Covid-19 กับความท้าทายของผู้นำ

Covid-19 กับความท้าทายของผู้นำ

สถานการณ์ Covid-19 นอกจากจะทำให้เกิดความท้าทายต่อด้านสุขภาพอนามัยแล้วยังก่อให้เกิดความท้าทายต่อผู้นำในทุกๆ ระดับอีกด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความท้าทายอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลง

สถานการณ์ปัจจุบัน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสำหรับทุกๆ คนทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นในด้านของการทำงานการระวังและดูแลสุขภาพการศึกษาต่อการเดินทางการจัดกิจกรรมต่างๆ ฯลฯ แผนต่างๆ ที่วางไว้ได้รับผลกระทบหมด ตั้งแต่แผนท่องเที่ยวต่างประเทศ แผนการทำงาน และจัดกิจกรรมของหน่วยงานต่างๆ แผนกลยุทธ์ และแผนธุรกิจขององค์กรต่างๆ แผนการเรียน แม้กระทั่งแผนการดำเนินชีวิตประจำวัน ฯลฯ ซึ่งพอสิ่งที่ได้วางแผนไว้ได้รับผลกระทบก็หนีไม่พ้นการเปลี่ยนแปลง ซึ่งได้กลายเป็นบทพิสูจน์ทักษะความสามารถของผู้นำในทุกระดับว่าสามารถที่จะบริหาร และรองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นได้ดีเพียงใดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ไม่มีใครรู้ว่า จะจบสิ้นเมื่อใด

ในช่วงสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความคลุมเครือและไม่แน่นอนนี้ทักษะสำคัญของผู้นำ (ผู้นำในที่นี้ครอบคลุมถึงผู้นำในทุกระดับ ตั้งแต่ผู้นำครอบครัว ผู้นำองค์กร หรือผู้นำประเทศ) คือจะต้องสามารถที่จะตัดสินใจได้และเป็นการตัดสินใจที่ชัดเจนทันต่อเวลาโดยพิจารณาจากข้อมูล (ที่เป็นข้อเท็จจริง) รอบๆ ด้านรวมทั้งต้องพยายามคิดให้ทะลุและคิดให้รอบในสถานการณ์ เช่นนี้ผู้นำไม่ว่าจะในระดับใดก็ตามไม่สามารถลอยตัวอยู่เหนือปัญหาและเฝ้ารอเวลาไปเรื่อยๆ ได้

การตัดสินใจในสถานการณ์ที่ไม่ชัดเจนและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเช่นนี้ ไม่สามารถมีใครมารับประกันได้ว่าจะตัดสินใจได้ถูกต้อง 100% แต่ผลเสียของการไม่ตัดสินใจเลยอาจจะมากกว่าผลเสียที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดก็ได้

นอกจากเรื่องของการตัดสินใจแล้ว ทักษะที่สำคัญอีกประการสำหรับผู้นำในสถานการณ์นี้คือ การบริหารการเปลี่ยนแปลง เชื่อว่าทุกๆ คนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์​ Covid-19 ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อีกทั้งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็ทำให้ทุกๆ คนจะต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือเปลี่ยนแปลงตนเองไปจากสิ่งที่คุ้นชินหรือทำมาเป็นสิบๆ ปี ตั้งแต่การดูแลสุขอนามัยของตนเองให้ดีขึ้น หรือปรับเปลี่ยนวิธีการในการทำงาน เช่น การทำงานจากที่บ้านผ่านระบบดิจิทัล หรือการสอน และเรียนหนังสือผ่านทางระบบออนไลน์เป็นต้น

สิ่งที่ท้าทายผู้นำในการบริหารการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องของการสร้างความจำเป็นหรือความรีบด่วนในการเปลี่ยนแปลงอีกต่อไป (โอกาสในการติดเชื้อไวรัส กลายเป็นปัจจัยภายนอกที่มากระตุ้นให้เกิดความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลง) แต่เป็นเรื่องของการพัฒนาระบบหรือสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเปลี่ยนแปลง เช่น ถ้าองค์กรมีนโยบายที่จะให้พนักงานทำงานที่บ้าน ก็ไม่ใช่ว่าผู้นำองค์กรมีคำสั่งลงไปแล้วจะสามารถเกิดขึ้นได้ทันที แต่เป็นหน้าที่ของผู้นำที่จะต้องทำให้เกิดการเตรียมพร้อมในระบบต่างๆ ที่จะเอื้ออำนวยให้การทำงานจากบ้านเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด

จริงๆ แล้วถ้ามองโลกในแง่ดีสถานการณ์ในขณะนี้อาจจะกลายเป็นสิ่งบังคับให้บุคคลหรือองค์กรจะต้องเปลี่ยนแปลงตนเองมากขึ้น ซึ่งหลายๆ เรื่องเป็นสิ่งที่รู้และคุยกันมานาน แต่ไม่เคยทำได้สำเร็จไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่บ้านหรือการที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ปรับการเรียนการสอนมาอยู่บนระบบออนไลน์มากขึ้น ดังนั้น ความท้าทายต่อมาของผู้นำคือ เมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้วการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจะยังคงผลักดันหรือรักษาไว้ต่อไป หรือจะกลับไปสู่สถานการณ์ก่อนการเปลี่ยนแปลง?

สุดท้าย อีกหนึ่งทักษะที่สำคัญสำหรับผู้นำสำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน คือ การสื่อสารโดยเป็นการสื่อสารที่ชัดเจน ตรงประเด็น และทันต่อเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ข่าวจริงและข่าวลวงมีเต็มไปหมด ทุกคนในองค์กรย่อมอยากที่จะได้รับข้อมูลโดยตรงจากผู้นำ แต่สำคัญคือการสื่อสารจากผู้นำนั้นจะต้องชัดเจนและมีความเหมาะสมในเรื่องเวลานั้น คือ ไม่เร็วเกินไปจนสร้างความตื่นตูม หรือช้าเกินไปจนไม่ทันการ ขณะเดียวกันก็ไม่มากเกินไปจนกลายเป็นการจ้อรายวัน และไม่น้อยเกินไปจนเหมือนกับไม่สนใจปัญหา