เนื่องจากไม่ได้เกิดขึ้นจากตลาดการเงิน แต่เป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นกับภาคเศรษฐกิจจริง นโยบายการเงินและการคลังอาจช่วยได้เพียงบรรเทา (หากไม่มีมาตรการฯ มีโอกาสที่เศรษฐกิจจะยิ่งย่ำแย่) แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาสาธารณสุขได้โดยตรง ดังนั้นเราประเมินว่าแม้ราคาหุ้นไทย 'ไม่แพง' แต่น่าจะยังไม่ปรับขึ้นอย่างรวดเร็วแม้จะมีมาตรการการเงินและการคลังออกมา (จากธนาคารกลางและรัฐบาลต่างๆทั่วโลก รวมถึงไทย) อาจทำให้ตลาดหุ้นรีบาวด์ช่วงสั้นเท่านั้น จึงแนะนำกลยุทธ์ 'Dollar cost average' ทยอยสะสมหุ้นพื้นฐานดี สำหรับการลงทุนระยะยาวจะเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนี้ มากกว่าการเก็งกำไรระยะสั้น