หุ้นตก กับ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

หุ้นตก กับ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ถูกประกาศให้เป็นการระบาดใหญ่ระดับโลก (Pandemic)

 ประกอบกับสงครามราคาน้ำมันระหว่างซาอุดิอาระเบีย และรัสเซีย ส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทย และหุ้นทั่วโลก ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง พอๆกับการเกิดวิกฤติการเงินโลกเลยทีเดียว แต่วิกฤติการเงินโลกในปี 2551 นั้นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เปิดโอกาสให้สมาชิกเลือกการลงทุนได้ด้วยตนเอง (Employee Choice) เพิ่งเริ่มต้นในวงกว้างไม่นานนัก จึงทำให้มีผู้เดือดร้อนใจจากการลงทุนในหุ้นไม่มากนัก

แต่ในปัจจุบัน การประชาสัมพันธ์และให้ความรู้ด้านบริหารการเงินส่วนบุคคลเพื่อวัยเกษียณ รวมถึงการที่อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นนับจากปี 2551 เป็นขาขึ้นโดยส่วนใหญ่ ทำให้การลงทุนในหุ้นได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น โดยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ รวมถึงองค์กรเอกชน ก็เปิดทางเลือกให้สมาชิกสามารถลงทุนในหุ้นในสัดส่วนที่มากขึ้นได้

แล้วจริงๆในภาวะอย่างนี้ หลายท่านคงสงสัยว่าเราควรจะทำอย่างไรกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของตนเองดี?

  • ควรย้ายออกจากหุ้นเป็นการถาวรเลยดีไหม? เพราะสงสัยคนจะตายเกือบหมดโลกแน่ๆ คำถามที่ต้องถามเป็นอย่างแรก คือ อีกกี่ปีเราจะเกษียณอายุ? ปีหน้า หรืออีก 10 ปีข้างหน้า? ถ้าย้ายจากหุ้นแล้ว จะเอาไปลงทุนอะไร ผลตอบแทนประมาณเท่าไหร่? ถ้าเรามีระยะเวลาอีกยาวนานเป็นสิบหรือหลายสิบปีกว่าจะเกษียณอายุ ก็ไม่มีอะไรจะต้องทุกข์ร้อนใจจากการขาดทุนของหุ้นในวันนี้ เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่หุ้นตกขนาดนี้ และจะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายในชีวิตเราด้วย ขอเพียงเรามีเวลาที่มากพอที่จะทนรับกับความผันผวนของหุ้น โดยรักษาใจของเราไม่ให้แกว่งตามไปด้วย ก็ช่วยได้มากแล้ว

วอร์เร็น บัฟเฟ็ตต์ นักลงทุนชื่อดังของสหรัฐฯซึ่งทั้งชีวิตผ่านประธานาธิบดีมาแล้ว 14 คน บอกว่า การลงทุนในหุ้น คือ การลงทุนในธุรกิจในอีก 10 – 20 ปีข้างหน้า ไม่ใช่จะมาดูราคาหุ้นกันในเวลา 1 – 2 สัปดาห์ ซึ่งแม้ว่าบัฟเฟ็ตจะมีหุ้นของธุรกิจสายการบินอยู่เยอะมาก แต่เขาก็ไม่คิดที่จะขายออกไป โดยยกตัวอย่างธุรกิจขนมของเขาว่าจะมีเดือนที่แย่ใน 1 ปีอยู่ 7 -  8 เดือน แต่ไม่ว่าอย่างไร ช่วงคริสต์มาส ก็จะต้องมาถึงอยู่วันยังค่ำ

  1. ควรย้ายออกจากหุ้นชั่วคราวดีหรือไม่? การย้ายออกจากหุ้นเป็นการชั่วคราว แปลว่าเราคิดจะกลับเข้ามาใหม่ และแสดงว่าเรารู้อนาคตของตลาดในช่วงสั้นๆ และไม่ใช่ว่าต้องทำนายอนาคตถูกครั้งเดียว แต่ต้องถูกอย่างน้อยสองครั้ง คือ ครั้งที่จะออกจากหุ้น (เพราะรู้ว่าหุ้นจะตกลงไปต่ำกว่านี้) และครั้งที่จะกลับมาเข้าหุ้น (ในราคาที่ต้องต่ำกว่าราคาที่เราออกมา) เพราะรู้ว่าหุ้นจะขึ้นแล้ว ซึ่งบัฟเฟ็ตต์กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่าถ้ารู้คงจะดี แต่ว่าตัวเขาเองไม่รู้ และไม่คิดว่าใครจะรู้ด้วยว่าราคาหุ้นจะเป็นอย่างไรในสัปดาห์หน้า สรุปได้ว่าการออกจากหุ้นนั้นไม่ยาก แต่จะออกและกลับอย่างไร ไม่ให้ขาดทุนมากกว่าอยู่เฉยๆต่างหากที่ยากจะทำได้
  2. ดีใจ ไม่เคยมีหุ้นเลย ช่างทำบุญมาดีจริงๆ เรื่องนี้จะเป็นเรื่องน่ายินดีหรือไม่ ขึ้นกับว่า ณ ขณะนี้เราเปลี่ยนใจที่จะมีหุ้นหรือไม่? เพราะถ้าเราไม่คิด ก็แสดงว่าเราอาจต้องเป็นผู้ที่เสียใจที่สุดเมื่อยามเกษียณ เนื่องจากหากไม่ลงทุนในหุ้นเลย แสดงว่าเราเลือกที่จะนำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ โดยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ให้ผลตอบแทนต่ำเพียงประมาณ 1% ต่อปีเท่านั้น ในขณะที่หุ้นนั้น นอกเหนือจากที่เราจะได้รับเงินปันผลจากธุรกิจที่เราลงทุนไปแล้ว (อัตราเงินปันผลของตลาดหุ้นไทยปัจจุบันอยู่ที่เกือบ 4%) ธุรกิจดังกล่าวยังมีกำไรสะสมที่จะสร้างความเจริญให้กับบริษัทในระยะยาวได้อีกด้วย ดังนั้น เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งไม่ใช่เงินที่เราจะนำมาใช้วันนี้พรุ่งนี้ หรือปีนี้ปีหน้าอยู่แล้ว การผันผวนของราคาหุ้นจึงไม่ควรเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาลงทุน
  3. มัวแต่หาซื้อหน้ากาก กับเจลล้างมือ ทำอะไรไม่ทันแล้ว ทำอย่างไรดี? นี่อาจนับเป็นโชคดีของเราก็เป็นได้ ต้องอย่าลืมว่าผู้ที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในบริษัทที่มั่นคงนั้น จะมีความได้เปรียบตรงที่จะมีการลงทุนเงินสะสมที่หักจากเงินเดือนทุกเดือน พร้อมๆไปกับเงินสมทบของบริษัทนายจ้าง แปลว่าหากราคาหุ้นต่ำอย่างนี้ไปอีกนาน เราก็จะมีเงินใหม่ที่จะลงทุนในหุ้นด้วยราคาที่ถูกเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ได้รับอัตราเงินปันผลหุ้นที่สูงกว่าดอกเบี้ยหลายเท่าเช่นนี้ไปนานเท่าที่ตลาดยังไม่ฟื้นตัว

ปล่อยให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีโอกาสสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับเราในระยะยาวกัน