COVID-19 กับการเพิ่มระยะห่างของคนในสังคมด้วย platform online

COVID-19 กับการเพิ่มระยะห่างของคนในสังคมด้วย platform online

ไวรัสโควิด-19 ได้กลายมาเป็นวิกฤติในระดับโลก มีผู้ติดเชื้อหลายหมื่น ผู้เสียเสียชีวิตหลายพันคน จนกระทั่งองค์การอนามัยโลก

ประกาศให้ไวรัสโควิด-19 เป็นโรคระบาด ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าโรคนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อไร ในปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสชนิดนี้ สถาบันวิจัยหลายแห่งก็พยายามอย่างสุดความสามารถในการพัฒนายา แต่การพัฒนายาใหม่ขึ้นมาหนึ่งตัวก็ใช้เวลาทดลองยาเป็นปี กว่าจะพัฒนายาเสร็จการระบาดนี้อาจจะลดต่ำลงจนสามารถควบคุมได้

แต่ละประเทศก็มีแนวทางการควบคุมโรคระบาดที่แตกต่างกันออกไป บางประเทศก็ทำการทดลองชะลอการระบาดให้นานขึ้นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันกลุ่ม (herd immunity) ส่วนอีกหลายประเทศและไทยก็พูดถึง social distancing หรือ การเพิ่มระยะห่างของคนในสังคม เพื่อป้องกันการกระจายของเชื้อไวรัสตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ที่ระบุว่าควรอยู่ห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร เพื่อป้องกันการสูดละอองน้ำมูกน้ำลายของผู้ติดเชื้อ มาตรการการเพิ่มระยะห่างทางสังคมก็มีหลายระดับ ขั้นสูงสุดคือการปิดการเข้าออกประเทศชั่วคราว การประกาศให้หยุดกิจกรรมต่างๆแล้วกักตามบ้าน การห้ามทำกิจกรรมของคนจำนวนมาก และการเคลื่อนย้ายกิจกรรมไปสู่พื้นที่จำกัดมากขึ้น โดยเชื่อว่าการจำกัดกิจกรรมและพื้นที่จะช่วยลดอัตราความเร็วในแพร่กระจายของไวรัสได้

มาตรการรักษาระยะห่างต้องการให้ผู้คนอยู่ห่าง แต่การจะทำได้นั้นรัฐต้องมีบทบาท “ใกล้ชิด” กับผู้คนมากขึ้น เพื่อจัดการให้เกิดความสัมพันธ์แบบรักษาระยะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเฝ้าระวังสถานการณ์การระบาด การอำนวยความสะดวกกิจกรรมของผู้คนที่เคยทำ ซึ่งการรัฐที่จะรับมือกับความไม่แน่นอนย่อมต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ดี เพื่อให้ทุกกลุ่มคนสามารถตอบสนองต่อโรคระบาดได้

หนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่อำนวยให้มาตรการ social distancing เกิดขึ้นได้คือการใช้ platform online ทดแทนกิจกรรมที่ผู้คนต้องพบปะกัน เช่น การติดต่อโดยใช้สมาร์ทโฟน การใช้แอปพลิเคชั่นพวก Microsoft Teams, Google Hangout, ZOOM เพื่อการประชุมงานออนไลน์หรือการปรับรูปแบบการสอนในมหาวิทยาลัยเป็นคอร์สออนไลน์ การสั่งอาหารผ่าน GET หรือ Grab การสั่งซื้อสินค้าผ่าน Lazada หรือ Shopeeเป็นต้น

กรณีของประเทศสิงคโปร์ถือน่าสนใจ เพราะว่าการพัฒนาของโครงสร้างพื้นฐานด้าน platform online ในการช่วยทำให้รัฐ “ใกล้ชิด” ผู้คนในการตรวจตราและเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านระบาดวิทยา อีกทั้งยังช่วยให้ความเชื่อมั่นแก่มวลชนได้ ซึ่งผลลัพธ์บวกนี้ไม่ได้เกิดเพราะโชคช่วย หากแต่มี “รัฐ”เป็นตัวคอยผลักดันให้เกิดขึ้น รัฐบาลสิงคโปร์ภายใต้การบริหารของ“ลีเซียนลุง” ได้ผลักดัน platform online ของประเทศ ให้เติบโตอย่างรวดเร็วจนมีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านเหรียญดอลลาร์ เช่น Grab Garena Trax Acronis เบื้อหลังความสำเร็จนี้มาจากการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐและพัฒนาระบบให้บริการภาครัฐแบบดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2003 ที่เอื้อให้ประชาชนทำธุรกรรมหลายอย่างผ่านช่องทางดิจิทัล ด้วยระบบการยืนยันตัวตนสองชั้น คือ รหัสผ่านที่ตัวเองตั้ง และ One-Time Password (OTP) ที่ส่งเข้ามือถือ ซึ่งก็ได้พัฒนาระบบการยืนยันตัวตนต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการสแกนลายนิ้วมือบนหน้าจอมือถือ การจดจำใบ้หน้า เพื่อทำให้ระบบ National Digital Identity มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

หลังการเกิดวิกฤติ SARS หรือ โรคหวัดมรณะ ในปี 2003 สิงคโปร์ได้ปฏิรูปภาครัฐสู่ระบบดิจิทัลทุกหน่วยงาน ด้วยการยกระดับฐานข้อมูลสุขภาพประชากรของสถาบันข้อมูลชีวสารสนเทศ (The Bioinformatics Institute) ให้สามารถคาดการณ์กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็น super spreaders ของโรคอุบัติใหม่ได้ ไปจนถึงผลักดันให้ประชาชนใช้smart watch และร่วมมือกับบริษัทที่ผลิตเพื่อออกแบบระบบการเก็บข้อมูลสุขภาพเชิงลึก ฉะนั้นการพัฒนาฐานข้อมูลอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา ซึ่งจะช่วยให้นักสาธารณสุขศาสตร์มีข้อมูลจริงมากพอที่จะเสนอมาตรการต่างๆได้อย่างทันท่วงที

ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รัฐบาลสิงคโปร์ได้ออกมาตรการรักษาระยะห่างของสังคมเหมือนหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการคัดกรองคนเข้าประเทศอย่างเข้มงวด การสร้างแพลตฟอร์ม co.vid19.sg ให้ประชาชนรับรู้การรักษาระยะห่างอย่างรวดเร็ว สร้างแพลตฟอร์มการรายงานตัวของผู้ที่มีความเสี่ยง รวมไปถึงการสื่อสารโดยตรงของนายกรัฐมนตรี ผลลัพธ์คือสิงคโปร์สามารถควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดได้เร็วกว่าประเทศอื่นที่ใช้มาตรการเดียวกัน ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสอยู่ในระดับที่คาดการณ์และยังไม่พบข้อมูลผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโดยตรง

ย้อนกลับมาที่ไทย สถานการณ์การระบาดได้ทำให้หลายคนเคลื่อนย้ายกิจกรรมหลักเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น แต่การเคลื่อนย้ายนี้มีจำเป็นต้องมีกลไกรองรับเพื่อให้ social distancing สัมฤทธิ์ผล โดยยังคงไว้ซึ่งผลิตภาพขององค์กร ถ้าหากบ้านเรายังคงมีคำถาม เช่น ความเร็วของอินเทอร์เน็ตในการส่งข้อมูล (bandwidth) ต้องเพียงพอ เน็ตล่มบ่อยจะส่งผลต่ออารมณ์ในการทำงานหรือไม่การใช้ platform onlineนี้ใครต้องเป็นผู้รับค่าใช้จ่ายในการซื้อแอปพลิเคชั่นต่างๆ ฯลฯ

คำถามเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องตอบเพื่อสร้างความมั่นใจในยามวิกฤติ การออกมาตรการสนับสนุนอย่างรวดเร็วและชัดเจน ก็ช่วยให้คนร่วมมือรักษาระยะห่างของคนในสังคม ซึ่งน่าจะทำให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้

โดย... 

อดิศักดิ์ สายประเสริฐ SiamLAB 

นรชิต จิรสัทธรรม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น