หมอกควันภาคเหนือ: ปัญหาเรื้อรังที่รอคอยการแก้ไข

หมอกควันภาคเหนือ: ปัญหาเรื้อรังที่รอคอยการแก้ไข

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ปัญหาหมอกควันในหลายจังหวัดภาคเหนือมีความรุนแรงมาก ดัชนีคุณภาพอากาศ(AirQualityIndex:AQI)บ่งชี้ว่าสภาพอากาศไม่ดีอย่างยิ่ง

เนื่องจากมีค่า AQI เกิน 100 (องค์การอนามัยโลกหรือ WHO กำหนดเกณฑ์คุณภาพอากาศเฉลี่ยต่อวัน AQI = 100 เมื่ออากาศมีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อยู่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) หลายพื้นที่คุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่เป็นอันตราย โดยบางแห่งค่า AQI อยู่ในระดับสูงกว่า 400 จนถึงเกิน 500 หรือ Beyond AQI ซึ่งหมายความว่าคุณภาพอากาศเลวร้ายเกินกว่าดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศใดๆ PM 2.5 ในระดับ 300-400 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 

ปรากฏในหลายๆ พื้นที่รวมทั้งจังหวัดเชียงใหม่ บางพื้นที่เช่นอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เมื่อวันที่ 15 มี.ค.2563 วัดได้สูงถึง 518 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (สูงกว่าค่ามาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษกว่า 10 เท่า มากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน US EPA เกือบ 15 เท่า และสูงกว่าเกณฑ์ WHO กว่า 20 เท่า) ประชาชนภาคเหนือคงจะต้องมีปอดเหล็กเพื่อให้ทนมีชีวิตอยู่ในสภาพอากาศเช่นนี้ได้เฉพาะในช่วงสัปดาห์ระหว่างวันที่ 10-15 มี.ค.2563 เชียงใหม่ได้รับการจัดลำดับโดยเครือข่ายติดตามคุณภาพอากาศชื่อ AirVisual ให้เป็นเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลกเป็นระยะเวลา 4 วันติดต่อกัน

สภาพปัญหาที่บรรยายย่อๆ ต้นดูไม่แตกต่างจากที่เป็นมาแล้ว ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ช่วงที่คุณภาพอากาศวิกฤติกินระยะเวลายาวนานมากขึ้นติดต่อกัน 2-3 เดือน และเลวร้ายมากขึ้นทุกปี แม้ว่ารัฐบาลจะได้ประกาศให้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือเป็นวาระแห่งชาติ แต่ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น มาตรการที่ใช้ยังคงเป็นแบบเดิมๆ ฟังดูหรูว่าเป็นการสั่งการแบบ single command มีการออกประกาศจังหวัดกำหนดมาตรการห้ามการเผาในที่โล่งโดยเด็ดขาดทุกปี

สำหรับกรณีเชียงใหม่ในปีนี้ เมื่อสถานการณ์รุนแรงจนวิกฤต เชียงใหม่ก็ออกประกาศฯฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 9 มี.ค.2563 เพื่อยกระดับมาตรการห้ามการเผาในที่โล่งทุกชนิดอย่างเฉียบขาดตั้งแต่ 9 มี.ค.- 30 เม.ย. 2563 โดยจะลงโทษขั้นรุนแรงกับผู้ฝ่าฝืน ตลอดจนให้รางวัลแก่ผู้ที่ชี้เบาะแส รายละ 5,000 บาท สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เชียงใหม่และอีกหลายจังหวัดภาคเหนือยังคงปกคลุมด้วยหมอกควัน ฝุ่นละออง PM 2.5 สูงอยู่ในระดับ 300-400 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทุกสิ่งสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่ามาตรการที่ใช้อยู่ปีแล้วปีเล่าไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่ปัญหากลับเลวร้ายขึ้นทุกปี ในขณะที่ผู้ปฏิบัติอยู่ในพื้นที่ต้องเหนื่อยยากแสนสาหัส ต้องเสี่ยงชีวิตในการดับไฟป่าซึ่งบ่อยครั้งเกิดขึ้นในพื้นที่สูงชัน บุคลากรและอุปกรณ์ดับไฟมีจำนวนน้อยและต้องปฏิบัติงานภายใต้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด 

น่าเห็นใจคนส่วนมากที่ไม่มีกำลังความสามารถที่จะจัดหาเครื่องฟอกอากาศ หรือหาสถานที่ให้ตนเองอยู่ในที่ปลอดภัยจากอากาศที่เป็นพิษ รวมถึงเด็กเล็กเป็นจำนวนมากที่เป็นอนาคตของชาติซึ่งจำต้องรับผลกระทบด้านสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ในขณะที่การนำเสนอข่าวในพื้นที่วิกฤติ มักกล่าวถึงผลกระทบจากปัญหาหมอกควันข้ามแดนที่เกิดจากการเผาป่าในประเทศเพื่อนบ้าน แต่เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าปัญหาหมอกควันของภาคเหนือล้วนมาจากน้ำมือของคนไทยในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการเผาพื้นที่เพื่อทำการเกษตรและการเก็บหาของป่าทั้งในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตป่าอนุรักษ์ นักวิชาการที่ทำงานด้านปัญหาหมอกควันภาคเหนือต่างมีความเห็นในแนวทางเดียวกันมานานแล้วว่ามาตรการที่รัฐใช้อยู่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ แต่หน่วยงานของรัฐก็ยังคงเน้นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแบบเดิมๆ และปล่อยให้ปัญหาหายไปเองเมื่อพ้นฤดูการเผาและหมอกควันเริ่มน้อยลง 

มาตรการห้ามเผาในที่โล่งอย่างเฉียบขาดไม่อาจบรรลุผลได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน การแก้ไขปัญหาจะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งชุมชน อปท. หน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาชน และภาคธุรกิจ โดยเฉพาะบรรษัททั้งหลายที่ได้ประโยชน์มากมายจากการเผาป่าเพื่อปลูกพืชไร่และทำการเกษตรมาตรการห้ามเผาในที่โล่งอย่างเด็ดขาดละเลยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความจำเป็นที่จะต้องมีการจัดการเชื้อเพลิงที่สะสมอยู่ในเขตป่าไม้ และการประสานงานเพื่อจัดระเบียบการเผาในแต่ละพื้นที่ตามช่วงเวลาที่เหมาะสม ในขณะที่ประชาชนในพื้นที่สูงเรียกร้องสิทธิทำกินในเขตพื้นที่ป่าไม้ ก็อย่าลืมว่ามีประชาชนสุจริตทุกเพศทุกวัยอีกเป็นจำนวนมากกว่า ซึ่งก็มีสิทธิดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดีเพียงพอต่อสุขภาพเช่นกัน

นับจนถึงต้นเดือน มี.ค.2563 คณะกรรมาธิการวิสามัญที่สภาฯ ได้แต่งตั้ง 49 คนตามสัดส่วนโควต้าของพรรคการเมืองเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ได้ประชุมมาแล้ว 5 ครั้ง ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการรับฟังข้อมูลและความคิดเห็น เราคงไม่อาจฝากความหวังไว้กับผู้แทนปวงชนชาวไทยเหล่านี้ได้ ภายใต้สถานการณ์วิกฤติการต่อสู้กับไวรัส Covid-19 ที่ระบาดไปทั่วโลก การบริหารจัดการปัญหาดังกล่าวอย่างสับสนอลหม่านของหน่วยงานภาครัฐ และความหมกมุ่นเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาล ดูเหมือนปัญหาหมอกควันภาคเหนือจะถูกลดความสำคัญจนถูกลืม สะท้อนให้เห็นว่าการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ไม่อาจแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศได้ 

เราเสียเวลาและทรัพยากรไปแล้วมากมายกับการแก้ไขปัญหาแบบวนเวียนไปมาอยู่ที่เดิม ซึ่งนับวันยิ่งเลวร้ายลงเหมือนไร้ทางออก ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะร่วมกันทบทวนบทเรียนและแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง มิเช่นนั้นการกำหนดให้ปัญหาเรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติก็คงเป็นเพียงเหมือนลมปากที่ผ่านเลยไป

โดย... รศ.ดร.กอบกุล รายะนาคร